วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ฤทธิ์ ธีระโกเมน ปรับลุค MK ยุคใหม่ ส่งต่อ “เจน 3”

ฤทธิ์ ธีระโกเมน ปรับลุค MK ยุคใหม่ ส่งต่อ “เจน 3”

“MK ยุคต่อไปต้องมาจาก New Generation เรากำลังพัฒนาคนรุ่นใหม่ หัวคิดใหม่และมีพลัง…”

ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ย้ำโรดแมพที่วางไว้หลังจากลุยสร้างอาณาจักรธุรกิจร้านอาหารมาอย่างยาวนาน ติด 1 ใน 20 มหาเศรษฐีไทย และตั้งเป้าต้องการเป็นผู้นำในฐานะ Restaurant Food Chain Expert เป็น Multi Brand Company ที่มีแบรนด์ร้านอาหารครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ รองรับทุกตลาดและทุกกลุ่มเป้าหมาย

“เราเป็น Creative Founder ตอนนี้ยังไม่มีโอกาสเกษียณ 100% แต่ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เพื่อเรียนรู้และก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งไม่ใช่ง่าย ประสบการณ์มากมาย บางครั้งต้องใช้เวลาเรียนรู้นานถึง 10 ปี”

ทั้งนี้ เส้นทางของฤทธิ์ ธีระโกเมน เริ่มต้นชัดเจนหลังเปิดร้านสุกี้เอ็มเคสาขาแรกในศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยฉีกแนวคู่แข่งในเวลานั้น เปลี่ยนจากหม้อสุกี้เตาแก๊สเป็นเตาไฟฟ้า และใช้เวลาไม่กี่ปีปลุกปั้นแบรนด์ “เอ็มเคสุกี้” เป็นเจ้าตลาด “สุกี้หม้อไฟ” ลุยขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

ปี 2549 เอ็มเคคว้าสิทธิ์แฟรนไชส์ในการดำเนินกิจการร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” จาก Plenus Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น เปิดร้านอาหารยาโยอิสาขาแรกในประเทศไทย โดยเน้นแนวคิดการให้บริการรวดเร็ว มีคุณภาพ ปรุงใหม่ทุกจาน และราคาสมเหตุสมผล

จาก “ยาโยอิ” ขยายสู่ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ ราเมน ในปี 2555 พร้อมๆ กับเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นมิยาซากิ เทปปันยากิ นำเสนอเมนูกระทะร้อน และชิมลางพัฒนารูปแบบร้านกาแฟและเบเกอรี่ภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า “เลอ เพอทิท”

ปี 2556 ฤทธิ์และยุพิน ธีระโกเมน ตัดสินใจเปิดร้านอาหารไทย ณ สยาม ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา บางนา บริการอาหารไทยเต็มรูปแบบ เพื่อสะท้อนภาพร้านอาหารไทยที่เป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ MK สาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 3 ของป้าทองคำ เมฆโต โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางถึงสูง รวมทั้งเปิดร้านอาหาร เลอ สยาม บริการอาหารไทยเต็มรูปแบบเช่นกัน แต่จับกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม เช่น ชาวต่างชาติ กลุ่มลูกค้ารายได้สูงและต้องการใช้ร้านเป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง

ขณะเดียวกัน เร่งสร้างเซกเมนต์ใหม่ให้ร้านเอ็มเคสุกี้ เพื่อขยายฐานลูกค้าโดยวาง “เอ็มเคสุกี้” เป็นร้านสำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนทำงาน รายได้ระดับปานกลางถึงสูง ส่วน “เอ็มเค โกลด์” จับกลุ่มรายได้ค่อนข้างสูง เน้นอาหารเกรดพรีเมียมและต้องการใช้ร้านเอ็มเค โกลด์ เป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง เน้นความหรูหรา

ปัจจุบัน เอ็มเคกรุ๊ปมีร้านอาหารในเครือรวมมากกว่า 600 สาขา แยกเป็นแบรนด์เอ็มเค 425 สาขา ยาโยอิ 158 สาขา ฮากาตะ 3 สาขา มิยาซากิ 26 สาขา เลอ สยาม 4 สาขา ณ สยาม 1 สาขา และ เลอ เพอทิท 3 สาขา นอกจากนี้ มีสาขาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นรูปแบบการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ แบรนด์เอ็มเคและยาโยอิอีกราว 46 สาขา ได้แก่ ญี่ปุ่น 32 สาขา เวียดนาม 5 สาขา ลาว 2 สาขา สิงคโปร์ 7 สาขา

เบื้องต้น ในปี 2560 บริษัทวางแผนขยายสาขาใหม่อย่างน้อยอีก 40 สาขา แบ่งเป็น ร้านเอ็มเค สุกี้ 15 สาขา ร้านยาโยอิ 20 สาขา และร้านมิยาซากิ 5 สาขา เงินลงทุนนรวม 400-500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีสาขาทั้งหมดภายในสิ้นปี 60 เกือบ 700 สาขา

ขณะเดียวกัน เร่งรุกเปิดสาขาในกลุ่ม CLMV มากขึ้น เช่น พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจในธุรกิจอาหารอย่างแท้จริง

“ผมตั้งเป้าหมายระยะยาวภายใน 7 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนสาขาทั้งหมด 1,000 สาขา เพื่อกระจายสาขาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และเพื่อการเติบโตของบริษัท รวมทั้งยังหาโอกาสซื้อกิจการร้านอาหาร (M&A) ของต่างประเทศเข้ามา เพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจและขยายตลาดในต่างประเทศให้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีดีลเจรจาหลายสิบราย ทั้งฟาสต์ฟู้ด ร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ และเน้นแบรนด์อินเตอร์ เพราะหวังผล 2 ต่อ ได้ทั้งเชนและภาพลักษณ์อินเตอร์แบรนด์ เพื่อรุกต่างประเทศเร็วขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม โรดแมพระยะยาวทั้งหมดกำลังเดินไปพร้อมๆ กับการจัดทัพองค์กรและผลักดันทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยเฉพาะการเขย่าองค์กรผสมผสานแนวคิดและการทำงานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

การเข้ามาของกลุ่มเจนเนอเรชั่นที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นทายาททางฝั่งของฤทธิ์ อย่างทานตะวัน ธีระโกเมน ซึ่งล่าสุดเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธีร์ ธีระโกเมน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสาขา แคทลียา ธีระโกเมน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และพิฑูรย์ มณีไพโรจน์ ผู้จัดการสถาบันฝึกอบรมเอ็มเค

หรือฟากของสมชาย หาญจิตต์เกษม น้องชายของยุพิน ซึ่งเป็นทั้งภรรยาของฤทธิ์และลูกสาวป้าทองคำ ได้แก่ สมาชิก หาญจิตต์เกษม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสาขา และวรากร หาญจิตต์เกษม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Research and Development

ทุกคนต้องเรียนรู้งานอย่างหนักตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อพิสูจน์ฝีไม้ลายมือและกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งใช่ว่าทุกโครงการจะผ่านไฟเขียวทั้งหมด แต่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองที่เรียกว่า “Strategic Group” ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารหลัก 8-10 คน มีฤทธิ์ สมชาย และยุพิน นั่งเป็นที่ปรึกษาร่วมอยู่ด้วย เพื่อถกเถียงและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ ก่อนสรุปผล

ไม่เว้นแม้กระทั่ง แฟลกชิปสโตร์ “MK Live” สาขาแรกในศูนย์การค้า ดิ เอ็ม ควอเทียร์ โปรเจ็กต์ใหญ่ของทานตะวันและกลุ่มเจน 3 ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 20 ล้านบาท มากกว่าการเปิดร้านเอ็มเคสุกี้เดิมถึงเท่าตัว เพราะตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์จนถึงเปิดร้าน ทีมเจน 3 ต้องเสนอและผ่าน Strategic Group ซึ่งทานตะวันกล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาของเอ็มเคไลฟ์ นอกจากกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ของกลุ่มเจน 3 ความสมบูรณ์แบบขององค์ประกอบต่างๆ เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ทำให้กระบวนการทำงานทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี

ขณะที่ฤทธิ์ยืนยันว่า เอ็มเคไลฟ์เป็นภาพลักษณ์ใหม่ของเอ็มเค และเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างจุดแข็งใหม่ ทำให้เอ็มเคกรุ๊ปเติบโตต่อไปได้

จาก Creative Founder สู่ New Generation เอ็มเคยุคใหม่จาก “เจน 2” สู่ “เจน 3” ได้ฤกษ์พร้อมสู้ศึกธุรกิจแล้ว

ใส่ความเห็น