วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “มารุเซ็น” ความพยายามครั้งใหม่ของ “สิงห์”

“มารุเซ็น” ความพยายามครั้งใหม่ของ “สิงห์”

 
หากจะย้อนเวลาถอยหลังไปในช่วง 10 ปีให้หลัง ตลาดเครื่องดื่มนอน-แอลกอฮอล์ของไทยที่มีสีสันมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่เจ้าตลาดดังอย่างโออิชิ และอิชิตัน จะงัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาสู้กันอย่างสนุก ในช่วงเวลาหนึ่งสิงห์เองก็เคยส่งชาพร้อมดื่มหวังแบ่งพื้นที่ทางตลาดของเครื่องดื่มชา แต่ดูการมาในครั้งนั้นที่มาพร้อมกับประสบการณ์อันน้อยนิดเกินไปเมื่อชาเขียวพร้อมดื่มของสิงห์ภายใต้แบรนด์ “โมชิ” ไม่อาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้แม้แต่น้อย ทำให้สิงห์ต้องยกเลิกการผลิตชาเขียวไปในเวลาอันรวดเร็ว
 
ดูเหมือนว่าในช่วงเวลานั้นสิงห์อาจจะยังไม่พร้อมสำหรับตลาดนอน-แอลกอฮอล์ แต่สิงห์คงยังไม่เข็ดเมื่อครั้งนี้ยักษ์ใหญ่ในตลาดเครื่องดื่มน้ำเมากลับมาอีกครั้งพร้อมด้วยพันธมิตรจากแดนปลาดิบที่เรียกตัวเองว่าเป็น Expert ในด้านชาเขียวจากจังหวัดชิสึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาร่วมทุนพร้อมทั้งสร้างฐานการผลิตบนพื้นที่ของไร่สิงห์ ปาร์ค เชียงราย
 
บริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสิงห์ คอร์เปอเรชั่น กับบริษัท Maruzen Tea Japan (มารุเซ็น ที เจแปน) เมื่อหกเดือนก่อน ด้วยทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท โดยสิงห์ถือหุ้น 51% และ Maruzen Tea Japan ถือหุ้น 49% เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท ที่ Maruzen Tea Japan ออกมาตั้งฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทมารุเซ็น ฟู้ด มีนายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ และ Mr.Katsutoshi Furuhashi ประธาน Maruzen Tea Japan มานั่งตำแหน่ง Director
 
คำถามที่ตามมาเมื่อครั้งนี้เป็นการออกจากบ้านเกิดของตัวเองเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีนั้น Katsutoshi Furuhashi ให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ว่า “เหตุที่ตัดสินใจเลือกสิงห์เพราะชาในไร่สิงห์ ปาร์ค เชียงราย มีการควบคุมคุณภาพของชาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อีกทั้งกระแสความนิยมในอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นที่คนไทยให้การยอมรับ” นอกจากนี้บริษัท Maruzen Tea Japan ที่ติดอันดับ Top 5 ของญี่ปุ่น ต้องการขยายฐานการค้ามายังประเทศที่กำลังจะเข้าสู่ AEC เพราะมองเห็นว่ายังมีอนาคตและน่าลงทุน
 
แต่การแตกไลน์ธุรกิจชาเขียวในครั้งนี้กลับไม่ได้มาในรูปแบบของชาเขียวบรรจุขวดพร้อมดื่ม ที่มีคู่แข่งในตลาดอยู่ก่อนแล้ว หากแต่นำเอาความถนัดของ Maruzen Tea Japan ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การผลิตชาเขียวมัทฉะ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่จะมาในแบรนด์ มารุเซ็น จะมาในรูปแบบชาเขียวชนิดผงพร้อมชง ซึ่ง Katsutoshi Furuhashi มองว่าหากทำในสิ่งที่ตนเองถนัดนั้นน่าจะไปได้ด้วยดี 
 
หากแต่โรงงานขนาดเล็กที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไปได้ไม่นานและกำลังเริ่มต้นกระบวนการผลิตชาเขียวนั้น เป้าประสงค์ของทั้งสองบริษัทต่อปริมาณการผลิตในครั้งแรกคือ 140 ตันต่อปี และจะขยายกำลังการผลิตถึง 200 ตันภายในสิ้นปี 2558 ซึ่งวัตถุดิบที่เป็นชานั้นจะนำมาจากชาที่ปลูกอยู่ในไร่ชาสิงห์ ปาร์ค เชียงราย ที่มีพื้นที่ปลูกชาทั้งสิ้น 600 ไร่ แต่ชาที่นำมาใช้ในโรงงานแห่งนี้เพียง 200 ไร่ ซึ่งเดิมพื้นที่ตรงนี้สิงห์ได้ปลูกข้าวบาร์เลย์ แต่อากาศไม่เอื้ออำนวยจึงต้องเลิกไป
 
ดังนั้นหากจะมองในมุมของคนนอกแล้วชาเขียวมัทฉะในตลาดไทยเองดูจะไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคสักเท่าไหร่ ทั้งการที่ไทยไม่มีวัฒนธรรมการชงชาแล้ว รูปแบบของชาพร้อมดื่มดูจะสะดวกและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ชอบความสะดวกสบายของคนไทยเสียมากกว่า แต่ในมิติของมารุเซ็น ฟู้ด นั้น ผลผลิตที่ได้จากโรงงานที่เชียงรายแห่งนี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งออก โดยมีปลายทางอยู่ที่ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ โดยจะเริ่มต้นการส่งออกภายในต้นปีหน้า 
 
ซึ่งเดิมที Maruzen Tea Japan มีอัตราส่วนในการส่งออกอยู่ 10% ทั้ง สหรัฐอเมริกา เบลเยียม อังกฤษ ไต้หวัน และฮ่องกง ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยปีที่แล้ว Maruzen Tea Japan มียอดขายทั้งสิ้น 1 พันล้านเยน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงงานใหม่แห่งนี้จะมาทดแทนชาที่จะส่งออกจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น 10% ซึ่งจะส่งออกในรูปแบบของ Food Service เป็นหลัก เช่น ร้านกาแฟ เบเกอรี่ หรือร้านอาหารญี่ปุ่น ทั้งนี้จะส่งเป็นแบรนด์มารุเซ็น และในส่วนของตลาดรีเทลนั้นน้อยกว่า ซึ่งราคาจำหน่ายถูกกว่าแบรนด์นำเข้าอื่นๆ ประมาณ 20-30%  ทั้งนี้ความคาดหวังในรายได้ของมารุเซ็นจนถึงสิ้นปี 2558 นั้นอยู่ที่ 350 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี 
 
สำหรับตลาดชาฟู้ดเซอร์วิสประเภทชาเขียวญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้นมีผู้นำเข้ามาทำตลาดประมาณ 10 กว่าราย โดยมีระบบโควตาปีละประมาณ 600 กว่าตัน ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีนำเข้า 20% และส่วนที่ไม่ใช่โควตานั้น เสียภาษีนำเข้าสูงถึง 60-70%  ทั้งนี้การสร้างฐานการผลิตชาเขียวญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตด้วย
 
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สิงห์ร่วมทุนกับญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่ใช่การผลิตชาเขียวในรูปแบบชาบรรจุขวดพร้อมดื่ม และกลับเข้ามาในตลาดชาเขียวที่กำลังระอุอีกครั้ง อาจเป็นเพราะการเป็นพาร์ตเนอร์ให้กับอิชิตัน ซึ่งอิชิตันได้ดึงสิงห์ให้เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ช่วยกระจายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มภายใต้แบรนด์อิชิตัน ซึ่งนี่เป็นศักยภาพที่ดีที่มีเอเย่นต์ค้าส่งในมือทั่วประเทศ 
 
ความน่าสนใจของมารุเซ็น ฟู้ด อยู่ที่เรื่องของอนาคต เพราะหากผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์มารุเซ็นได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี และมีโอกาสที่จะแตกไลน์การผลิต จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่สิงห์จะผลิตชาเขียวพร้อมดื่มอีกครั้ง และหากเป็นอย่างนั้นจริง ความเป็นพาร์ตเนอร์ระหว่างสิงห์กับอิชิตันอาจจะจบลงแบบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ เมื่อต้องเปลี่ยนสถานะจากพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจมาเป็นคู่แข่ง
 
ปัจจุบันชาเขียวเป็นรสชาติใหม่ที่ไทยให้การยอมรับและกลายเป็นเครื่องดื่มแก้วโปรดของใครหลายคน แต่จะมีสักกี่คนที่จะชื่นชอบรสชาติชาเขียวญี่ปุ่นรสชาติดั้งเดิมที่มีรสจืด หรือไม่ก็ขม การติดเครื่องดื่มหวานๆ ของคนไทยจะเป็นอุปสรรคชิ้นโตสำหรับมารุเซ็นหรือไม่ หรือว่าสิงห์และ Maruzen Tea Japan ควรจะจับเทรนด์เครื่องดื่มสุขภาพ ชูประเด็นผลสำรวจสุขภาพของคนจากชิสึโอกะ ที่เป็นต้นกำเนิดของ Maruzen Tea Japan ที่มีสุขภาพดีกว่าจังหวัดอื่นในญี่ปุ่น 
 
ความพยายามครั้งใหม่ของสิงห์กับเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ คงต้องรอดูกันว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะออกหัวหรือก้อย หรือสิงห์ควรจะเติบโตกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า
 
Relate Story