วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > New&Trend > สกสว.ชูวิจัยและนวัตกรรมสู่ผู้นำของภูมิภาค ลดต้นทุนโลจิสติกส์เหลือร้อยละ 11 ต่อ GDP

สกสว.ชูวิจัยและนวัตกรรมสู่ผู้นำของภูมิภาค ลดต้นทุนโลจิสติกส์เหลือร้อยละ 11 ต่อ GDP

สกสว. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “มองภาพอนาคต ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ” หวังเป็นผู้นำของภูมิภาค ชูวิจัยและนวัตกรรมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและลดต้นทุนระบบขนส่งเหลือร้อยละ 11 ต่อ GDP

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “การจัดการความรู้และบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ” หัวข้อ “การมองภาพอนาคต (Foresight) ในภาพของ ววน. ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศในอนาคต” ผ่านแอพพลิเคชั่นซูม โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ นักวิชาการ ร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โอกาสนี้ ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความเห็นที่สามารถสะท้อนภาพอนาคตด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย และกระบวนการสำคัญในการจัดทำแผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ที่ สกสว.ได้ดำเนินการ และอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการใช้ฐานความรู้ ความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาและออกแบบกำหนดเป็นแผนงานการวิจัย โจทย์การวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 5 “ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค” อีกทั้งยังยกระดับบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมและโลจิสติกส์ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความต้องการของประเทศ ประการสำคัญ “โลจิสติกส์” เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เชื่อมโยงกับมิติต่างๆ

ด้าน รศ. ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบขนส่งของประเทศไทย ว่ามีความพยายามที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย ในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศที่กลับมาขยายตัวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 13.8-14.0 ต่อ GDP อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงหากเทียบกับประเทศต่าง ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องกำหนดเป้าหมายของการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ อีก 10 ปีข้างหน้าให้ลดลงเหลืออยู่ที่ร้อยละ 11 ต่อ GDP โดยนับจากปี 2565 ถึงปี 2575 เพื่อให้ไทยเป็นประเทศการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค และถึงแม้การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นเพียงความฝัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ขณะที่ ผศ. ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้จัดอันดับด้านโลจิสติกส์ (The Logistics Performance Index หรือ LPI) ประจำปี 2018 จากการสำรวจ 160 ประเทศ ให้ไทยเป็นประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์สูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียน มีคะแนนรวมทั้งสิ้น 3.41 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5.0 จัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ที่มีคะแนนรวมทั้งสิ้น 4.00 คะแนน เป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน

 

สำหรับแนวทางของการรักษาอันดับประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์สูงอันดับ 2 ของอาเซียนนั้น ผศ. ดร.ธารทัศน์นำเสนอผลการตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอก (Environmental Scanning) ตามกรอบ PESTEL Analysis ใน 6 มิติ คือ 1. ด้านการเมือง โดยดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางน้ำและระบบรางมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมระบบขนส่งสมัยใหม่ 2. ด้านเศรษฐกิจ เช่น สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สนับสนุนการเข้าถึงทางการเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ปรับปรุงการใช้ข้อมูลแบบเปิดในประเทศสมาชิกอาเซียน สนับสนุนการจัดการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียน 3. ด้านสังคม เช่น การขยายตัวของเมือง การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลางซึ่งอยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจแบบใหม่ 4. ด้านเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่น ระบบอัตโนมัติของเทอร์มินอลคอนเทนเนอร์ การใช้ระบบการจัดการแบบหุ่นยนต์และควบคุมจากระยะไกล 5. ด้านกฎหมาย เช่น ใบอนุญาตผู้ประกอบการทางราง กรอบระยะเวลาในการจัดเก็บสินค้าในคลัง และ 6. ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การรถไฟพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดค่าพลังงานตามนโยบาย Net Zero Emission ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้นอกจากจะช่วยให้ประเทศไทยรักษาอันดับประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์สูงแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์อีกทางหนึ่งด้วย

ใส่ความเห็น