วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
Home > Life > อาหารมหัศจรรย์เพื่อสุขภาพมหัศจรรย์

อาหารมหัศจรรย์เพื่อสุขภาพมหัศจรรย์

 

ทั้งบลูเบอร์รี บร็อคโคลี วอลนัท ล้วนเป็น “อาหารมหัศจรรย์” ที่คุณรู้ดีว่า ช่วยต่อสู้กับโรคร้าย และเสริมให้สุขภาพดีขึ้น วงการวิทยาศาสตร์แนะนำว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องศึกษาซอยย่อยลงไปอีก ผลการวิจัยทางคลินิกเมื่อไม่นานมานี้เผยว่า อาหารมหัศจรรย์ช่วยลดความเสี่ยงต่อทุกโรคตั้งแต่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไปจนถึงโรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคกระดูกพรุน

อาหารปกป้องหัวใจ
ข้าวบาร์เลย์
ช่วยลดไขมันเลวแอลดีแอลและไตรกลีเซอไรด์ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวมของคุณลดลงได้ 13 จุด โดยไม่ส่งผลต่อไขมันดีเอชดีแอลแต่อย่างใด
 
ข้าวบาร์เลย์มีเบตา–กลูแคน ซึ่งเป็นเส้นใยที่ละลายในน้ำ ทำหน้าที่เข้าไปจับโคเลสเตอรอล รอการขับถ่ายออกจากร่างกาย
 
David Grotto ผู้เขียนหนังสือ 101 Optimal Life Foods ยังเปิดเผยว่า ในข้าวบาร์เลย์ที่ถูกสีเป็นเม็ดกลมเล็กๆ หนึ่งถ้วยครึ่ง มีเส้นใยละลายในน้ำ 3 กรัม คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ จึงแนะนำให้บริโภคข้าวบาร์เลย์ทุกวัน

ถั่วปินโต
มีคุณสมบัติเหมือนข้าวบาร์เลย์ คือมีเบตา–กลูแคนคอยต่อสู้กับโคเลสเตอรอล ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินเล็กน้อย และบริโภคถั่วปินโตทุกวัน วันละครึ่งถ้วย สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลง 19 จุดภายใน 8 สัปดาห์ รวมทั้งลดไขมันเลวแอลดีแอลได้ 13 จุด

องุ่น
นักวิจัยประจำโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติในโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ เปิดเผยว่า การบริโภคองุ่นเพียง 1.25 ถ้วย ช่วยป้องกันผลในเชิงทำลายที่เกิดจากการบริโภคอาหารไขมันสูงได้ นั่นคือ ภาวะเลือดไหลเวียนช้า และเพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
 
การบริโภคองุ่นทุกวัน ช่วยให้สุขภาพของเส้นเลือดทั่วไปดีขึ้น เพราะผลไม้มีโพลีฟีนอลซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง

แมคคาเดเมียนัท
ผลการศึกษาของออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ใน Journal of Nutrition พบว่า เมื่อผู้ชายที่มีปัญหาระดับโคเลสเตอรอลสูง เมื่อได้บริโภคแมคคาเดเมียนัทวันละ 1–3 ออนซ์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ทำให้ไขมันเลวแอลดีแอลลดลงราวร้อยละ 5.3 ขณะเดียวกับที่ไขมันดีเอชดีแอลสูงขึ้นราวร้อยละ 7.9
 
นักวิจัยสรุปว่า แมคคาเดเมียนัทช่วยเพิ่มปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวในเลือด สำหรับคนทั่วไปแล้ว แมคคาเดเมียนัทเพียงหนึ่งออนซ์ก็เพียงพอต่อสุขภาพแล้ว

อาหารช่วยย่อย
กล้วย
บริโภคกล้วยหนึ่งผลเสริมในอาหารเช้าของคุณ จะทำให้ได้สารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส ซึ่งเป็นสารประกอบที่ทำลายเชื้อเอช.ไพโลรี เชื้อแบคทีเรียที่นักวิจัยเชื่อว่า เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารเป็นส่วนใหญ่

บลูเบอร์รี
ผลมีสีสันสดใสนี้ ไม่เพียงดีต่อสมองของคุณ แต่ยังมีแอนโธไซยานินส์สูง ซึ่งเป็นสารที่สามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักราวร้อยละ 33 ทั้งนี้ เป็นผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง 6,000 คน และตีพิมพ์ใน Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention

ป๊อปคอร์น
อาหารว่างยอดนิยมนี้ อุดมไปด้วยเส้นใยไม่ละลายน้ำ ซึ่งช่วยรักษาระบบย่อยอาหารของคุณให้ทำงานเป็นปกติ หากบริโภคป๊อปคอร์น (แบบ air popped ซึ่งทำได้โดยใช้น้ำมันน้อย ไม่ใช่แบบที่อบด้วยเตาอบไมโครเวฟ) 3 ถ้วย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นอาการอักเสบของลำไส้ที่ทุกข์ทรมานได้ราวร้อยละ 28 ทั้งนี้ เป็นผลการศึกษาปี 2008 ที่ตีพิมพ์ใน Journal of the American Medical Association

หลีกเลี่ยงพรุนแห้ง
แม้พรุนแห้งจะอุดมไปด้วยเส้นใยที่มีประโยชน์ แต่ก็มีสารให้ความหวานซอร์บิทอล ซึ่งเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ในปริมาณมากที่ทำให้เกิดก๊าซ ท้องขึ้น และท้องเสียในบางครั้ง
 
David Grotto แนะนำให้จำกัดปริมาณการบริโภคเพียงวันละ 4 –5 ลูก หรือทดแทนด้วยผลไม้อบแห้งอย่างแอปปริคอทที่ปลอดสารซอร์บิทอล

 

ที่มา: นิตยสาร Prevention: Big Book of Walking

Column: Well – Being

เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว