วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > บทเรียนการท่องเที่ยว กรณีศึกษาศรีลังกาสู่ไทย

บทเรียนการท่องเที่ยว กรณีศึกษาศรีลังกาสู่ไทย

เหตุระเบิดถล่มเมืองหลายจุดที่ศรีลังกาในช่วงเทศกาลอีสเตอร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนจำนวนมากแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง แรงระเบิดยังได้ทำลายและสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของศรีลังกาที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนักอีกด้วย

ผลกระทบจากแรงระเบิดและเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้น ได้ฉุดให้การท่องเที่ยวของศรีลังกาตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และถูกผลักให้หวนสู่ภาวะซบเซาไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่ประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษอีกครั้ง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นิตยสารท่องเที่ยว Lonely Planet ได้ยกให้ศรีลังกาเป็นจุดหมายในการเดินทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจและน่าท่องเที่ยวที่สุดในปี 2019 ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ผสมผสานกันในลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรม (multi-cultural society) ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามและเข้าถึงได้ไม่ยาก และนิสัยใจคอของประชาชนในพื้นถิ่นที่พร้อมให้การต้อนรับอาคันตุกะจากต่างแดน

ข้อสังเกตของ Lonely Planet ดังกล่าวเกิดขึ้นจากฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าภายหลังการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธชาวทมิฬที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 3 ทศวรรษ ศรีลังกาได้เร่งฟื้นฟูระบบการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะรถไฟอย่างขนานใหญ่ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางการท่องเที่ยวเพิ่มปริมาณขึ้นด้วยอัตราเร่งควบคู่กับการเกิดขึ้นของโรงแรมที่พักที่เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย

การฟื้นคืนขึ้นมาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีลังกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สามารถประเมินได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าสู่ศรีลังกาจากจำนวน 4.5 แสนคนในปี 2009 มาสู่ที่ระดับ 2.33 ล้านคนในปี 2018 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ควบคู่กับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาลศรีลังกาที่มุ่งหมายให้การท่องเที่ยวเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้ได้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของศรีลังกามีมูลค่ารวม 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี และนับเป็นจักรกลที่ช่วยเสริมสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจให้กับศรีลังกาอย่างมีนัยสำคัญ

แต่พลันที่เสียงระเบิดและฝุ่นควันแห่งความสูญเสียอุบัติขึ้น ภาพฝันและความหวังที่จะพึ่งพาการท่องเที่ยวไปสู่อนาคตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของศรีลังกาก็มลายลงไปไม่ต่างจากซากปรักหักพังที่ได้รับผลจากแรงระเบิด ห้องพักต่างๆ ถูกยกเลิก เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังกังวลเรื่องความปลอดภัย

บริษัทที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวประเมินว่ายอดจองห้องพักของศรีลังกาลดลงมากกว่าร้อยละ 186 ภายหลังเหตุการณ์โจมตีที่มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 250 คน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการยกเลิกการจองที่พักโดยเฉลี่ยอยู่ในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 70 โดยกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกที่พักมากที่สุดในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 70 อีกด้วย

ความสำคัญจำเป็นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีลังกาได้รับการสะท้อนออกมาจากทัศนะของ ไมตรีพละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ระบุว่า เศรษฐกิจศรีลังกาจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้งได้ ก็ต่อเมื่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของศรีลังกาสามารถกลับมาคึกคักและดำเนินไปได้ในสภาพก่อนที่จะมีการโจมตี ซึ่งมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการนำประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่งสำหรับศรีลังกา

ความเป็นไปของสถานการณ์ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในเร็ววัน ทำให้สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมของศรีลังกาประมาณการว่าเหตุโจมตีในเดือนเมษายนได้สร้างความสูญเสียต่อธุรกิจโรงแรมไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการแต่ละรายต่างต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางความว่างเปล่าและหายไปของนักท่องเที่ยว

ผู้ประกอบการโรงแรมแต่ละรายไม่ได้ร้องขอเพียงเฉพาะความปลอดภัยจากรัฐเท่านั้น หากแต่ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนทางการเงินและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพยุงให้ธุรกิจของพวกเขาดำเนินต่อไปได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนพร้อมที่จะปิดกิจการและถอยห่างออกไปจากธุรกิจนี้แล้ว

เหตุระเบิดอาจทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของศรีลังกาหยุดชะงัก หากแต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่สังคมไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กลับพบว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแม้จะมีปริมาณมากถึง 10.8 ล้านคน แต่ก็เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่ในมิติของรายได้ก็ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าร้อยละ 1 ที่ระดับร้อยละ 0.38 ด้วยจำนวนรายได้ 5.73 แสนล้านบาท

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการอยู่ที่การชะลอตัวลดลงของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งนับเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยรวม 3.12 ล้านคน เป็นการลดลงในอัตราร้อยละ 1.72 ซึ่งก่อให้เกิดรายได้รวม 1.72 แสนล้านบาท ลดลงในอัตราร้อยละ 1.82 ด้วย

การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่ประเทศไทย ดูจะเป็นการเดินสวนทางกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่มีการเติบโตสูงขึ้น แต่นั่นก็มิได้ทำให้เป้าหมายด้วยจำนวนและรายได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางเป้าหมายไว้จะสำเร็จลุล่วงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2562 จะต่ำกว่าเป้าต่อเนื่องจากที่เคยต่ำกว่าเป้าประมาณการมาแล้วในปี 2561 ที่ผ่านมา

ความกังวลใจและแรงฉุดรั้งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย อาจไม่ใช่สถานการณ์ความรุนแรงหรือความพลิกผันทางการเมือง หากแต่ในอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศต้องอาศัยแรงกระตุ้นและมาตรการส่งเสริม ในขณะที่การแข่งขันในธุรกิจการท่องเที่ยวมีแนวโน้มรุนแรงหนักหน่วงและมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างยากปฏิเสธ

การเกิดขึ้นของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในระดับนานาชาติ ทั้งในพื้นที่ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง ดูจะเป็นแรงกดทับที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยต้องแสวงหาจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ มาสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้น หากยังหวังที่จะพึ่งพากลไกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

หากแต่ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจประการหนึ่งในกรณีเช่นว่านี้ ย่อมไม่ได้อยู่ที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดรายได้เข้าประเทศเท่านั้น หากแต่กลไกรัฐควรประเมินการสร้างเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจาก “ภาคการผลิตและนวัตกรรม” มากกว่าที่จะมุ่งหมายเป็นประเทศ “ผู้ค้าบริการ” ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดังที่เป็นอยู่

ใส่ความเห็น