วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ตลาด e-Commerce ไทยระอุ ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสู้ด้วย “ข้อมูล”

ตลาด e-Commerce ไทยระอุ ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสู้ด้วย “ข้อมูล”

ไม่ว่าการเติบโตของตลาด e-Commerce ในไทยจะเติบโตจากเหตุผลอะไร ระหว่างพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หรือการเข้ามาบุกตลาดไทยของทุนข้ามชาติ แต่นั่นส่งผลให้มูลค่าตลาด e-Commerce ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่เปิดเผยรายงานมูลค่าตลาด e-Commerce นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีมูลค่า 2,245,147.02 ล้านบาท ปี พ.ศ.2559 มูลค่า 2,560,130.36 ล้านบาท ปี พ.ศ.2560 มูลค่า 2,812,592.03 ล้านบาท และปี พ.ศ.2561 ที่คาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปี มูลค่าตลาด e-Commerce จะสูงถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท

การเติบโตที่สูงขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จนถึงเวลานี้ทุนข้ามชาติจะมองเห็นว่าตลาด e-Commerce ในไทยยังคงความหอมหวาน และยังเป็นตลาดที่น่าเข้ามาลงทุน เมื่อยังมีผู้เล่นไม่มากนัก

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าตลาดอยู่เพียงไม่กี่เจ้า ที่อาจจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้ ถือครองส่วนแบ่งตลาด แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อยที่ทุนต่างชาติ ดูจะเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ความต้องการ พฤติกรรมของคนไทยได้ดีกว่ากลุ่มทุนสัญชาติไทยด้วยกันเอง

ทั้งการมาถึงของ Lazada Shopee ที่แม้จะเข้ามาบุกตลาดไทยได้ไม่นานนัก ทว่า กลับยึดพื้นที่หัวหาด และครอบครองหัวใจของเหล่านักชอปรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น เมื่อได้ใจผู้ซื้อไปแล้วบางส่วน การสร้างมาร์เก็ตเพลสเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับผู้ขายในท้องถิ่น จึงเป็นอีกช่องทางที่จะสร้างเครือข่ายให้เติบโตและแข็งแรงยิ่งขึ้น

ต้องยอมรับว่าทั้งหมดทั้งมวลของความสำเร็จที่ทุนข้ามชาติเหล่านี้มีขึ้นได้ ย่อมไม่ใช่เพียงการคิดเร็ว ทำเร็วในการเข้ามาทำตลาดเท่านั้น หากแต่คีย์เวิร์ดสำคัญคือ การสร้างฐานข้อมูลที่ดี ครบถ้วน และเหนืออื่นใด คือ สามารถนำมาประยุกต์ตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม

เมื่อข้อมูลสำหรับการทำตลาด e-Commerce คือพระเจ้า จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกไทยอย่างกลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจคว้าตัว จอห์น เบิร์นส์ ซึ่งเคยนั่งอยู่ในตำแหน่ง Executive Vice President, Head of Data Platform ของ Lazada Group ในสิงคโปร์ ให้มารั้งตำแหน่ง Chief Data Officer

ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับปี 2561-2565 นั่นคือการทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งสู่การเป็น New Central, New E-Conomy โดยที่กลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมายที่จะครอบครองตำแหน่งผู้นำด้านดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Digi-Lifestyle Platform) แห่งแรกในประเทศไทย

เมื่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ตลาดค้าปลีกออฟไลน์จึงไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วนเช่นเดิม การเบนเข็มสู่รูปแบบค้าปลีกออนไลน์จึงเกิดขึ้น

การขยับตัวของกลุ่มเซ็นทรัลแม้จะช้าอยู่ในที หากแต่พันธมิตรที่เซ็นทรัลเข้าไปจับมือด้วย ทำให้จังหวะก้าวของกลุ่มเซ็นทรัลในห้วงยามนี้น่าสนใจไม่น้อย

นั่นคือการร่วมทุนกับ เจดี ดอทคอม บริษัทสัญชาติจีน ที่นับว่าเป็นบริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในจีน ปี 2560 และมีรายได้กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนสูงถึง 40.3 เปอร์เซ็นต์

บริษัท เจดี เซ็นทรัล คอมเมิร์ซ จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้นจากการร่วมทุนกันระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และเจดี ดอทคอม เพื่อดำเนินธุรกิจ e-Commerce แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส

การจับมือกันระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล ที่ถือว่าเป็นผู้นำตลาดรีเทล เมื่อผสานความร่วมมือกับ เจดี ดอทคอม ซึ่งมีองค์ความรู้และเทคโนโลยี น่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ของกลุ่มเซ็นทรัลมองเห็นความสำเร็จในตลาดออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้การดึงจอห์น เบิร์นส์ มาดูแลด้าน Data น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ เจดี เซ็นทรัล ในการเดินเกมใหม่บนตลาด e-Commerce นี้ ซึ่งฐานข้อมูลเป็นคีย์สำคัญ อันจะนำมาซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างฐานข้อมูล เพื่อการวางแผนการตลาดในอนาคต น่าจะทำให้ตลาด e-Commerce ในไทยมีสีสันมากขึ้น เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในเกม

อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนกับ เจดี ดอทคอม คงไม่หยุดเพียงการสร้างให้เกิดมาร์เก็ตเพลสแห่งใหม่เท่านั้น กลุ่มเซ็นทรัลยังมีเป้าประสงค์ที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์รายใหญ่ของไทย พร้อมบริการออนดีมานด์ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้

อีกทั้งกลุ่มเซ็นทรัลยังพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทฟินเทคอย่างเต็มตัวสำหรับให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจร แน่นอนว่าธุรกิจนี้ครอบคลุมไปถึงบริการ e-payment และ Financial

คงต้องดูกันว่า เป้าหมายที่ทศ จิราธิวัฒน์ ตั้งไว้ว่า จะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าตามยุทธศาสตร์นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี เพื่อเป็นผู้นำด้าน Digi-Lifestyle Platform ที่สมบูรณ์แบบที่สุด รวมไปถึงการเติบโตทุกทิศทาง อีกทั้งการตั้งเป้ายอดขายที่ 397,308 ล้านบาท (คิดเป็นอัตราการเติบโต 14 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2560) จะเป็นไปอย่างที่คาดหวังหรือไม่

ขณะที่กลุ่มสยามพิวรรธน์ ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน ไอคอนสยาม สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ มีมือดีอย่างสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล นักการตลาดแนวหน้าของไทย ผู้ที่เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโอสถสภาเต๊กเฮงหยู เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และ AIS เป็นต้น และถือว่าสรรค์ชัยเป็นปรมาจารย์ด้านการตลาด นวัตกรรมค้าปลีกอีกคนที่น่าจับตาว่าการนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานค้าปลีกและนวัตกรรมของกลุ่มสยามพิวรรธน์นั้น จะสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มสยามพิวรรธน์หรือไม่

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ระหว่างผู้เล่นที่เป็นนักลงทุนข้ามชาติอย่าง Lazada และ Shopee ที่ดูเหมือนจะเป็นเจ้าตลาด e-Commerce อยู่ในขณะนี้ กับ เจดี เซ็นทรัล น้องใหม่ที่เกิดจากกลุ่มเซ็นทรัลจับมือกับ เจดี ดอทคอม และเพิ่งเปิดตัวเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในเกมท้าทายนี้ ใครจะเป็นฝ่ายได้ชัย

แน่นอนว่า ชัยชนะอาจไม่ได้มีความหมายเพียงเรื่องผลกำไรเท่านั้น หากแต่หมายถึงเหล่ามืออาชีพผู้อยู่เบื้องหลัง Big Data ของแต่ละค่ายที่ให้ “ข้อมูล” เป็นดังพระเจ้า เพราะค่ายใดสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่า นั่นต่างหากที่เป็น “ผู้ชนะ” ตัวจริง

ใส่ความเห็น