วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Life > รู้จักผู้พิทักษ์ดวงตาในทุกช่วง 10 ปีของอายุ

รู้จักผู้พิทักษ์ดวงตาในทุกช่วง 10 ปีของอายุ

Column: Well – Being

ริชาร์ด เดวิดสัน ศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด เตือนให้เราสำเหนียกว่า “พฤติกรรมทุกอย่างตั้งแต่การนั่งจ่อมเฝ้าหน้าจอทีวีไปจนถึงการนอนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาของคุณทั้งสิ้น”

นิตยสาร Family Circle จึงนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัจจัยที่สามารถเป็นอันตรายต่อดวงตาและช่วยถนอมรักษาดวงตาของคุณในทุกช่วง 10 ปีของช่วงชีวิตของคุณดังนี้

ช่วงอายุ 20 ปี
ศัตรูของดวงตา–รังสีอัตราไวโอเลต
มีผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 21 ที่สวมแว่นกันแดดเสมอ แต่ดวงตาของคุณจำเป็นต้องได้รับการปกป้องตลอดทั้งปี การปล่อยให้ดวงตารับรังสีอัลตราไวโอเลตในระยะยาว อาจเป็นสาเหตุให้เกิดต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม

มินา มาสเซโร ศาสตราจารย์คลินิกด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เพอเรลแมน อธิบายว่า “รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถทะลุผ่านก้อนเมฆลงมาได้ แม้ในวันที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆ คุณควรสวมแว่นกันแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นที่คุณต้องอยู่กลางแจ้ง”

ผู้พิทักษ์ดวงตา–การออกกำลังกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอช่วยรักษาสุขภาพดวงตาของคุณได้ ด้วยการที่คุณสามารถรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ตลอดเวลา การปล่อยให้อยู่ในภาวะอ้วน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง การวิจัยบางชิ้นยังระบุด้วยซ้ำว่า การออกกำลังกายมีส่วนเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมและโรคต้อหิน “คุณไม่จำเป็นต้องเข้าโรงยิมเพื่อออกกำลังกายอย่างหักโหม เพียงแต่หลีกเลี่ยงวิถีชีวิตนั่งๆ นอนๆ และถ้ามีลิฟต์ก็ให้หันมาเดินขึ้นบันไดแทน” คาเรน มอร์แกน ศาสตราจารย์คลินิกด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย แนะนำ

ช่วงอายุ 30 ปี
ศัตรูของดวงตา–การจ้องหน้าจอ
ถ้าคุณใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงเลื่อนหน้าจอเฟซบุ๊กและวุ่นวายกับตารางสเปรดชีต พฤติกรรมนี้สามารถทำลายดวงตาของคุณได้ “แต่ละครั้งที่คุณกะพริบตา จะมีน้ำตาพร้อมน้ำมันและน้ำออกมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้ตาชุ่มชื้น” คาเรน มอร์แกน กล่าว “เมื่อคุณจ้องหน้าจอ คุณกะพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดภาวะตาแห้ง” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อตาล้า ปวดศีรษะ และตาแห้ง ยิ่งคุณต้องจ้องหน้าจอนานขึ้นเท่าไร ปัญหาอาจยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น

ผู้พิทักษ์ดวงตา–นอน
งานที่ยุ่งเหยิงและชีวิตครอบครัว อาจเป็นเรื่องท้าทายให้คุณต้องหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ แต่การเตือนตัวเองให้พักสายตาด้วยการหลับตา จะช่วยลดอาการดวงตาแดงก่ำ ภาวะตาแห้ง การเห็นภาพซ้อน และกล้ามเนื้อตาล้าได้ ริชาร์ด เดวิดสัน แนะนำว่า “การนอนเป็นวิธีที่ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อดวงตาของคุณมากพอๆ กับต่อร่างกายของคุณนั่นเอง”

ช่วงอายุ 40 ปี
ศัตรูของดวงตา–ภาวะตาแห้ง
เมื่อคุณเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน ระบบเผาผลาญของคุณไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ทำงานผิดปกติและควบคุมไม่ได้ ดวงตาของคุณอาจมีอาการแสบมากขึ้น ทำให้ตาแดง ปวดตาอย่างรุนแรง และเคืองตาเหมือนมีฝุ่นเข้าตา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของภาวะตาแห้ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะดวงตาของคุณผลิตน้ำตาที่มีคุณภาพต่ำลง นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศก็ยังทำให้อาการแย่ลงด้วย

ผู้พิทักษ์ดวงตา–ตรวจสุขภาพตา
เมื่ออยู่ในวัยช่วงอายุ 40 ปี แนะนำให้พบจักษุแพทย์ทุก 2–4 ปีหรือบ่อยกว่านั้น ถ้าคุณเป็นโรคเบาหวาน หรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือต้อหิน จักษุแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจดูโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาและโครงสร้างอื่นๆ เพื่อตรวจดูสัญญาณเบื้องต้นของภัยเงียบที่มาเยือนแต่เนิ่นๆ เพื่อให้คุณสามารถเยียวยารักษาได้ตั้งแต่ต้น

ช่วงอายุ 50 ปี
ศัตรูของดวงตา–ความดันโลหิตสูง
เกือบร้อยละ 40 ของผู้หญิงอายุระหว่าง 45–64 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง “ความดันโลหิตสูงสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลอดเลือดดวงตา และเป็นสาเหตุของภาวะสูญเสียการมองเห็นได้” ริชาร์ด เดวิดสัน อธิบาย คุณอาจเป็นโรคขั้วประสาทตาขาดเลือด จากการที่ความดันโลหิตสูงขึ้นจนอุดกั้นหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทตา”

โรคความดันโลหิตสูงมักเกิดขึ้นควบคู่กับโรคเบาหวาน ภาวะเบาหวานขึ้นตาสามารถนำไปสู่ภาวะตาบอดได้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ได้

ผู้พิทักษ์ดวงตา–กรดไขมันโอเมก้า–3
ในดวงตาของคุณมี docosahexaenoic acid (DHA) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับกรดไขมันโอเมก้า–3 ที่พบในปลาและอาหารทะเล การบริโภคโอเมก้า–3 เพิ่มขึ้นอาจช่วยทำให้ปัญหาดวงตาดีขึ้นหรือเบาบางลง การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การกินปลาที่มีโอเมก้า–3 เป็นประจำทุกสัปดาห์ ช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม จึงแนะนำให้บริโภคปลาแซลมอนหรือปลาทูน่าเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง คาเรน มอร์แกนแนะนำว่า สำหรับผู้มีดวงตาแห้งขั้นรุนแรง ให้กินเอทิล เอสเตอร์ โอเมก้า–3 ขนาด 1,000 มิลลิกรัมวันละ 1–3 ครั้งหรือน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งอุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า– 3 ชนิดต่างๆ (ALA) วันละ 1 หรือ 2 ครั้ง อาจช่วยได้

ใส่ความเห็น