วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ศรีลังกา: จากจินตภาพสู่ความเป็นจริง??

ศรีลังกา: จากจินตภาพสู่ความเป็นจริง??

จังหวะก้าวของการพัฒนาประเทศศรีลังกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองดูจะดำเนินไปท่ามกลางอัตราเร่ง ซึ่งแม้ว่าจะเผชิญกับภาวะชะงักงันอยู่บ้างในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง แต่ต้องยอมรับว่ากรอบโครงสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกายังดำเนินต่อไปอย่างมีเป้าหมายและน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง

ความสามารถของ Mahinda Rajapaksa ในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศด้วยการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ทศวรรษได้สำเร็จในปี 2009 ควบคู่กับการประกาศแนวทางในการพัฒนาศรีลังกาให้ฟื้นคืนจากบาดแผลของประวัติศาสตร์สู่อนาคตใหม่ ภายใต้แนวนโยบายที่ได้รับการเรียกขานว่า “Mahinda Chintana: Vision for the Future” ประกอบกับการดำรงอำนาจทางการเมืองที่ยาวนานนับสิบปีของเขา ในด้านหนึ่งได้กลายเป็นความท้าทายการดำรงอยู่ของกลุ่มการเมืองดั้งเดิมของสังคมศรีลังกา และทำให้ Mahinda Rajapaksa ต้องถูกผลักให้พ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยายจากผลของการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2015

หากแต่มรดกทางความคิดและนโยบายว่าด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคต หรือ “จินตภาพแห่งมหินทะ” ที่ประกอบส่วนไปด้วยแนวความคิดที่จะพัฒนาและสร้างให้ศรีลังกาเป็น Regional 5 Hub หรือศูนย์กลางของกิจกรรม 5 ประการของภูมิภาค ไล่เรียงตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางของการเดินสมุทร ศูนย์กลางของการเดินอากาศ ศูนย์กลางของความรู้ ศูนย์กลางด้านพลังงาน และศูนย์กลางทางพาณิชยกรรม (Maritime, Aviation, Knowledge, Energy and Commerce) ไม่ได้ถูกทิ้งร้าง หากยังเป็นต้นทางของกรอบโครงแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมาด้วย

การเบียดแทรกเพื่อขยายบทบาทเข้ามาของมหาอำนาจทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และนานาประเทศในการช่วยสนับสนุนความจำเริญครั้งใหม่ของศรีลังกา แม้ว่าจะได้รับการประเมินว่าเป็นปัจจัยหลักในการหนุนนำพัฒนาการตามแนวทางที่ว่านี้ให้เกิดผลขึ้นเป็นจริงได้ หากแต่หากปราศจากความริเริ่มในเชิงนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในมิติทางการเมืองภายใน และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศรีลังกาก็คงเป็นเพียงเหยื่ออันโอชะของการแสวงผลประโยชน์ในระดับนานาชาติเท่านั้น

ยุทธศาสตร์ศูนย์กลาง “5 Hub Concept” ของศรีลังกา ไม่ได้เป็นเพียงกรอบโครงที่ว่างเปล่าเลื่อนลอย หากแต่มีรายละเอียดและแผนปฏิบัติการค่อนข้างชัดเจนในแต่ละหมวด เฉพาะในมิติของการเป็นศูนย์กลางของการเดินสมุทร (Maritime Hub) ที่อุดมด้วยโครงการขนาดใหญ่ก็จะเป็นการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ของศรีลังกาไปจากสภาพปัจจุบันอย่างยากจะเปรียบเทียบ

การยกระดับ Colombo Port ให้เป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้า (container mega hub) การพัฒนา Hambantota Port ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมให้ Galle Port เป็นศูนย์กลางของเรือท่องเที่ยว ผลักดันอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางทะเลให้เกิดขึ้นที่ Trincomalee รวมถึงการยกระดับ Oluvil Port ให้เป็นศูนย์กลางการประมงและการค้า และพัฒนาให้ Kankasanthurei และ Point Pedro เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค ซึ่งการพัฒนาในอภิมหาโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประจักษ์พยานและรูปธรรมที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของศรีลังกาในการพัฒนาประเทศไปสู่จินตภาพของมหินทะดังกล่าว

โครงการลงทุนที่ประกอบส่วนไปด้วยท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่นน้ำมัน ที่เมือง Hambantota เมืองเล็กๆ ซึ่งอาจไม่เคยได้รับการกล่าวถึงตลอดช่วงสมัยแห่งความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์การเดินเรือในเส้นทางสายไหมในอดีต แต่ด้วยความที่เป็นเมืองบ้านเกิดของ Mahinda Rajapaksa ทำให้ Hambantota ถูกระบุให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามแนวทางการพัฒนา “จินตภาพของมหินทะ” และเป็นอนุสรณ์สถานที่สะท้อนยุคสมัยแห่งความเรืองอำนาจของ Mahinda Rajapaksa ไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนา Colombo Port City มูลค่านับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นโครงการลงทุนจากต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเมื่อปลายปี 2014 กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นปลุกพลังทางเศรษฐกิจของศรีลังกาให้กลับมาคึกคักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นอกจากเรื่องการเดินสมุทรซึ่งอาจถือได้ว่าศรีลังกาสามารถนำข้อได้เปรียบจากข้อเท็จจริงของการอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของโลกมาเป็นปัจจัยหนุนนำพัฒนาการแล้ว ศรีลังกายังมุ่งหมายที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการเดินอากาศและศูนย์กลางพาณิชยกรรมอีกด้วย

ความพยายามที่จะก้าวเดินตามแผนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางที่ว่านี้ ยังดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับ The Emerging Wonder of Asia ซึ่งเป็นทั้งประหนึ่งหมุดหมายและถ้อยวลีที่จะสื่อสารความเข้าใจในวงกว้าง เพราะหากศรีลังกาสามารถดำเนินนโยบายตามจินตภาพดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น ดินแดนแห่งนี้ก็คงเป็นประหนึ่งดินแดนมหัศจรรย์ ที่สามารถพลิกฟื้นจากสภาพที่ถูกฉีกขาดจากสงครามและความขัดแย้งมาสู่ความจำเริญรุ่งเรืองครั้งใหม่

แต่ความหวัง ภาพฝัน และความเป็นจริง บ่อยครั้งก็มิได้สอดคล้องไปในทางเดียวกันเสมอไป เพราะแม้ประชาชนชาวศรีลังกาส่วนใหญ่จะยินดีกับนโยบายที่ว่านี้ แต่การบริหารประเทศของ Mahinda Rajapaksa ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความโปร่งใสและการกระจายทรัพยากรอยู่เป็นระยะ

เรียกได้ว่าเห็นชอบในนโยบาย แต่เคลือบแคลงกระบวนการตรวจสอบและการทำงานของผู้นำ

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อช่วงต้นปี 2015 ซึ่งเป็นเหตุให้ Mahinda Rajapaksa ต้องพ้นจากอำนาจทางการเมือง และเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองอื่นๆ ภายใต้การนำของ Maithripala Sirisena บนตำแหน่งประธานาธิบดี และ Ranil Wickremesinghe บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะติดตามมาด้วยภาวะชะงักงันอยู่ในบางขณะ แต่ด้วยการเปลี่ยนผ่านที่ดำเนินอยู่ในกรอบของประชาธิปไตย ประเด็นว่าด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนจึงไม่ใช่หลักใหญ่ใจความของการเปลี่ยนแปลง

เพราะในด้านหนึ่งกระบวนการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรมได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบแล้ว โดยไม่มีใครเรียกร้องให้เกิดการยึดอำนาจรัฐประหารโดยกลุ่มกำลังติดอาวุธ ที่กระทำการนอกกฎหมายในลักษณะที่เกิดขึ้นกับประเทศด้อยพัฒนาล้าหลังที่ขาดความเคารพแม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ในตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การตระหนักถึงความมุ่งหมายและเป้าหมายในการนำพาประเทศไปสู่ความจำเริญมากกว่าที่จ้องจะแสวงประโยชน์และกล่าวโทษรัฐบาลชุดก่อน เพียงเพื่อจะทำลายเครดิตและสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลใหม่ ทำให้นโยบายว่าด้วยการพัฒนาหลายโครงการที่แม้จะเป็นการริเริ่มจากรัฐบาลชุดก่อนได้รับการสานต่ออย่างมีความรอบคอบในการพิจารณายิ่งขึ้น

ความน่าสนใจลงทุนและการพัฒนาของศรีลังกาไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์แต่โดยลำพัง หากแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการผลักดันพัฒนาการทางสังคมไปพร้อมกัน โดยเฉพาะบทบาทและการดำรงอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมีส่วนได้เสียของประเทศอย่างแท้จริง

อนาคตของศรีลังกาภายใต้การนำของรัฐบาลที่มี Maithripala Sirisena ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และ Ranil Wickremesinghe ทำหน้าที่เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังมีเวลาที่จะพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการและสร้างสรรค์คุณูปการให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวศรีลังกาอย่างน้อยอีก 2 ปีเศษ ก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ตามวาระจะมีขึ้นในปี 2020

ซึ่งนั่นอาจเป็นเวลาที่จะได้พิสูจน์ว่าระหว่างจินตภาพที่วาดไว้กับความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหน้าจะดำเนินควบคู่กันไปในทิศทางเดียวกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร นั่นคือหนทางที่ประเทศที่ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาแล้วทางการเมืองจะตัดสินใจ เพราะประชาชนต่างหากคือศูนย์กลางของการพัฒนาที่แท้จริง

ใส่ความเห็น