วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > On Globalization > ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของผู้หญิงมุสลิมในประเทศฝรั่งเศส

ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของผู้หญิงมุสลิมในประเทศฝรั่งเศส

 
ประเทศฝรั่งเศสถือว่าเป็นประเทศที่สองของประเทศในแถบยุโรปตะวันตก ต่อจากประเทศเบลเยียม ที่ได้ออกกฎหมายห้ามสวมหน้ากากหรือเครื่องอำพรางใบหน้าในที่สาธารณะ ซึ่งรวมไปถึงผ้าคลุมหน้าของชาวมุสลิมด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศให้เหตุผลสำหรับการห้ามสวมผ้าคลุมหน้านี้ไว้ว่า เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนในประเทศนั้นๆ เพราะการสวมผ้าคลุมหน้านั้นทำให้ระบุตัวตนและมองใบหน้าของผู้ที่สวมผ้าคลุมหน้าได้ยาก
 
ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2554 เป็นต้นมา ประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ อย่างเช่นตามท้องถนน ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ การขนส่งมวลชน สวนสาธารณะ และสถานที่ราชการ เป็นต้น แต่ถ้าหากว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังเดินทางอยู่ในรถยนต์ส่วนบุคคล และเธอไม่ได้เป็นคนขับ หรือกำลังอยู่ในบริเวณของมัสยิด กฎหมายนี้อนุญาตให้สวมผ้าคลุมหน้าได้ ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนกฎหมายนี้จะต้องได้รับโทษทั้งจำและปรับ รัฐบาลประเทศฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดี Nicola Sarkozy ได้เสนอร่างกฎหมายนี้ และก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 และต่อมาวุฒิสภาของประเทศฝรั่งเศสก็มีความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนี้เหมือนกัน จึงได้เห็นชอบให้ผ่านกฎหมายนี้ในวันที่ 14 กันยายน 2553
 
หลายๆ คนอาจจะยังเข้าใจว่ากฎหมายนี้ของประเทศฝรั่งเศสได้ห้ามไม่ให้ผู้หญิงมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าในที่สาธารณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามเฉพาะผู้หญิงมุสลิมเท่านั้น แต่ยังห้ามทุกๆ คนไม่ให้สวมผ้าคลุมหน้าในที่สาธารณะ
 
นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจอีกด้วยว่า คำว่าผ้าคลุมหน้าในที่นี้ของกฎหมายฝรั่งเศสนั้น หมายถึงการห้ามสวมผ้าคลุมทุกประเภทที่จะปิดบังใบหน้าทั้งหมด อย่างเช่นการสวมผ้าคลุมหน้าแบบบูร์กา (Burqas) ที่จะปิดบังใบหน้าทั้งหมด และนิกอบ (Niqab) ที่จะคลุมหน้าและเปิดเผยให้เห็นเฉพาะดวงตาเท่านั้นของศาสนาอิสลาม แต่การคลุมศีรษะแบบฮิญาบ (Hijab) ของศาสนาอิสลาม ที่จะคลุมผมไว้อย่างเดียวนั้นและไม่มีการปิดบังหน้าตา ผู้หญิงมุสลิมสามารถทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายนี้ในประเทศฝรั่งเศส
 
บุคคลใดก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ จะถูกปรับเป็นเงินอย่างน้อย 150 ยูโร (ประมาณ 6,100 บาท) พร้อมทั้งโทษจำคุกอีก 1 ปี และหากใครก็ตามที่บังคับให้ผู้หญิงสวมผ้าปิดบังใบหน้า จะต้องรับโทษจำคุก 1 ปี และปรับเป็นเงิน 15,000 ยูโร (ประมาณ 610,000 บาท) หรือมากกว่านี้ และถ้าหากบังคับให้ผู้เยาว์สวมใส่ผ้าคลุมหน้าก็จะต้องโทษปรับเงิน 60,000 ยูโร (ประมาณ 2,440,000 บาท) และถูกจำคุกอีก 1 ปี
 
ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งคนส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศในแถบแอฟริกาเหนือ อย่างเช่นประเทศโมร็อกโค ซึ่งเคยตกเป็นประเทศอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสมาก่อน ซึ่งคนเหล่านี้ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินในประเทศฝรั่งเศสมานานแล้ว 
 
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีปัญหาใดๆ แต่ในระยะหลังๆ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้หญิงมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 2,000 คน ได้นิยมการแต่งตัวแบบปิดบังร่างกายมิดชิด จนเหลือแต่ลูกตาเท่านั้น แม้กระทั่งเวลาที่ไปเล่นกีฬาก็ยังคงแต่งตัวมิดชิดแบบนี้ ทำให้คนฝรั่งเศสเองก็รู้สึกแปลกๆ กับการแต่งกายแบบนี้ และยิ่งเมื่อมีเรื่องของผู้ก่อการร้ายที่เป็นชาวมุสลิมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเริ่มคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และตัดสินใจที่จะประกาศใช้กฎหมายนี้ ทำให้ผู้หญิงมุสลิมที่จำเป็นต้องสวมผ้าคลุมหน้าตามหลักศาสนา ประมาณ 1,900 คน ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายในครั้งนี้
 
Sarah เป็นนามสมมุติของผู้หญิงมุสลิมคนหนึ่ง อายุ 18 ปีที่อาศัยอยู่ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ womenenews.org ว่า เธอกำลังตัดสินใจว่าเธอจะย้ายไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษหรือประเทศแคนาดาดี เพราะเธอไม่อยากอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกแล้ว Sarah เล่าว่า เธอรู้สึกว่าเธอมองไม่เห็นอนาคตของเธอเลย ถ้าหากเธอยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เพราะเธอรู้สึกว่า เธอไม่ได้รับการยอมรับจากคนฝรั่งเศสในฐานะที่เธอเป็นคนมุสลิม เธอไม่ต้องการที่จะต่อสู้ไปตลอดชีวิตของเธอ เพื่อที่จะได้รับการยอมรับว่าเธอเป็นมุสลิมในสังคมของคนฝรั่งเศส เธอต้องการที่จะอยู่อย่างสงบและได้รับอิสระและเสรีภาพเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
 
Sarah เติบโตขึ้นมาในประเทศฝรั่งเศส และพูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องเหมือนกับเจ้าของภาษา แต่หลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ Sarah ก็รู้สึกว่า เธอได้รับการเลือกปฏิบัติจากการที่เธอเป็นคนมุสลิม เพราะเธอต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนาของเธอ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการแต่งตัว เพราะเธอไม่สามารถใช้ผ้าคลุมหน้าได้ในเวลาที่ออกจากบ้าน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับเธอ เพราะเธอถูกสอนมาว่าให้คลุมหน้าอยู่เสมอในเวลาที่ออกจากบ้าน และไม่ควรให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเห็นใบหน้าของเธอ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเธอมากๆ ในการที่จะไม่ใส่ผ้าคลุมหน้าเวลาที่ต้องออกจากบ้าน
 
Sarah ยังได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า นอกจากเธอจะต้องเลิกคลุมหน้า และเหลือแต่ที่คลุมผมแล้ว เธอยังต้องแต่งตัวด้วยการหาเสื้อผ้าที่หลวมๆ และกระโปรงยาวๆ มาสวมใส่ เพื่อปิดบังที่จะโชว์รูปร่างของเธอ เพราะที่ประเทศฝรั่งเศสยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาภายในบริเวณโรงเรียน ซึ่งรวมไปถึงการสวมใส่ฮิญาบด้วย Sarah เล่าความรู้สึกของเธอให้ฟังว่า มันเจ็บปวดมากๆ เมื่อเวลาที่เธอจะเดินเข้าไปในโรงเรียน แล้วเธอจำเป็นต้องถอดฮิญาบออก เรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอถูกเลือกปฏิบัติและเธอคิดว่า เธอควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าเธอจะสวมใส่ฮิญาบหรือไม่
 
ไม่ใช่แค่ Sarah เท่านั้นที่รู้สึกว่าพวกเธอถูกเลือกปฏิบัติจากการผ่านกฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ ผู้หญิงมุสลิมหลายๆ คนกลัวการที่จะต้องออกจากบ้าน และต้องปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของเธอ 
 
มีผู้หญิงมุสลิมหลายๆ คน ต้องลาออกจากงานแล้วเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านแทน อย่างเช่น ทำงานการตลาดทางโทรศัพท์ และการสำรวจข้อมูลทางโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำงานจากที่บ้านหรือจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่จะทำให้พวกเขาไม่ต้องออกไปข้างนอกเพื่อพบเจอผู้คน 
 
นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งที่เริ่มสร้างธุรกิจเป็นของตนเอง หลังจากที่กฎหมายนี้ได้ประกาศใช้ หนังสือพิมพ์ Le Monde ของประเทศฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์ในเดือนกันยายน ได้เขียนบทความถึงธุรกิจที่กำลังไปได้ดีของผู้หญิงมุสลิม โดยบทความนี้ได้กล่าวว่า ผู้หญิงมุสลิมเหล่านี้ได้เริ่มทำงานและสร้างธุรกิจของเธอผ่านอินเทอร์เน็ต โดยพวกเธอได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับออนไลน์ ซึ่งพวกเธอสามารถมีรายได้เป็นจำนวนมากจากการขายสินค้าออนไลน์
 
จากการห้ามสวมผ้าคลุมหน้าในที่สาธารณะนี้ ทำให้ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเริ่มที่จะแยกตัวออกมาจากสังคมของคนฝรั่งเศส และเริ่มที่จะติดต่อเพียงแค่กลุ่มคนมุสลิมเหมือนกันเท่านั้น เพราะพวกเขารู้ดีว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติจากคนที่เป็นคนมุสลิมเหมือนกัน
 
การที่ประเทศฝรั่งเศสประกาศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ ทำให้มีชาวฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากที่เริ่มเป็นโรค Islamophobia คือโรคกลัวคนมุสลิมหรือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะความกลัวนี้มีผลกระทบมาจากเรื่องทางการเมือง เรื่องนี้ทำให้คนมุสลิมจำนวนมากถูกเลือกปฏิบัติในสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิม เพราะคนอื่นๆ สามารถรู้ได้ทันทีว่าพวกเธอเป็นมุสลิมจากการที่พวกเธอสวมใส่ฮิญาบ ทำให้ 68% ของผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะจากคนที่เป็นโรค Islamophobia
 
นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงมุสลิมบางส่วนที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดเจนในเวลาที่พวกเธอไปสัมภาษณ์งาน อย่างเช่นว่า เวลาที่เธอไปถึงบริษัทที่จะสัมภาษณ์งาน พวกเธอกลับพบว่า พวกเธอไม่สามารถเข้าไปสัมภาษณ์งานได้ เพียงเพราะพวกเธอสวมใส่ฮิญาบ หรือถ้าพวกเธอได้เข้าสัมภาษณ์งาน พวกเขาก็จะถามคำถามที่ไม่สุภาพและไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน อย่างเช่นว่า พวกคุณจะต้องสวด 5 ครั้งในหนึ่งวันเลยหรือ หรือว่า พวกคุณกินอาหารฮาลาล (Halal) มั้ย-อาหารฮาลาล คืออาหารที่ไม่มีสิ่งต้องห้ามเจือปน อย่างเช่น เหล้า หรือไขมันหมู) เป็นต้น
 
ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะทำให้คนมุสลิมส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ และมีคนมุสลิมบางส่วนได้ไปฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป ว่ากฎหมายนี้ได้ละเมิดสิทธิทางศาสนาของพวกเขา แต่ศาลได้ตัดสินเรื่องนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการห้ามในที่นี้ไม่ได้ห้ามแต่งกายตามหลักศาสนา เพียงแต่ต้องการไม่ให้ปกปิดใบหน้าเท่านั้น
 
การตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการยืนยันว่ากฎหมายว่าด้วยการห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และคนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสคงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ภายใต้หลักกฎหมายนี้และยังคงปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบของศาสนาอิสลาม
 
 
 
 
Bargas-การคลุมหน้าแบบแบบบูร์กา (Burqas) ที่จะปิดบังใบหน้าทั้งหมด 
 
 
Nigab-การคลุมหน้าแบบนิกอบ (Niqab) ที่จะคลุมหน้าและเปิดเผยให้เห็นเฉพาะดวงตาเท่านั้น
 
 
Hijab-การคลุมศีรษะแบบฮิญาบ (Hijab) ที่จะคลุมผมไว้อย่างเดียวนั้นและไม่มีการปิดบังหน้าตา
 
 
 
Mask
 
 
Column: Woomen in Wonderland