วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > เสี่ยง “ติดเชื้อ” หรือ “อดตาย” ทางแพร่งของชาวชุมชนคลองเตย

เสี่ยง “ติดเชื้อ” หรือ “อดตาย” ทางแพร่งของชาวชุมชนคลองเตย

การระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 กำลังคุกคามความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างหนักหน่วง แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้จะเกิดขึ้นจากสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท ซึ่งถือเป็นแหล่งสันทนาการของบรรดาเหล่าผู้มีรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจ หากแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับทำให้พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก กลายเป็นชุมชนแออัดซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ครั้งล่าสุดนี้ มีปัจจัยที่แตกต่างจากการแพร่ระบาดครั้งที่ผ่านมา โดยการระบาดระลอกแรกเกิดขึ้นจากการติดเชื้อจากสนามมวยซึ่งมีคนเฉพาะกลุ่มไม่กี่คน หรือในครั้งต่อมาที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง แต่การระบาดครั้งนี้เริ่มจากสถานบันเทิง ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบข้างทั้งชุมชนคลองเตย ชุมชนบ่อนไก่ และชุมชน 70 ไร่ จำนวนไม่น้อยทำงานอยู่ในสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้การลุกลามของโรคดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก

ชุมชนแออัดในเขตคลองเตยมีประชากรรวมกันนับแสนคน โดยสมาชิกของแต่ละครอบครัวอยู่รวมกันในพื้นที่จำกัด ซึ่งภายใต้สภาพพื้นที่ในชุมชนมีความแออัดสูง ทำให้การติดเชื้อโรค COVID-19 เกิดขึ้นอย่างง่ายดายและรวดเร็ว เพราะการที่จะคัดแยกและขอให้คนที่ติดเชื้อแยกกักตัวที่บ้านแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบ้านหลังหนึ่งมีคนอยู่กันหลายคนในพื้นที่เล็กๆ ขณะที่การส่งตัวผู้ติดเชื้อไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามก็ดำเนินไปอย่างยากลำบากเพราะต้องรอรถรับ-ส่งอย่างเนิ่นนาน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยต้องรออยู่ในบ้านทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อกันหมด โดยในบางกรณีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อกันทั้งบ้าน

ผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ยังขยายวงกว้าง เพราะไม่เพียงแต่ผู้ติดเชื้อเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หากแต่คนในชุมชนที่ไม่ติดเชื้อก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลจากผู้คนภายนอกที่ทำให้คนในชุมชนถูกตีตราและกีดกันจากการทำงานเพียงเพราะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ซึ่งทำให้หลายคนต้องตกงาน ไม่มีรายได้ และไม่รู้ว่าจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่ หรือจะยังมีงานทำอยู่หรือไม่

การถูกกีดกันจากการทำงานที่เกิดขึ้นกับผู้คนในชุมชนคลองเตย ดำเนินไปทั้งในรูปแบบของการไม่รับเข้าทำงานเลยเพราะพวกเขาถูกประเมินว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง หรือแม้กระทั่งการถูกสั่งพักงานที่ทำอยู่ จากผลของอคติที่มีต่อชาวชุมชนแออัด แม้ว่าพวกเขาจะมีผลตรวจที่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อก็ตาม ซึ่งกำลังลุกลามไปสู่การส่งผ่านข้อมูลในลักษณะที่ว่าให้งดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันส่งอาหารต่างๆ เพราะมีคนจากชุมชนแออัดทำงานเป็นคนส่งจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้สถานประกอบการหลายแห่งกังวลมาก และก่อให้เกิดอคติว่าคนในกลุ่มนี้ต้องเอาเชื้อมาแพร่แน่ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น

การแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชุมชนแออัด ที่ได้รับการเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “คลัสเตอร์คลองเตย” นี้ ในด้านหนึ่งนอกจากจะต้องเร่งรับมือและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด ด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุกและการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคแล้ว กรณีดังกล่าวยังเป็นบทเรียนและภาพสะท้อนให้เห็นถึงการมองข้ามและละเลยของกลไกรัฐในการดูแลพื้นที่ชุมชนแออัดมาโดยตลอด ซึ่งนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ไม่มีการกล่าวถึงคนในชุมชนแออัด รวมถึงคนไร้บ้าน ในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขมูลฐาน มิพักต้องกล่าวถึงมาตรการฉีดวัคซีน เพราะแม้แต่ข้อมูลข่าวสารทั่วไปพวกเขาก็เข้าไม่ถึงแล้ว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือการที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในชุมชนคลองเตย เป็นเพราะผู้คนต้องออกไปทำงานข้างนอก แม้ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงจากสถานบันเทิง แต่พวกเขายังชีพอยู่ด้วยการไปทำมาหากินแบบหาเช้ากินค่ำใกล้แหล่งสถานบันเทิง ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อและกลับบ้านในชุมชนที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างหนาแน่น จึงมีการแพร่เชื้อกระจายไปทั่ว และเกิดสภาพที่ไม่ต่างจากวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะรัฐไม่เคยดูแล สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้จึงอยู่ที่ชาวชุมชนแออัดต้องจัดการป้องกันตัวเอง ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายในการหาพื้นที่กักตัว 14 วันสำหรับผู้มีความเสี่ยง แม้ค่อนข้างหายากก็ตาม

ความเป็นไปของการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบและสร้างความยากลำบากให้กับชาวชุมชนแออัดมากกว่าการระบาดในสองครั้งที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้การแพร่ระบาดในระลอกแรกและสองพวกเขาแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่การระบาดระลอกใหม่นี้เข้าใกล้ตัวพวกเขามากขึ้น และต้องรับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยง

เพราะการไม่มีงานทำหมายถึงการไม่มีกำลังทรัพย์ในการเลี้ยงดูปากท้องของครอบครัว และต้องอาศัยการดำรงชีพจากการรอรับของบริจาคในชุมชน โดยนับตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่ ชาวชุมชนต้องการรับบริจาคข้าวกล่องเพื่อส่งให้ผู้ที่กักตัวรับประทานทุกมื้อทุกวัน ซึ่งบางวันก็มีคนบริจาคมากเพียงพอ บางวันก็ไม่พอ ส่วนคนอื่นๆ ในชุมชนจะได้รับถุงยังชีพที่มีอาหารแห้งและของใช้จำเป็น

การควบคุมการลุกลามของการแพร่ระบาด นอกจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุกและการฉีดวัคซีนแล้ว การบรรเทาทุกข์ด้วยความช่วยเหลือและการเยียวยาจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนต้องการและเรียกร้องให้กลไกรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยจัดสรร เพราะก่อนหน้านี้ชาวชุมชนต้องช่วยกันแจกจ่ายอาหารให้กับชาวชุมชนด้วยกันเอง มาตรการเยียวยาจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในห้วงเวลาปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเยียวยาผู้ที่ไม่มีงานทำในชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาในช่วงที่ไม่มีรายได้ โดยสถานการณ์นับจากนี้มีแนวโน้มจะหนักหน่วงขึ้นไปอีก เพราะคนกลุ่มที่เคยทำงานได้ยังไม่ล่วงรู้อนาคตเลยว่าพวกเขาจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่ และจะได้กลับไปทำงานหรือไม่

ความน่าสนใจประการหนึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาเป็นคนขับรถแท็กซี่-รถสามล้อ แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และลูกจ้างบริษัทเอกชน ซึ่งในเวลานี้คนในชุมชนที่ไม่ได้ติด COVID-19 ก็ได้รับผลกระทบหนักไปด้วยจากการไม่มีงานทำเพราะไม่มีใครจ้าง ส่วนคนที่ประกอบอาชีพค้าขายก็ออกไปขายของไม่ได้ นอกจากนี้ ในชุมชนยังมีคนต่างด้าวมาอาศัยอยู่ด้วย โดยอาศัยรับจ้างขายแรงงานทั่วไปในตลาด

ประเด็นว่าด้วยชาวต่างด้าวดังกล่าว กลายเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยส่วนใหญ่ของชาวต่างด้าวเหล่านี้ไม่มีบัตรอนุญาตการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการควบคุมชาวต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ใน 2 ระลอกหลังที่ผ่านมาด้วย

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่ดำเนินอยู่ภายใต้คลัสเตอร์คลองเตย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท กำลังเป็นประหนึ่งระเบิดเวลาใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทย ที่ท้าทายขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสาธารณสุขของกลไกภาครัฐ และเป็นภาพสะท้อนการจัดระเบียบว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างเสริมสวัสดิภาพสวัสดิการให้กับประชาชนทั้งในเขตชุมชนแออัดและคนไร้บ้านที่กระจายอาศัยอยู่ในหลายจุดของกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรนี้

แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าคนไร้บ้านติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลหรือสารบบที่จะสืบค้นสอบสวนโรค แต่กรณีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการป้องกันและประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องเข้าดูแลทั้งในเรื่องของอาหารการกินและการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในฐานะที่เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อควบคุมยับยั้งและบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคก่อนที่จะสายและกลายเป็นเหตุให้ระบบสาธารณสุขของไทยที่อวดอ้างว่ามีศักยภาพต้องล่มสลายเพราะมายาคติที่ครอบอยู่ในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น