วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Life > ความหวังใหม่ … ความจำเสื่อมฟื้นฟูได้

ความหวังใหม่ … ความจำเสื่อมฟื้นฟูได้

Column: Well – Being

ถ้าคุณได้พบเห็นคนที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ คุณจะรู้ว่ามันเป็นโรคที่ไม่ทำให้สภาพภายนอกของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงหรือทรุดโทรม หากแต่ได้ปล้นเอาความทรงจำและตัวตนของพวกเขาไปจนหมดสิ้น เป็นโรคที่ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยปวดหัวใจและเจ็บปวดในช่วงเริ่มแรก หากรวมถึงครอบครัวของพวกเขาผู้ซึ่งทำได้เพียงแค่เฝ้าดูผู้ป่วยซึ่งเป็นคนที่พวกเขารักและรู้จัก ค่อยๆ กลายสภาพเป็นเพียงโครงร่างของคนคนนั้นโดยไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

จวบจนปัจจุบัน วงการแพทย์ยังไม่สามารถค้นพบยาหรือวิธีรักษาเพื่อฟื้นความจำที่เสื่อมถอยอันเกี่ยวเนื่องกับโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม นิตยสาร GoodHealth รายงานว่า ขณะนี้เริ่มมีความหวังใหม่ๆ ที่ช่วยฟื้นอาการความจำเสื่อมได้

อัลไซเมอร์คืออะไร
ถ้าคุณมองเข้าไปในสมองของคนที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ คุณจะเห็นคราบโปรตีนที่เรียกว่า อะไมลอยด์ จับตัวจนหนาเกาะอยู่ตรงที่ว่างระหว่างเซลล์สมอง เซลล์สมองสามารถสื่อสารกันได้ผ่านที่ว่างเหล่านี้ แต่เมื่อโปรตีนอะไมลอยด์เข้าไปขัดขวาง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการสื่อสารกันน้อยลงหรือไม่สามารถสื่อสารกันได้ เซลล์สมองจะค่อยๆ สูญเสียการทำหน้าที่ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการสูญเสียความทรงจำและเกิดความสับสนขึ้นแทน

ภาวะที่เซลล์สมองถูกล็อกเอาไว้ และไม่สามารถสื่อสารกับเซลล์สมองอื่นๆ ได้นั้น สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเซลล์สมองถูกโจมตีโดยโปรตีนอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า เทา (tau) ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยและมีบทบาทสำคัญในการทำลายเซลล์สมอง

ความหวังใหม่จากวิธีอัลตราซาวด์
การวิจัยของศาสตราจารย์เจอร์เกน กอตซ์ และ ดร.รีเบคกา นิสเบท แห่งสถาบันสมองควีนส์แลนด์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ในการรักษาให้อาการอัลไซเมอร์ดีขึ้น และฟื้นฟูความทรงจำให้กลับมา

หัวใจหลักของการวิจัยของพวกเขาคือ ถ้าสามารถส่งตัวยาหรือสารภูมิต้านทานเข้าไปที่คราบอะไมลอยด์ได้โดยตรง และทำให้โปรตีนเทาด้อยประสิทธิภาพลง จะสามารถทำให้ความทรงจำฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม การทำอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสมองถูกปกป้องด้วยแนวกั้นระหว่างเลือดและสมอง (blood brain barrier หรือ BBB) ซึ่งคอยป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าถึงตัวสมองได้โดยง่าย ทำให้การรักษาด้วยวิธีทำให้ยาเข้าถึงสมองได้โดยตรงเป็นทางเลือกที่ไร้ประสิทธิภาพ

แต่ศาสตราจารย์กอตซ์พบวิธีเปิด BBB ชั่วคราวได้ ทำให้สามารถเข้าถึงสมองได้โดยตรง การวิจัยในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า เพียงการเปิด BBB ได้ก็จะช่วยลดปริมาณคราบอะไมลอยด์ในสมองของหนูทดลอง

นอกจากนี้ ดร.นิสเบทผู้ได้แรงกระตุ้นจากการค้นพบของศาสตราจารย์กอตซ์ จึงต่อยอดด้วยการใช้อัลตราซาวด์ในการเปิด BBB เพื่อนำส่งสารภูมิต้านทานที่ใช้เพื่อการรักษาไปยังกลุ่มเส้นใยโปรตีนเทาได้โดยตรง ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงทำให้สามารถกำจัดเส้นใยเทาในสมองของหนูทดลองได้ แต่ยังช่วยฟื้นฟูความทรงจำด้วย

ดร.นิสเบทอธิบายว่า โดยเหตุที่เส้นใยเทาเกิดขึ้นภายในตัวเซลล์สมองจริงๆ จึงยากต่อการชี้จุดได้ “งานของเราน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะอัลตราซาวด์ไม่เพียงช่วยเพิ่มการนำสารภูมิต้านทานให้ข้าม BBB ได้ แต่ยังนำสารภูมิต้านทานเข้าไปสู่เซลล์สมองได้โดยตรง ทำให้เข้าถึงเส้นใยเทาได้มากขึ้นและทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น

จากความสำเร็จของการวิจัยในหนู ปัจจุบันทีมงานหันมาให้ความสำคัญโดยตรงกับการวิจัยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และคาดหมายว่าจะเริ่มทำการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

วิธีลดความเสี่ยงจากอัลไซเมอร์
ดูแลหัวใจของคุณ ด้วยการควบคุมระดับความดันโลหิต โคเลสเตอรอล และน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทำตัวเป็นคนกระฉับกระเฉง คนที่เข้าร่วมในกิจกรรมทางกายภาพอย่างสม่ำเสมอ จะมีสมองที่แข็งแรงกว่า ความทรงจำดีกว่า รวมทั้งทักษะในการวางแผนและการคิด คุณควรตั้งเป้าทำกิจกรรมทางกายภาพระดับเข้มข้นปานกลางให้ได้สัปดาห์ละ 2.5 – 5 ชั่วโมง หรือออกกำลังกายอย่างเข้มข้นสัปดาห์ละ 1.25 – 2.5 ชั่วโมง และควรรวมเอาการออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วันเข้าไปด้วย

ท้าทายสมองของคุณ ผลการศึกษาระบุว่า การท้าทายสมองของคุณด้วยกิจกรรมใหม่ๆ จะช่วยสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ และทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองเป็นไปด้วยความแข็งแกร่ง

กินอาหารเพื่อสุขภาพ ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น ผลิตภัณฑ์นมเนยที่มีไขมันเต็มรูปแบบ และอาหารทอด ให้บริโภคกรดไขมันโอเมก้า – 3 เช่นที่มีอยู่ในน้ำมันปลาและถั่ววอลนัต อาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า – 3 ช่วยลดการอักเสบในสมอง และส่งเสริมการเติบโตของเซลล์สมองใหม่ๆ

คุมระดับอินซูลิน ต้องแน่ใจว่า สามารถควบคุมภาวะเบาหวานชนิดที่ 2ได้ ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า สามารถลดความเสี่ยงจากอาการสมองเสื่อมได้ด้วย

สนุกกับกิจกรรมทางสังคม ผลการศึกษาระบุว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม ให้ผสมผสานกิจกรรมทางสังคมของคุณเข้ากับกิจกรรมทางกายภาพ เช่น เต้นรำ หรือกีฬาประเภททีม เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพสมองมากขึ้น

ควบคุมอาการซึมเศร้าให้ได้ มีผลการศึกษายืนยันว่า อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นทางร่างกายสามารถส่งผลกระทบต่อสมอง การหาวิธีเยียวยาอาการซึมเศร้าสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมของคุณได้

ใส่ความเห็น