วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > AEC 2015 หลักไมล์แห่งมิตรไมตรี

AEC 2015 หลักไมล์แห่งมิตรไมตรี

 
การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอาเซียน สอดรับกับความพยายามที่จะผนึกอาเซียนให้ก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่มีหมุดหมายในการรวมเขตเศรษฐกิจในอาเซียนให้เป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกันในปี 2015 ภายใต้ข้อเท็จจริงว่าด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 600 ล้านคนและมีผลประโยชน์ทางการค้า-เศรษฐกิจมูลค่ารวมมหาศาลอย่างยากที่จะประเมินออกมาเป็นเพียงตัวเลขสถิติ
 
พลวัตที่งอกเงยมาจากสายสัมพันธ์ในมิตินามธรรมในอดีตนี้ กำลังก่อรูปและรังสรรค์ให้เกิดความเชื่อมโยงและพัฒนาการที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต เป็นอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอาเซียนให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งหวังถึงความจำเริญมั่งคั่งที่ยั่งยืนสถาพร
 
แผนพัฒนาและคณะกรรมาธิการหลากหลายคณะ ได้รับการจัดตั้งและมอบหมายภารกิจเพื่อประกอบส่วนในการศึกษาและแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อผนึกให้วิสัยทัศน์ในการเชื่อมโยงและสร้างให้เกิดอาเซียนหนึ่งเดียว ซึ่งนั่นย่อมมิได้หมายถึงความพยายามที่จะจัดวางและก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมประสานการเดินทางสัญจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศเท่านั้น
 
หากความเชื่อมประสานโยงใยของอาเซียนยังหมายรวมถึงมิติด้านกิจการพลังงาน มิติทางการศึกษา ประเด็นว่าด้วยกฎระเบียบทางการค้า ระบบภาษี-ศุลกากร การสร้างฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และความเชื่อมโยงระดับประชาชนต่อประชาชนอีกด้วย
 
ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันนี้ ได้ทำให้เส้นแบ่งของความเป็นขอบนอก ถูกกระชับให้เข้าใกล้กับศูนย์กลางมากขึ้นทุกขณะ และช่วยลดช่องห่างของระดับขั้นการพัฒนาและความแปลกแยกแตกต่างที่ดำรงอยู่ในอาเซียนให้หดแคบลง ก่อนที่สำนึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายของการรวมกลุ่มอาเซียนจะได้รับการสถาปนาให้เกิดขึ้นมาแทนที่
 
ถนนหลากหลายเส้นทางที่กำลังได้รับการยกระดับมาตรฐานให้สามารถรองรับการสัญจรสำหรับทั้งผู้คนและสินค้า ที่กำลังไหล่บ่าและท่วมทะลัก เป็นประจักษ์พยานถึงพลวัตการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงผู้คนในอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน
 
ระบบโครงข่ายการคมนาคมทางบกไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะถนนสายหลักและสายรองที่กำลังถักทอประหนึ่ง ใยแมงมุม ที่แพร่กว้างไปทั่วภูมิภาคเท่านั้น หากยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและทางรถไฟคู่ขนานที่กำลังจะได้รับการพัฒนาให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งระบบเพื่อให้การเชื่อมโยงผู้คนในภูมิภาคที่ไพบูลย์นี้ ดำเนินไปอย่างไร้รอยต่อและข้ามพ้นข้อจำกัดในระยะยาว
 
เส้นทางถนนภายใต้กรอบของโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Network) ที่มีความยาวรวมเกือบ 4 หมื่นกิโลเมตร กระจายครอบคลุมพื้นที่เชื่อมต่ออาณาบริเวณของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าไว้ด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งในรูปธรรมการพัฒนาเพื่อเชื่อมประสานโครงข่ายการสัญจรทางบก แม้จะมีเส้นทางบางส่วนยังไม่ได้รับการพัฒนาและมีสภาพเป็นจุดเชื่อมโยงที่ขาดวิ่น ด้วยเหตุผลของข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสถานภาพด้านงบประมาณของประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศอยู่บ้างก็ตาม
 
โอกาสทางการค้า การหลั่งไหลของสินค้าและทรัพยากรทางการผลิตที่เคลื่อนผ่านเส้นทางหมายเลข 9 กำลังจุดประกายให้แผ่นดินที่เงียบสงบและหลบซ่อนอยู่ในชายขอบของประวัติศาสตร์อาเซียนถูกปลุกให้ตื่นขึ้น รับแสงอรุณแห่งความหวัง และอนาคตใหม่ที่กำลังจะเดินทางมาถึง
 
ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกบนเส้นทางหมายเลข 9 ( East-West Economic Corridor) ลากผ่านเมืองสำคัญใน 4 ประเทศบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของอาเซียนฝั่งตะวันตกที่เมือง Mawlamyine ในพม่า มุ่งหน้าสู่ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ของไทย ข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปในสะหวันนะเขต แดนสะหวัน ของ สปป.ลาว และลุล่วงต่อไปยัง ลาวบ๋าว กวางตรี เว้ และดานังในเวียดนาม ได้กลายเป็นเส้นทางที่เชื่อมให้ฝั่งทะเลอันดามัน จากอ่าว Martaban บรรจบเข้ากับอ่าวตังเกี๋ย ในทะเลจีนใต้ โดยไม่ต้องเดินเรืออ้อมแหลมมลายูเหมือนในอดีตกาล
 
ขณะที่เส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ขึ้นเหนือไปสู่จุดหมายปลางทางที่คุนหมิงในสาธารณรัฐประชาชนจีน (Singapore-Kunnming Rail Link: SKRL) ซึ่งจะเชื่อมโยงพื้นที่ของอาเซียนบนผืนแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิทั้งสิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-พม่า-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ให้ผูกพันเกี่ยวเนื่องไปสู่ดินแดนกว้างใหญ่แห่งโลกภายนอกด้วยการเชื่อมผ่านประเทศจีน ที่ฉายภาพแห่งความหวังอันมลังเมลือง แต่ยังไม่สามารถข้ามผ่านกระบวนการที่จะส่งผลให้ปรากฏขึ้นจริงได้ภายในเร็ววัน เนื่องเพราะข้อจำกัดเรื่องทุนและการรื้อสร้างระบบที่มีอยู่เดิมให้เข้ามาอยู่ในมาตรฐานเดียวกันในอนาคต
 
ความเชื่อมประสานเส้นทางคมนาคมทางบกเหล่านี้ กำลังทำให้อนุภูมิภาคที่กว้างใหญ่ถูกบีบรัดให้แคบลง และการเดินทางจากพื้นที่ด้านตะวันตกสุดที่เมืองไปยังตะวันออกสุด หรือแม้กระทั่งจากทางเหนือผ่านไปยังทางใต้ ใช้เวลาไม่นานไปกว่าการเดินทางสัญจรไปทำงานในแต่ละวันของคนในเมืองใหญ่เท่าใดนัก นี่คือการเชื่อมประสานผู้คนที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของอาเซียน
 
การเคลื่อนย้ายแรงงานหรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากข้ามผ่านเส้นพรมแดนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งอาจกลายเป็นภาพที่เจนตา และเป็นปกติวิถีที่พบเห็นได้โดยปราศจากความรู้สึกแปลกแยกในห้วงเวลานับจากนี้ เป็นการเคลื่อนย้ายของพลังการผลิตจำนวนมหาศาลที่จะหลอมรวมให้อาเซียนกลายเป็นหนึ่งเดียว กันมากขึ้นในระยะยาว เป็นความเชื่อมโยงในระดับประชาชนต่อประชาชน ยังไม่นับรวมความเชื่อมโยงเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาที่กำลังเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นทุกขณะ
 
การสัญจรไปมาหาสู่กันของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนได้กระชับสานสัมพันธ์ความรู้สึกที่ครั้งหนึ่งอาจจะแปลกแตกต่างให้ใกล้ชิดและเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น เป็นการทลายกำแพงแห่งความรู้สึกของความเป็นอื่น ให้กลาย เป็น “เรา” เป็น “หนึ่งเดียวกันแห่งอาเซียน” ที่พร้อมจะต้อนรับความแปลกแตกต่างใหม่ๆ ที่กำลังจะเดินทางเข้ามาถึงจากผู้สัญจรผ่านทางจากดินแดนแห่งอื่น
 
ขณะที่เส้นแบ่งของการเคลื่อนย้ายทุนได้ถูกทุบทลายให้กลายเป็นเรื่องราวในจินตนาการครั้งเก่า ภายใต้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้ทุนจากประเทศหนึ่งมุ่งหน้าผ่านไปยังอีกประเทศหนึ่งและหว่านกระจายเพื่อการต่อยอดผลิดอกออกผลเป็นไปได้อย่างสะดวกง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสส่งคำสั่งผ่องถ่ายข้อมูลไปยังจุดหมายปลายทาง
 
การปรากฏตัวขึ้นของสถาบันการเงิน หรือธนาคารเพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงธุรกรรมทางเศรษฐกิจการพาณิชย์ โดยผู้ประกอบการจากประเทศที่มีขีดขั้นการพัฒนาสูงกว่าขยายเข้าไปยังอีกประเทศอื่น เป็นประหนึ่งประจักษ์พยานที่ระบุเน้นย้ำให้ได้เห็นว่า บัดนี้ ทุนได้ข้ามพ้นพรมแดนที่เป็นเส้นแบ่งทางกายภาพไปสู่มิติใหม่ๆ ที่พร้อมรองรับความจำเริญเติบโตที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
 
แท่นขุดเจาะและสำรวจน้ำมันดำเนินกิจกรรมควบคู่ไปพร้อมๆ กับการดำรงอยู่ของโรงกลั่นน้ำมันที่ส่งผ่านเปลวเพลิงผ่านปล่องสูงของหอกลั่นสว่างไสวแลเห็นได้ถึงความโชติช่วงแม้จะอยู่ในระยะไกล ก่อนที่น้ำมันและก๊าซที่กลั่นได้จะถูกส่งผ่านไปสู่ทั้งกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และการบริโภคในระดับครัวเรือน
 
ถนนอาจเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนจักรกลทางเศรษฐกิจเหล่านี้ แต่การขนส่งในระบบท่อกำลังได้รับการพัฒนาและวางโครงข่ายให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
 
ท่อส่งก๊าซและเชื้อเพลิงเหล่านี้กำลังทำหน้าที่ไม่ต่างจากการเป็นเส้นเลือดที่พร้อมส่งผ่านพลังงานไปหล่อเลี้ยงทุกแหล่งอุตสาหกรรมและชุมชนของอาเซียนให้ได้รับทั้งความอบอุ่นและแสงสว่าง เพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
 
ขณะเดียวกัน บนโตรกเขาสูงตะหง่าน สายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งพาดผ่านป่าเขาและท้องทุ่งนาเขียวขจี ก็ปรากฏกายเป็นคู่ขนานเพื่อส่งผ่านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบางส่วนกำเนิดขึ้นจากโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ฟอสซิล ทั้งน้ำมันเตาและถ่านหิน ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งเป็นผลิตผลจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานมหาศาลของธรรมชาติจากแม่น้ำโขง ซึ่ง สปป.ลาว กำลังพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องนี้จนได้ชื่อว่าเป็น แบตเตอรี่แห่งเอเชีย 
 
เป็นขุมพลังแห่งการสร้างสรรค์ของอาเซียน ที่กำลังช่วยเติมพลังในการขับเคลื่อนองคาพยพของอาเซียนให้ก้าวเดินไปในบริบทแห่งการวัฒนาสถาพรครั้งใหม่ เป็นการวิวัฒน์ที่ดำเนินไปท่ามกลางการหลวมรวมและละลายความแปลกแยกแตกต่าง ให้ผนึกผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันแห่งอาเซียน
 
รอยยิ้มที่เกิดขึ้นบนใบหน้าของผู้คนตลอดทั่วทั้งอาเซียนนี้ คงเป็นประหนึ่งประจักษ์พยานแห่งมิตรไมตรีที่สะท้อนความหวัง ความรัก ความศรัทธา ที่กำลังจะช่วยให้อาเซียนก้าวเดินไปสู่แสงสว่างแห่งความจำเริญงอกเงยที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าพร้อมกัน