วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > “กิ่งก้านใบ” จากสถาปนิกสู่นักจัดสวนมือฉมัง

“กิ่งก้านใบ” จากสถาปนิกสู่นักจัดสวนมือฉมัง

ธุรกิจรับออกแบบจัดสวนถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์และทำให้ผู้คนหันมาใช้ชีวิตที่บ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นทำให้ความต้องการด้านการออกแบบและจัดสวนขยายตัวตามไปด้วย

สำหรับในเมืองไทยก็นับว่ามีบริษัทรับออกแบบจัดสวนมากมายและหลากหลายสไตล์ให้บริการอยู่ในท้องตลาด แต่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและถือเป็นผู้สร้างมิติใหม่ให้กับวงการจัดสวนคงต้องยกให้กับ “บริษัท กิ่งก้านใบ จำกัด” บริษัทออกแบบจัดสวนที่ก่อตั้งโดย บอย-ธวัชชัย ศักดิกุล และ พลอย-พลอยทับทิม สุขแสง สองเพื่อนซี้ที่ผันตัวเองจากอาชีพสถาปนิกมาเป็นนักออกแบบจัดสวนมือฉมังที่ไม่เพียงเป็นที่รู้จักในประเทศ แต่ยังไปสร้างชื่อและฝากฝีไม้ลายมือถึงระดับโลก

จุดตั้งต้นของกิ่งก้านใบเริ่มจากที่ทั้ง 2 คน ต่างสนใจด้านศิลปะและการออกแบบเหมือนกัน ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเติบโตในสายวิชาชีพสถาปนิกหลังจบการศึกษา

แต่ทำได้สักพักใหญ่ๆ เริ่มรู้สึกว่าสวนที่มาอยู่ในอาคารที่พวกเขาออกแบบยังไม่ตอบโจทย์ เพราะเชื่อว่าความเป็น “สวน” ต้องให้อะไรได้มากกว่าเพียงแค่มองเฉยๆ ประกอบกับสมัยเรียนทั้งคู่ต่างเป็นสายประกวดที่มักส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวดอยู่เสมอๆ จึงเริ่มคันไม้คันมือและอยากคิดเองทำเอง กระทั่งในปี 2549 จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และมาเปิดบริษัทออกแบบจัดสวนในชื่อ “บริษัท กิ่งก้านใบ จำกัด” (GingGaanBai) ในที่สุด

 

ธวัชชัย ศักดิกุล สถาปนิก นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง บริษัท กิ่งก้านใบ จำกัด ย้อนจุดตั้งต้นของกิ่งก้านใบให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังว่า “การเป็นสถาปนิกออกแบบอาคารใหญ่ๆ ต้องใช้เวลาหลายปี มันรอนานมากกว่าที่คนจะเห็นผลงานและมีความสุขกับงานของเรา บางทีอาจต้องใช้เวลาถึง 10% ของชีวิตเพื่อที่จะทำหนึ่งชิ้นงาน บางงานก่อสร้าง 3 ปี กว่าคนจะได้เห็นผลงานเรา เห็นแล้วก็จบ เราก็ต้องไปเริ่มงานใหม่อีก 3 ปี”

“แต่มาเป็นการจัดสวน 1 เดือน เราทำให้ 12 ครอบครัวได้มีความสุขกับสวนที่เราจัดได้แล้ว เพราะเป้าของเราคือในหนึ่งเดือนเราต้องสร้างสวนให้ 12 ครอบครัวได้ใช้สวน บอยยังจำได้วันที่พลอยมาตะโกนเรียกที่ไซต์งานก่อสร้างที่เราออกแบบอยู่ซึ่งเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้าน พลอยชวนให้มาทำอะไรใหม่ๆ ด้วยกัน เราก็ตอบตกลง ทำจนเสร็จโครงการก็เลยขอลาออกและมาเปิดบริษัทออกแบบจัดสวนกิ่งก้านใบ ในระหว่างนั้นก็ส่งสวนที่เราออกแบบไปประกวดตามเวทีต่างๆ เป็นระยะ เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำด้านนี้ได้ และเป็นการทำให้คนได้รู้จักเรา”

โดยทั้งคู่ต่างใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมที่เรียนมาเข้ามาใช้ในการออกแบบจัดสวน  ประกอบกับพื้นฐานครอบครัวของทั้งธวัชชัยและพลอยทับทิมก็เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับการจัดสวนอยู่แล้ว โดยครอบครัวของพลอยทับทิมทำธุรกิจขายต้นไม้ ในขณะที่ทางบ้านของธวัชชัยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเกษตร จึงไม่ใช่เรื่องยากนักในการเข้าสู่วงการออกแบบจัดสวน

จากเงินเดือนสถาปนิกที่มีจำนวนไม่น้อย งานแรกที่ทั้งคู่รับทำในนามของกิ่งก้านใบกลับได้รายได้เพียง 5,000 บาท กับงานทำระบบน้ำให้กับลูกค้าซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหา หลังจากนั้นจึงค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ ทุน และทีม พร้อมๆ กับการส่งผลงานออกแบบสวนเข้าประกวดอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างการเติบโตและชื่อเสียงให้กับกิ่งก้านใบในฐานะบริษัทรับออกแบบจัดสวนแบบที่โดดเด่นด้วยการจัดสวนสไตล์มินิมอลโมเดิร์นได้ในที่สุด

สวนสไตล์มินิมอลโมเดิร์น น้อยแต่มากฟังก์ชัน

“สวนที่กิ่งก้านใบจัดเป็นสวนสไตล์มินิมอลโมเดิร์นเพราะเป็นสิ่งที่เราถนัด ชอบ และทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นสไตล์ที่ทันสมัยอยู่ตลอด สามารถปรับเข้ากับสไตล์อื่นๆ รวมถึงความชอบเล็กๆ น้อยๆ ของเจ้าของบ้านได้” พลอยทับทิมตอบข้อสงสัยของเราว่า ทำไมถึงเลือกจัดสวนสไตล์มินิมอลโมเดิร์น

นอกจากสวนสไตล์มินิมอลโมเดิร์นแล้ว สิ่งที่ทำให้กิ่งก้านใบแตกต่างจากบริษัทรับออกแบบจัดสวนทั่วไป คือการนำวิธีการทางสถาปัตยกรรมมาใช้ โดยเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าไปใช้งานได้จริงเป็นหลัก

วิธีการทางสถาปัตยกรรมที่ทั้งคู่นำมาใช้ในการออกแบบจัดสวนโดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบก่อนเป็นอันดับแรก มีการผสานระบบต่างๆ เข้าไว้ด้วย ซึ่งธวัชชัยเปรยว่าแค่ระบบที่ฝังไว้ใต้ดินในดินยังมีมากถึง 8 ระบบ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในทุกรายละเอียด รวมถึงขึ้นแบบโดยใช้โปรแกรม 3D ที่สามารถบิดดูได้ทุกมุมของสวน หาจุดบกพร่อง จุดบอด เพื่อให้หน้างานไม่มีปัญหา ต่างจากการจัดสวนสมัยก่อนที่นักจัดสวนอาจจะแค่สเกตช์ภาพร่างและวางต้นไม้เท่านั้น

“เราเอาสิ่งที่เรียนมาใช้และเลือกจัดสวนที่มันเข้ากับเรา ตอนแรกพี่ๆ ในวงการก็แซว เหมือนเราไปเปลี่ยนวงการจัดสวนของเขา เราทำสิ่งที่ถนัดและอยากให้ผู้คนได้ทดลองใช้วิธีการทางสถาปัตยกรรมในการให้บริการผู้คน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่สถาปนิกทำกันเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในงาน แบบของเราจะขึ้น 3D ทั้งหมด เห็นทุกมุม ตรงไหนบอดเราต้องปรับจนสวยทุกมุม ที่สำคัญสวนของเราอยู่ตรงไหนมันต้องสวยทุกมุม”

นอกจากวิธีการทางสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่ถือเป็นจุดแข็งเบอร์หนึ่งของกิ่งก้านใบคือการออกแบบสวนที่เน้นเรื่อง “ฟังก์ชัน” หรือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เพื่อให้เป็นสวนที่คนเข้าไปใช้งานได้จริง ใช้งานได้ง่าย และต้องเชื่อมต่อกับตัวบ้าน สามารถเดินถอดรองเท้าได้รอบบ้าน

“หน้าที่ของเราคือดึงทุกคนในบ้านให้ออกมาใช้สวนให้ได้มากที่สุด ทำยังไงก็ได้ให้เขาเห็นสวนแล้วสวยและอยากใช้ ไปนั่งสักหน่อย 10 นาทีก็ยังดี ให้เขาได้ออกมาอยู่กับธรรมชาติมากขึ้นอีกหน่อย เห็นเขามีความสุขเราก็พอใจแล้ว” ธวัชชัยเสริม

กระบวนการทำงานแบบไม่พลาดสักองศา

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งจุดเด่นของกิ่งก้านใบคือกระบวนการทำงานที่ละเอียดในทุกขั้นตอนแบบไม่พลาดสักองศา โดยขั้นตอนแรกตั้งแต่ลูกค้าเริ่มสนใจและโทรเข้ามาที่ Call Center จะมีแอดมินที่คอยถามคำถามทั้งหมด 8 ขั้นตอน เพื่อเป็นการทำความรู้จักซึ่งกันและกัน สำรวจความต้องการ ทัศนคติ ความพร้อมของลูกค้าเป็นด่านแรก

หลังจากผ่าน 8 ขั้นตอนแรกแล้ว กระบวนการต่อไปคือการเลือกใช้บริการ ซึ่งกิ่งก้านใบมี 2 บริการให้เลือก คือ 1. “DE” Design Service บริการออกแบบสวนและจัดเตรียมเอกสารเพื่อให้ผู้รับเหมาประกวดราคาและก่อสร้าง สำหรับลูกค้าต่างจังหวัดและต่างประเทศหรือลูกค้าที่มีผู้รับเหมาอยู่แล้ว และ 2. “DB” Design & Build บริการออกแบบสวนและสร้าง สำหรับลูกค้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล

เมื่อลูกค้าเลือกบริการแล้ว ทางแอดมินจะนำ Brief Form ที่มีรายละเอียดต่างๆ จากการคุยในขั้นตอนแรกมาให้กับทีมดีไซเนอร์ที่มีอยู่ถึง 14 คน เพื่อดูว่าลูกค้าและงานสไตล์ไหนจะเหมาะกับดีไซเนอร์คนไหน ก่อนที่จะทำการนัดเพื่อไปเจอหน้างานในวันแรก

“พอทำนัดและวันแรกที่ไปหน้างานจะต้องเจอตัวจริงกับเจ้าของบ้าน เราจะสอบถามแบบละเอียดยิบ  เดินรอบบ้านเพื่อดูว่าอะไรจะเป็นอุปสรรคในงาน ดูขนาด สมมุติตัวเองว่าถ้าอยู่ในบ้านหลังนี้เราจะออกแบบยังไง สังเกตตัวเขา ท่าทางต่างๆ มีสัตว์เลี้ยง เด็กไหม ชื่ออะไรก็ต้องจด ในบ้านมีใครแพ้อะไรไหม ดูว่าจัดรถอย่างไร ของประดับที่อยู่ในรถก็บอกได้ว่าเราจะทำสวนให้เขายังไง เพราะมันคือตัวเขา” พลอยทับทิมขยายความ

หลังจากนั้นทีมงานจะกลับมาออกแบบซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อทำแบบให้ละเอียดที่สุดและมีทั้งแบบที่เป็น Drawing และ 3D ก่อนที่จะนัดพรีเซนต์กับลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมนำวัสดุต่างๆ ไปให้ลูกค้าได้สัมผัสและเลือกสิ่งที่ต้องการ เมื่อลูกค้าอนุมัติแบบแล้ว ทีมงานจะกลับมาเขียนแบบเพื่อส่งให้ห้องแบบที่ลงลึกทุกรายละเอียด ทั้งวัสดุที่ใช้ เฟอร์นิเจอร์ โดยใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน พอได้แบบแล้วจะถึงวันนัดเข้าไซต์งานพร้อมแนะนำทีมงานให้ลูกค้าได้รู้จัก ซึ่งโดยปกติจะใช้ทีมงานราวๆ 80 คนต่อหนึ่งงาน และใช้เวลาในการก่อสร้างอีกประมาณ 1 เดือน สวนก็จะเสร็จพร้อมใช้งาน

สำหรับราคาขั้นต้นในการออกแบบจัดสวนนั้นอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท โดยกิ่งก้านใบจะมีกิมมิกเล็กๆ ที่เรียกว่า “Hidden Object” อยู่ในทุกสวนที่สร้าง ซึ่งเป็นการซ่อนของที่เจ้าของบ้านต้องใช้ในสวนเอาไว้ โดยอิงจากไลฟ์สไตล์เป็นหลัก เช่น ซ่อนร่ม กุญแจ ก๊อกน้ำ เป็นต้น

จากจุดเริ่มต้นในปี 2549 ผ่านเข้าสู่ปีที่ 17 กิ่งก้านใบสร้างสวนไปแล้วถึง 2,044 สวน เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและยังออกไปสร้างชื่อระดับโลก ด้วยการได้เป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่ผ่านการคัดเลือกได้ร่วมโชว์ความครีเอทีฟในงานออสการ์ของวงการจัดสวนอย่าง RHS Chelsea Flower Show 2021 งานจัดแสดงสวนที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานกว่า 112 ปี โดยมีราชวงศ์อังกฤษให้การอุปถัมภ์ ซึ่งเขาทั้งคู่ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีเลยทีเดียว กว่าที่จะได้รับคัดเลือก

ธวัชชัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ทั้งคู่ได้มีโอกาสไปดูงาน RHS Chelsea Flower Show ครั้งแรกในปี 2558 ได้เห็นงานจัดสวนที่เจ๋งๆ และเกิดแรงบันดาลใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาร่วมแสดงฝีมือในการจัดสวนในงานนี้ให้ได้ หลังจากกลับมาเมืองไทยจึงเริ่มต้นกระบวนการซึ่งต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เริ่มทำพอร์ตโฟลิโอส่งประกวด กรอกแบบฟอร์มกว่า 300 หน้า และถูกพัฒนามาแล้วถึง 112 ปี จนในปี 2564 กิ่งก้านใบจึงได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 สวน จากนักออกแบบสวนทั่วโลก ในหมวด “Sanctuary Gardens” (เดิมคือ Urban Gardens) โดยสวนที่เอาไปจัดโชว์มาในคอนเซ็ปต์ “The Calm of Bangkok” นำเสนอมุมมองที่คนยังไม่เคยเห็นของกรุงเทพฯ ที่มีความสงบและผ่อนคลาย

โดยหลังจากงานครั้งนั้น ชื่อของกิ่งก้านใบเมื่ออยู่ในอังกฤษจะมีนามสกุลต่อท้ายเป็น “Ging Gaan Bai Chelsea Medalist” นับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับกิ่งก้านใบในฐานะนักออกแบบสวนรุ่นใหม่ของไทยไปสู่ระดับสากล อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน คูเวต สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย  และอังกฤษ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น กิ่งก้านใบกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยการสมัครเข้าไปอยู่ในสมาคมนักจัดสวนโลก ซึ่งยังไม่มีคนเอเชียคนไหนได้อยู่ในสมาคมนี้มาก่อน และถ้าสำเร็จจากชื่อที่เคยลงท้ายด้วย Chelsea Medalist ก็จะเพิ่มชื่อต่อท้ายขึ้นไปอีกขั้นด้วยคำว่า MSGD หรือ Master of Garden Designer ที่ถือเป็นระดับทอปที่สามารถทำงานได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก และมีสิทธิ์นำเสนอสวนของลูกค้าให้สมาคมโปรโมตต่อได้ และทำให้ลูกค้าภูมิใจไปอีกขั้นว่าสวนของเขาได้ออกสู่สายตาชาวโลก

และถ้าวันนั้นมาถึง ชื่อของ กิ่งก้านใบจะยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีโลกอย่างแน่นอน.