วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > นครพนมฝันไกล จากเมืองซอยตัน สู่ฮับโลจิสติกส์

นครพนมฝันไกล จากเมืองซอยตัน สู่ฮับโลจิสติกส์

ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จังหวัดนครพนมมักจะถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นเมืองซอยตัน และหลังจากปี พ.ศ. 2554 ที่มีการเปิดใช้สะพาน คำว่า “เมืองซอยตัน” ถูกลบออกไปจากพจนานุกรมของนครพนมทันที

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลายเป็นที่จับตามองจากบรรดานักลงทุนทั้งในและนอกพื้นที่ ในฐานะที่วันนี้นครพนมกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และเวียดนามได้ด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด เมื่อเทียบกับ จ.มุกดาหาร หรือ จ.หนองคาย

แม้ว่าก่อนหน้าหลายฝ่ายจะเคยกังวลว่า สถานการณ์ของจังหวัดนครพนมหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพ 3 ทิศทางจะเป็นอย่างไร จะเหมือนหรือแตกต่างจากจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดหนองคายหรือไม่ ที่เมื่อครั้งก่อนจะมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้งแห่งที่ 1 และ 2 นักเก็งกำไร นักลงทุนต่างคาดหวังถึงผลลัพธ์เอาไว้มากมาย หากแต่ผลที่ได้การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

หากวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตกับนครพนม คล้ายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เมืองแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แตกต่างจาก 2 จังหวัดข้างต้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตัวแปรสำคัญอย่างมหาวิทยาลัยนครพนม และสนามบิน ซึ่งเป็นเสมือนศักยภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการถูกเลือกให้นครพนมเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขอันเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้นครพนมโดดเด่นขึ้น

การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนครพนม โดยเฉพาะในมิติของการเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เห็นได้จากตัวเลขสถิตินับตั้งแต่การเปิดใช้สะพาน มูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดนครพนมจากที่เคยซบเซากลับขยายตัวสูงขึ้น

โดยมูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดนครพนมในปี พ.ศ. 2557 มีมูลค่า 87,104.96 ล้านบาท และทำสถิติสูงสุดในปีต่อมา ปี 2558 ที่ 118,503.42 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแม้ว่าจะสร้างความตื่นตะลึงให้กับหลายฝ่าย และทิศทางการพัฒนาจะสะท้อนออกมาในเชิงเศรษฐกิจจุลภาค เช่น เรื่องการท่องเที่ยว และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ถูกพัฒนาและขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นสิ่งที่ทิ้งให้เกิดความสงสัยคือ ตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนนั้น หมายถึงเม็ดเงินที่วิ่งวนกลับเข้ามาถึงประชาชนชาวนครพนมด้วยหรือไม่ และในมิติใด เพราะแม้ว่านครพนมจะมีจุดเด่นในเรื่องการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีพระธาตุสำคัญถึง 2 แห่ง หรือสินค้างานหัตถกรรมพื้นเมือง ที่ต้องยอมรับว่าไม่น้อยหน้าใคร หากแต่ก็ยังไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักที่ทำรายได้ให้จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของจังหวัดนครพนมจะเดินทางผ่านจุดพีคมาแล้ว เมื่อตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนในปี พ.ศ. 2559 กลับลดลง แม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ตัวเลขสรุปอยู่ที่ 96,290.85 ล้านบาท และลดลงต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2560 เหลือเพียง 54,723.68 (ม.ค.-ส.ค. 2560) สะท้อนให้เห็นว่ามีบางสิ่งที่เป็นตัวแปรของเรื่อง

R12 คือคำตอบ เมื่อเส้นทางดังกล่าวเป็นเสมือนยุทธศาสตร์สำคัญในด้านโลจิสติกส์ของจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ช่วยต่อยอดในธุรกิจอื่นๆ ให้เร่งขยายตัวเติบโตในทิศทางคู่ขนาน

R12 จึงเป็นเส้นทางสำคัญที่บรรดาบริษัทขนส่งเลือกใช้เพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว ที่สามารถเดินทางต่อไปยังเวียดนาม และอาจรวมไปถึงจุดหมายปลายทางที่สำคัญคือ ประเทศจีนตอนใต้

หลังจากถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ซึ่งมีรถบรรทุกที่ใช้เส้นทางนี้ไม่น้อยกว่าวันละ 100 เที่ยววิ่ง ทำให้ปัจจุบันสภาพถนนเส้นดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคต่อระบบขนส่ง ทั้งสภาพผิวที่มีความชำรุด ผิวทางขรุขระ ซึ่งถนนใน สปป. ลาวนั้นไม่มีไหล่ทาง เป็นดินลูกรังกึ่งลาดยาง และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางและการขนส่ง

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้บริษัทโลจิสติกส์หลายรายเลือกที่จะหลีกเลี่ยงและเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ที่แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากขึ้น แต่ก็เพื่อเป็นการลดอัตราความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลเสียต่อสินค้า รวมไปถึงทรัพย์สินของบริษัท หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน

ตัวเลขที่ลดลงของมูลค่าการค้าชายแดนทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจังหวัดนครพนม แสดงความคิดเห็นที่แฝงไปด้วยความกังวล รวมไปถึงยังคาดหวังว่าจะให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นในเร็ววัน โดยประทีป ฤทธิกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “แต่ก่อนนครพนมเป็นเมืองสุดซอย เพราะยังไม่มีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 การขนส่งเองยังมีอุปสรรคอยู่มาก ซึ่งตัวเลขมูลค่าการส่งออกครั้งแรกที่ใช้สะพานอยู่ที่กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่คือ ผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาในปี 2559-2560 ตัวเลขการส่งออกลดลงมาก เพราะถนนชำรุดอย่างหนัก ผู้ค้าส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนไปใช้เส้นทางมุกดาหารแทน ซึ่งหากถนน R12 ซ่อมแซมปรับปรุงแล้วเสร็จ เชื่อว่ามูลค่าการขนส่งจะกลับมาดีดังเดิม และอนาคตสินค้าส่งออกอาจจะไม่พอจำหน่าย เพราะนครพนมยังถูกคัดเลือกให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย”

แม้ว่าเส้นทาง R12 จะเป็นหนึ่งในโครงการที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) สังกัดกระทรวงการคลัง หรือ NEDA รับผิดชอบ ภายใต้โครงการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12)

อย่างไรก็ตาม เส้นทางดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหาบริษัทที่ปรึกษาโครงการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 หรือ R12 โดยเริ่มต้นที่ ท่าแขก-ยมมะลาด-บัวละพา-นาเพ้า รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 147 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

ที่หลายฝ่ายกำลังเพ่งเล็งและให้ความสำคัญอยู่บนเส้นทางดังกล่าว เป็นเพราะเส้นทาง R12 เสมือนยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก แม้ว่าถนนสายนี้จะยังอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาขยายขอบเขตข้อตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน (Greater Mekong Sub-region Cross-Border Transport Agreement: CBTA) ก็ตาม

“นครพนมมีศักยภาพต่ำ ถ้าจับไปเปรียบเทียบกับแหลมฉบัง แต่หากมองในเรื่องการขนส่งไปสู่ สปป.ลาว และเวียดนาม ไปถึงจีนนั้น นครพนมมีต้นทุนการขนส่งบนเส้นทางนี้ที่ต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้นครพนมกลายเป็นต้นทางสำหรับสินค้าเกษตรไปสู่ R12 ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นหัวใจของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” วัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม อธิบาย

หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งครั้งหนึ่งอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครพนมเคยได้รับอานิสงส์จากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 นครพนม คือ หนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการขยายตัวการก่อสร้างมากที่สุด โดยขยายตัวถึง 40.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นผลมาจากเป็นจังหวัดที่อยู่ในแนวระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East-West Economic Corridor และยังเป็นจังหวัดที่สามารถเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวก

โดยในปัจจุบัน วัชรินทร์ขยายความว่า “ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต หากเส้นทาง R12 ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ และเขตเศรษฐกิจพิเศษถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว ตลาดอสังหาฯ น่าจะมีโอกาสเติบโตได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์”

ถึงเวลานี้ คงจะไม่ผิดนักหากจะพูดว่า “ถนน R12” คือตัวเอกที่จะสร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ ของจังหวัดนครพนม เมื่อความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องของจังหวัดหลายฝ่ายตั้งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน ตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดน ทิศทางกระแสนิยมการท่องเที่ยวในตัวจังหวัด อสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญคือ การวาดฝันว่า นครพนมจะกลายเป็นฮับโลจิสติกส์

ขณะที่ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร) และกรรมการหอการค้าไทย อธิบายให้ฟังอย่างน่าคิดว่า “นครพนมต้องการผลักดันในการเปลี่ยนบริบทของตัวเอง ซึ่งต้องการแรกผลักดันจากภาครัฐ โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญอย่างเส้นทาง R12 และเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์และผลักดันให้นครพนมเกิดศักยภาพให้มีโอกาสเติบโตได้อย่างเต็มที่”

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ฝันของนครพนมที่จะก้าวข้ามการเป็นเมืองซอยตัน ไปสู่ฮับโลจิสติกส์นั้น จะเกิดขึ้นจริงและยั่งยืนหรือไม่ และเส้นทางดังกล่าวจะเปลี่ยนหน้าสัมผัสให้นครพนมเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต คำตอบนั้นคงอีกไม่นาน

ใส่ความเห็น