วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > Femicide – เมื่อผู้หญิงถูกคนรักทำร้ายจนถึงตายในประเทศอิตาลี

Femicide – เมื่อผู้หญิงถูกคนรักทำร้ายจนถึงตายในประเทศอิตาลี

 
ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมของทุกประเทศทั่วโลก จากสถิติขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2556 พบว่า 35% ของผู้หญิงทั่วโลกเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายร่างกายหรือการถูกบังคับขืนใจจากคนรักหรือคนในครอบครัว และสูงถึงสองเท่าหรือ 70% ในประเทศเอธิโอเปีย 
 
จากสถิติยังพบอีกว่าผู้หญิงที่อยู่อาศัยในเขตชนบทในประเทศกำลังพัฒนาจะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง ถึงแม้ว่าทุกวันนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลกจะหันมาให้ความใส่ใจกับปัญหานี้มากขึ้น ด้วยการประกาศใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่ปัญหานี้ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลงเลย
 
เมื่อมีจำนวนผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายจากคนรักมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยเลยที่ถูกทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต คำว่า Femicide ที่มีความหมายว่า ผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของคนรักหรือคนในครอบครัวจึงได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ที่ต้องได้รับการแก้ไข
 
ปัจจุบันนี้มีผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายจากคนใกล้ตัวมากกว่า 66,000 คนต่อปี หรือมากกว่า 180 คนต่อวัน องค์การสหประชาชาติได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีจำนวนผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 15–45 ปี เสียชีวิตเพราะถูกทำร้ายร่างกายจากคนที่รักมากกว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ไข้มาลาเรีย และอุบัติเหตุจากทางรถยนต์รวมกันซะอีก
 
ประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวในสัดส่วนที่สูงอยู่ ในปี 2555 องค์การสหประชาชาติได้พูดถึงประเทศอิตาลีเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัวว่า เป็นรูปแบบของความรุนแรงที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในประเทศอิตาลี เรียกได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีนั้นแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหมือนกับเหตุการณ์รถชนกันบนถนนในบ้านเรา
 
ที่ประเทศอิตาลี ทุกๆ สองหรือสามวันจะมีผู้หญิงถูกฆ่าตายจากสามีหรืออดีตสามีของพวกเธอ ในปี 2556 มีผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของคนรักถึง 130 คน กระทรวงมหาดไทยของประเทศอิตาลียังได้เปิดเผยข้อมูลสถิติที่อ้างอิงมาจาก Eures ว่า ในปี 2556 มีผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของคนรักในประเทศอิตาลีถึง 35.7% ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปีก่อนหน้านี้ถึง 14% ด้วยกัน และจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องตายก็เพราะถูกผู้ชายทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต
 
นอกจากนี้ทางศูนย์ต่อต้านความรุนแรง Casa delle donne ในประเทศอิตาลียังได้มีการศึกษาเรื่องที่ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายจากคนรักพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว และผู้ที่ใช้ความรุนแรงมากกว่า 73% ล้วนแต่เป็นคนอิตาลี เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีนี้ไม่สามารถที่จะอ้างว่าเป็นเพราะมีคนต่างชาติย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศอิตาลีแล้วทำให้ปัญหานี้มีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลสถิติข้างต้นและจากข้อมูลของศูนย์ต่อต้านความรุนแรง Casa delle donne ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศอิตาลี
 
ในปี 2555 องค์การสหประชาชาติได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Femicide ในประเทศอิตาลี และพบว่า ปัญหาเรื่องที่มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากถูกฆ่าตายจากคนใกล้ตัวนั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในช่วงชีวิตหนึ่งของพวกเธอ และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ คนในประเทศอิตาลีเชื่อว่า ผู้ชายอิตาลีมีอำนาจในสังคมและในบ้านมากกว่าผู้หญิง และพวกเขาก็มองว่าการใช้ความรุนแรงในบ้านกับผู้หญิงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็ทำกัน ซึ่งความคิดนี้ทำให้องค์การสหประชาชาติค่อนข้างตกใจมากที่ยังคงมีคนมีความคิดแบบนี้อยู่ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ผู้หญิงและผู้ชายควรจะมีสิทธิเท่ากันในสังคม
 
นอกจากนี้ในรายงานฉบับนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่ประเทศอิตาลีนั้นรุนแรงมากและควรที่จะมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่รัฐบาลอิตาลีกลับไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เลย องค์การสหประชาชาติเองก็ยังคงเป็นห่วงอีกด้วยว่า ในประเทศที่ (1) ผู้ชายมีอำนาจในสังคมและในบ้านมากกว่าผู้หญิง (2) ผู้หญิงยังต้องพึ่งพาผู้ชายเพราะผู้ชายเป็นคนหารายได้เข้าครอบครัว และ (3) การมีความคิดว่าการทำร้ายร่างกายผู้หญิงเป็นเรื่องไม่ผิด ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ รวมไปถึงอิตาลีด้วย จะไม่กล้ามาแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง ทำให้พวกเธอต้องทนอยู่กับการถูกทำร้ายและในที่สุดอาจจะถูกทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต
 
เรื่องการไม่กล้าเข้าแจ้งความหลังจากที่ถูกทำร้ายนี่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ จากข้อมูลของสหภาพยุโรปพบว่า จากการสัมภาษณ์ผู้หญิง 42,000 คน ใน 28 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป พบว่า มีผู้หญิงแค่ 14% เท่านั้น ที่กล้ามาแจ้งความกับตำรวจว่าพวกเธอถูกทำร้ายร่างกาย ในขณะที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่อีก 86% เลือกที่จะเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวและไม่กล้าแจ้งความ
 
ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีออกนโยบายและมีการแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันผู้หญิงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว
 
หลังจากที่มีรายงานเรื่อง Femicide จากองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลประเทศอิตาลีเองก็รู้ว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่มากในประเทศอิตาลีที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในเดือนตุลาคม 2556 รัฐบาลอิตาลีได้ผลักดันโครงการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงถูกฆ่าตายจากคนใกล้ตัว โดยใช้ชื่อว่า War Against Femicide และได้ผ่านกฎหมายข้อที่ 119 (Law 119) ด้วยการเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อมาถอนแจ้งความได้ ถ้าหากเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เพราะมีหลายๆ ครั้งที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลับมาถอนแจ้งความ เพราะกลับไปคืนดีกับสามีแล้ว และต้องการป้องกันไม่ให้ลูกๆ ของพวกเธอได้รับผลกระทบจากปัญหาในเรื่องนี้ที่จะต้องมีการขึ้นศาลเพื่อพิจารณาลงโทษผู้ที่ใช้ความรุนแรง
 
ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศใช้กฎหมายที่ลงโทษผู้ที่ใช้ความรุนแรงหนักขึ้น แต่กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวลดลง เพราะรัฐบาลเน้นแต่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่ไม่มีการให้ความรู้กับประชาชนว่าการที่ผู้ชายทำร้ายร่างกายผู้หญิงเป็นเรื่องที่ผิด และการที่ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายนั้นสามารถไปแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นสามีของเธอก็ตาม ทำให้กฎหมายฉบับนี้ก็เหมือนมีไว้เฉยๆ เหมือนกับที่ประเทศอื่นๆ มีกัน แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหานี้
 
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา รัฐสภาของประเทศอิตาลีได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า มีผู้ชายถึง 33% และผู้หญิงอีก 23% ที่คิดเหมือนกันว่า เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ควรได้มีการพูดคุยและแก้ไขปัญหากันเองภายในครอบครัว จากการสำรวจนี้ ชาวอิตาลีส่วนใหญ่กลับต้องแปลกใจที่ยังคงมีคนบางส่วนที่คิดเช่นนี้ 
 
ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีคนบางส่วนที่เชื่อว่า ถ้าหากผู้ชายจับได้ว่าภรรยาของพวกเขานอกใจ ก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายจะโกรธจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้หญิง และสาเหตุที่ผู้ชายโกรธขนาดนี้ก็เป็นเพราะ พวกเขารักภรรยาของเขามาก แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะถึงแม้ว่าผู้ชายจะโกรธขนาดไหนก็ไม่ควรลงมือทำร้ายร่างกายผู้หญิงที่เป็นเพศที่อ่อนแอกว่า และไม่สามารถสู้แรงผู้ชายได้
 
นอกจากนี้ยังมีผู้คนบางส่วนที่ออกมาให้ความเห็นว่า ถ้าต้องการลดความรุนแรงในครอบครัวลง ก็ไม่ควรจะให้ผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะมีส่วนช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวลงได้ เพราะผู้ชายไม่ได้อยากทำร้ายร่างกายผู้หญิงเพียงเพราะพวกเธอแต่งตัวเซ็กซี่เกินไป 
 
จากข้อมูลข้างต้นนี้ คุณผู้อ่านคงพอจะมองเห็นภาพว่า ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่ประเทศอิตาลีนั้นรุนแรงแค่ไหน ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยที่ได้เห็นโฆษณาเพื่อสังคมของประเทศอิตาลีที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมากในโลกโซเซียลเน็ตเวิร์ค
 
โฆษณาตัวนี้ใช้ชื่อว่า “Slap her”: children’s reactions (สามารถดูโฆษณาตัวนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=b2OcKQ_mbiQ) ซึ่งได้ถูกโพสลงในเฟสบุ๊กของ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของอิตาลีชื่อ Fanpage โดยได้ให้คำบรรยายใต้โฆษณาตัวนี้ไว้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กผู้ชายถูกสั่งให้ตบหน้าเด็กผู้หญิงที่ยืนอยู่หน้าพวกเขา โฆษณาตัวนี้เป็นความคิดของ Ciaopeople Media Group ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาของเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และต้องการรณรงค์ให้ยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศอิตาลี หลังจากที่โฆษณาตัวนี้ได้ถูกโพสลงไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2558 ก็มีผู้คนเข้าไปดูแล้วมากกว่า 33 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียงแค่สามวัน
 
ในโฆษณาตัวนี้ Luca Lavarone ซึ่งเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ fanpage ได้ทำการทดลองเล็กๆ ขึ้นมา ในการทดลองนี้ นักข่าวรับบทเป็นผู้สั่งและให้เด็กผู้ชายทำตาม ซึ่งเริ่มต้นด้วยการสั่งให้ตอบคำถามง่ายๆ โดยทำการสุ่มถามเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 6-11 ปี ที่กำลังเดินอยู่บนท้องถนนมาถามคำถามและให้ทำหน้าตลกๆ ในตอนแรกเด็กๆ ถูกถามว่าชื่ออะไรและอายุเท่าไหร่ เด็กๆ แต่ละคนก็เริ่มแนะนำตนเอง ต่อมานักข่าวถามอีกว่าเมื่อโตขึ้นพวกเขาอยากเป็นอะไร เด็กๆ ก็ตอบว่าอยากเป็นนักผจญเพลิง อยากเป็นคนทำพิซซ่า ไม่ก็อยากเป็นคนทำขนม
 
จากนั้นนักข่าวก็แนะนำให้เด็กผู้ชายเหล่านี้รู้จักกับเด็กผู้หญิงที่ชื่อ Martina เด็กผู้ชายเหล่านี้เมื่อได้เจอกับ Martina ก็มีอาการเขินอายเล็กน้อย ต่อมานักข่าวก็ถามต่อว่า เด็กผู้ชายเหล่านี้ชอบอะไรในตัว Martina คำตอบที่ได้มานั้นมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นชอบดวงตา ชอบมือ และชอบรองเท้าของเธอ หลังจากนั้นนักข่าวก็บอกให้เด็กผู้ชายลองจับตัวของ Martina ดู เด็กๆ เหล่านี้ก็ยิ่งเขินอายเข้าไปอีก บางคนก็จับที่เสื้อของ Martina และบางคนก็จับที่แก้มของเธอ ต่อมานักข่าวก็บอกให้เด็กๆ เหล่านี้ทำหน้าตลกให้ Martina ดู เด็กผู้ชายก็พยายามทำหน้าตลกกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดึงแก้ม ดึงหู และแลบลิ้น เป็นต้น
 
และในที่สุดนักข่าวก็ได้บอกให้เด็กผู้ชายเหล่านี้ตบหน้าของ Martina แต่สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนจากเด็กๆ เหล่านี้คือ พวกเขามีความกังวลใจและประหม่าเป็นอย่างมาก และเด็กๆ ทุกคนก็ปฏิเสธที่จะตบหน้า Martina โดยพวกเขาต่างก็ให้เหตุผลว่า เพราะ (1) Martina เป็นผู้หญิง พวกเขาทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก (2) พวกเขาไม่อยากทำร้าย Martina (3) พวกเขาไม่ชอบใช้ความรุนแรง (4) มีคนกล่าวไว้ว่า เด็กผู้หญิงไม่ควรถูกตีหรือถูกทำร้าย ไม่แม้กระทั่งจะใช้ดอกไม้ตีพวกเธอ และ (5) เพราะผมเป็นผู้ชาย จึงไม่ควรใช้ความรุนแรง และโฆษณาตัวนี้จบลงด้วยการบอกว่า ในโลกของเด็ก ผู้หญิงไม่ควรถูกทำร้าย
 
อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่าโฆษณาเพื่อสังคมตัวนี้ทำขึ้นมาเพื่อต้องการลดความรุนแรงในสังคมอิตาลีลง โดยชี้ให้เห็นว่าแม้แต่เด็กเองก็ยังรู้ว่าไม่ควรทำร้ายผู้หญิง แล้วทำไมผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจึงได้นิยมใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่เป็นภรรยาของตัวเอง
 
วิธีการแก้ปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว จึงน่าจะเริ่มจากการให้ความรู้กับผู้ชายว่า การทำร้ายร่างกายผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี และพวกเขาก็ควรรู้จักที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองโดยเฉพาะในเวลาที่โกรธหรือโมโห ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ก็ควรจะเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาและหาวิธีควบคุมอารมณ์ของพวกเขา และแน่นอนว่าถ้าหากยังไม่ดีขึ้นและยังคงทำร้ายร่างกายผู้ที่เป็นภรรยาหรือผู้อื่นก็ควรจะได้รับโทษที่รุนแรง เพื่อที่จะได้มีการคิดตริตรองมากขึ้นถ้าหากยังคิดที่จะทำร้ายผู้อื่นอีก ซึ่งวิธีการนี้น่าจะช่วยลดจำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการถูกฆ่าด้วยคนรักหรือคนใกล้ตัวในประเทศอิตาลีได้
 
Column: Women in Wonderland
 
 
 
Enrico Letta อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอิตาลี เป็นคนแรกที่เริ่มใช้คำว่า Femicide ที่หมายความว่า ผู้หญิงที่ถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของคนรักหรือคนในครอบครัวในประเทศอิตาลี
 
 
 
 
ภาพจากโฆษณา “Slap her”: children’s reactions ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาของเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง
 
 
 
 
ปฏิกิริยาของเด็กๆ เมื่อถูกนักข่าวสั่งให้ตบหน้าเด็กผู้หญิง