วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “สเตเดี้ยม วัน” ผุดสปอร์ตฮับ ฟื้นตำนานตลาดหลังสนามศุภฯ

“สเตเดี้ยม วัน” ผุดสปอร์ตฮับ ฟื้นตำนานตลาดหลังสนามศุภฯ

การเปิดตัว “สเตเดี้ยม วัน (Stadium One)” บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ บริเวณหลังสนามกีฬาแห่งชาติ โดยตั้งเป้าพัฒนาโครงการเป็นคอมมูนิตี้มอลล์แนวใหม่ “สเตเดี้ยม ออฟ ไลฟ์” (Stadium of Life) ศูนย์รวมค้าปลีกกีฬาและไลฟ์สไตล์ของคนรักการออกกำลังกายครบวงจร ด้านหนึ่งถือเป็นความท้าทายของกลุ่มนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ในการบุกเบิกตลาดอสังหาริมทรัพย์ฉีกแนว แต่อีกด้านหนึ่ง สเตเดี้ยม วัน กำลังจะพลิกฟื้นตำนานตลาดสนามศุภชลาศัยให้กลับมาคึกคักอีกครั้งภายใต้รูปแบบธุรกิจที่มีสีสันมากขึ้น

ตามแผนเบื้องต้น สเตเดี้ยม วัน ซึ่งกำหนดจะเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2560 จะประกอบด้วย 3 โซนหลัก คือ โซนร้านค้าปลีก (Sport Retail) มีร้านค้าปลีก จำนวน 129 ร้าน พื้นที่ค้าปลีก 5,000 ตารางเมตร โซนอาคารกีฬาในร่ม (Active Lifestyle) พื้นที่ 5,600 ตร.ม. และลานอีเวนต์ (Event in Action) พื้นที่อีก 2,000 ตร.ม.

พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด ผู้บริหารโครงการ Stadium One เปิดเผยว่า บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรรายใหญ่ในการเข้ามาใช้พื้นที่ เช่น วอริกซ์ สปอร์ต ซึ่งได้ลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย จะเข้ามาเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก ร้าน “ช้างศึกสโตร์” แห่งแรกในประเทศไทย แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาไทยต่างๆ และแบรนด์อินเตอร์ รวมถึงเอาต์เล็ตต่างๆ แบรนด์รองเท้ากีฬา แบรนด์จักรยาน เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์กีฬาที่ครบวงจรและสะท้อนเอกลักษณ์ตำนานตลาดหลังสนามศุภฯ ที่มีอายุยาวนานมากกว่า 20 ปี

ขณะเดียวกันภาพรวมตลาดสินค้าและบริการด้านสุขภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ในปี 2555 เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านในปี 2558 และเติบโตต่อเนื่องทุกปี

แน่นอนว่า ชื่อตลาดหลังสนามศุภฯ เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนเล่นกีฬาและบรรดาร้านจำหน่ายเครื่องกีฬา โดยถือเป็นแหล่งขายอุปกรณ์กีฬาเกือบทุกประเภทและราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้า 20-30% เป็นตำนานย่านธุรกิจเก่าแก่ยาวนานกว่า 20 ปี

ร้านดังๆ ในยุคช่วงปี 2540 อย่างเฟิร์ส สปอร์ต ยอดเยี่ยมสปอร์ต นกแก้วสปอร์ต รวมถึงบริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ซึ่งย้ายจากร้านย่านวงเวียน 22 กรกฎา มาตั้งที่บริเวณข้างสนามศุภชลาศัย ด้วยความคิดที่ว่า “ค้าเครื่องกีฬาต้องอยู่ใกล้สนามกีฬา” และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “แกรนด์สปอร์ต” มีชื่อเสียงโด่งดังได้รับการยอมรับทั้งในกลุ่มลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติ

ในยุคหลังๆ ตลาดหลังสนามศุภฯ เกิดร้านใหม่ๆ มากขึ้น เช่น สปอร์ต รูม, ซอคเกอร์ สตูดิโอ, ไทเกอร์ สปอร์ต เจแปน รวมถึงอดีตนักร้องเอเอฟ ซีแนม สุนทร ที่เข้ามาเปิดร้านขายเสื้อบอล” fabric z club 89 ที่จุฬาซอย 4”

แต่เนื่องจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวางมาสเตอร์แพลนจะพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ตลอดแนวถนนบรรทัดทองจนถึงถนนจุฬา ซอย 12 ให้เป็นพื้นที่กีฬาครบวงจร หรือ “Sport Zone” โดยพยายามดึงกรีฑาสถานแห่งชาติคืนจากกรมพลศึกษา เพื่อพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดเป็นจุดศูนย์กลางและศูนย์รวมกีฬาทุกประเภท

ปัจจุบันกรีฑาสถานแห่งชาติประกอบด้วยพื้นที่หลักๆ คือ สนามศุภชลาศัย ซึ่งเป็นสนามกีฬาหลักของกรีฑาสถานแห่งชาติ มีความจุผู้ชมรวม 19,793 ที่นั่ง

สนามเทพหัสดิน เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง มีลู่วิ่งสำหรับจัดการแข่งขันกรีฑา ใช้ในการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาทั่วไป ความจุรวม 6,378 ที่นั่ง

สนามจินดารักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์สาธิตและฝึกซ้อมกีฬาชายหาดแห่งชาติ ในอดีตเป็นสนามกีฬากลางแจ้ง สำหรับใช้ในการแข่งขันระดับรองและการฝึกซ้อมกีฬาทั่วไป

สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ เป็นสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานแข่งขัน พร้อมหอกระโดดและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงมีอัฒจันทร์สองฝั่ง ใช้ในการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาทางน้ำ

อาคารกีฬานิมิบุตร เป็นสนามกีฬาในร่ม สำหรับการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาในร่ม และอาคารจันทนยิ่งยง เป็นสนามกีฬาในร่ม สำหรับการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาในร่ม ตลอดจนฝึกกายบริหาร นอกจากนี้มีสนามวอร์ม 200 เมตร เป็นสนามฝึกซ้อมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ระหว่างสนามศุภชลาศัย และสนามเทพหัสดิน รวมทั้งลานอุทยานนันทนาการและลานกีฬาอเนกประสงค์ เป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งอยู่หน้าอาคารกีฬานิมิบุตร

อย่างไรก็ตาม สนามศุภฯ ในยุคนี้เงียบเหงาต่างจากอดีต ทั้งในแง่การแข่งขันกีฬา แหล่งท่องเที่ยว และตลาดธุรกิจเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬา เนื่องจากปัญหาการทวงคืนพื้นที่ การเจรจาหาข้อตกลงกันระหว่างจุฬาฯ กับกรมพลศึกษาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ทำให้สนามกีฬาแห่งชาติไม่ได้รับการพัฒนา ทั้งที่เป็นทำเลใจกลางเมืองเกรดเอ ย่านธุรกิจ ย่านท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและแหล่งค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปกรณ์กีฬาขนาดใหญ่

ก่อนหน้านี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ วางแผนพัฒนาพื้นที่ระหว่างถนนจุฬาลงกรณ์ ซอย 10 กับซอย 12 ให้เป็นแหล่งศูนย์รวมสินค้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาครบวงจร ประกอบด้วยร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพที่สำนักงานฯ คัดเลือกไว้ประมาณ 56 ร้านค้า เช่น ร้านตัดเสื้อผ้ากีฬา ชุดนักกีฬาสำเร็จรูปทุกประเภท ร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาต่างๆ ร้านจำหน่าย ถ้วย และโล่รางวัลต่างๆ ภายใต้โครงการ “CU Sport Zone” โดยปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ การเดินท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า และทางเท้า สร้างอาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาและความพยายามพลิกโฉมพื้นที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จึงเปิดทีโออาร์ให้บริษัทเอกชนเข้ามาพัฒนา จนกระทั่งบริษัท เดอะ สปอร์ตโซไซตี้ คว้าสัมปทานเช่าพื้นที่ขนาด 10 ไร่ ผุดโครงการ “สเตเดี้ยม วัน” สานต่อแนวคิด Bike and Run เพื่อรักษาเอกลักษณ์และเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ในกรีฑาสถานแห่งชาติ เพราะปัจจุบันมีกลุ่มนักวิ่งและนักปั่นจักรยานเข้ามาใช้บริการในสนามเทพหัสดินจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากวงการกีฬาระบุว่า จุฬาฯ พยายามทวงคืนกรีฑาสถานแห่งชาติ โดยเฉพาะสนามศุภชลาศัยคืนจากกรมพลศึกษา เพื่อเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาพัฒนาภายใน 3 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่กรมพลศึกษาขาดงบประมาณ นั่นทำให้สนามศุภฯ ขาดความคึกคักและไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

การดึง “สเตเดี้ยม วัน” เข้ามาเป็นแม็กเน็ตหลักตัวใหม่และเดินหน้าตามแผนพัฒนาพื้นที่จนถึงจุฬาซอย 12 แหล่งรวมร้านค้ากีฬารายย่อยที่เหลืออยู่หนาแน่นที่สุด จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญบีบกรมพลศึกษา ซึ่งขณะนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตัดสินใจว่าจะยอมคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ หรือรัฐจะยอมทุ่มงบก้อนโตพลิกโฉม “สนามศุภฯ” กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

จาก “วังวินด์เซอร์” สู่ “กรีฑาสถาน”

กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) มีจุดเริ่มต้นจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งปกติจัดขึ้นในสนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาในปี 2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก มีดำริจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง และสโมสรสถานลูกเสือ จนกระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2478 ระยะเวลา 29 ปี โดยรื้อถอนพระตำหนักวินด์เซอร์และก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ มีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์หรือพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2480

การใช้สนามกรีฑาสถานครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ.2481 ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ สนามกรีฑาสถานจัดสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานราวปี 2484 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า “สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ” ประกอบด้วย สนามฟุตบอลพื้นหญ้าขนาดมาตรฐานพร้อมลู่วิ่งรอบนอก, อัฒจันทร์ทิศตะวันตก จำนวน 20 ชั้น ตอนกลางมีที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ เบื้องหลังประดับตราพระมหาพิชัยมงกุฎและอุณาโลม พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย มีหลังคารูปเพิงแหงนไม่มีเสาค้ำปกคลุมตลอดแนว และอัฒจันทร์ทิศเหนือ จำนวน 20 ชั้นเท่ากัน

ส่วนด้านนอกสนาม ที่ยอดเสามุมซ้ายขวาของมุขกลาง มีรูปปั้นนูนสูงขนาดใหญ่ เป็นภาพพระพลบดีทรงช้างไอยราพต สัญลักษณ์ประจำกรมพลศึกษา ส่วนริมสุดทางซ้ายขวา ขนาบด้วยหอคอยสองข้าง พร้อมประตูทั้งสองฝั่ง ทิศตะวันออกเรียกว่าประตูช้าง ทิศตะวันตกเรียกว่าประตูไก่ และมีห้องทำงานกับห้องน้ำอยู่ในช่วงเชื่อมต่อระหว่างมุขกลางและหอคอยทั้งสองข้าง ขณะที่การก่อสร้างอัฒจันทร์ทิศตะวันออกและทิศใต้ เสร็จสมบูรณ์ตามมาในภายหลัง

ปี 2551 มีการปรับปรุงบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติครั้งใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ประกอบด้วย ส่วนหน้าปะรำที่ประทับในสนามศุภชลาศัย ประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง หน้ามุขทางขึ้น ตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ที่สหราชอาณาจักร ติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ทั้งหมด และปรับพื้นสนามหญ้าใหม่ ในส่วนสนามเทพหัสดิน อาคารกีฬานิมิบุตร และอาคารจันทนยิ่งยง มีการปรับปรุงตกแต่ง ทำพื้นสนามหญ้า ตลอดจนปรับปรุงพื้นถนนภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติทั้งหมด

ปัจจุบัน สนามศุภชลาศัยถือเป็นสนามกีฬากลางแจ้งที่มีอัฒจันทร์ล้อมรอบ มีลู่วิ่งสังเคราะห์ มีเก้าอี้นั่งบรรจุคนได้ 35,000 คน และถือเป็นสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติจัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมากมาย อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา และได้คืนพื้นที่บางส่วนเป็นที่ทำการของกรมพลศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสมาคมเกี่ยวกับกีฬา และนันทนาการอื่นๆ

ใส่ความเห็น