วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > พิพิธบางลำพู ประวัติศาสตร์รื่นรมย์ของชุมชน

พิพิธบางลำพู ประวัติศาสตร์รื่นรมย์ของชุมชน

 
บางลำพู ชุมชนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์เรื่องราวทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ก่อให้เกิดความแตกต่างในวิถีชีวิตของผู้คนในย่านบางลำพู มนต์เสน่ห์ที่แอบแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอย หรือร้านรวงริมถนนในรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ที่นับวันจะค่อยๆ ทยอยเลือนหายไปตามกาลเวลา หรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่น ทว่าการย้อนรอยแห่งอดีตที่หาดูได้ยาก กลับถูกรวบรวมและจัดแสดงไว้ในที่แห่งนี้ พิพิธบางลำพู
 
การปรับใช้สถานที่เก่าซึ่งเคยถูกทิ้งร้างนานกว่าสิบปี กรมธนารักษ์จับเอาอาคารเก่าที่เคยเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช มาปัดฝุ่นและแต่งแต้มให้เป็นสถานที่ที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ตั้งแต่ภารกิจหลักทั้ง 5 ด้านของกรมธนารักษ์ และเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านบางลำพู
 
“กรมธนารักษ์ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาและเป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอาคารจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2543 เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของกรมธนารักษ์” นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
 
“กรุณาถอดรองเท้าก่อนเข้าชม” พื้นไม้ขัดมันจนขึ้นเงาของพิพิธบางลำพู ให้ความรู้สึกเหมือนเราไปเยี่ยมชมห้องสมุดโรงเรียนสมัยยังเป็นเด็กน้อยก็ไม่ปาน 
 
อาคารแบบบาวเฮาส์ หรือ International Style รูปทรงตัว L ที่ตั้งอยู่ริมถนนพระสุเมรุ แบ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนบริเวณชั้น 1 ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องตามประวัติศาสตร์ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษามหาราชินี 
 
เจ้าหน้าที่พิพิธบางลำพูในชุดราชปะแตน ชุดที่ถือกำเนิดในสยามประเทศในปี พ.ศ. 2415 เป็นผู้พาชมและคอยให้ข้อมูลภารกิจทั้ง 5 ด้านของกรมธนารักษ์ ซึ่งจัดอยู่ที่บริเวณชั้น 2 โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะให้ความรู้ตั้งแต่การผลิตเหรียญกษาปณ์ การบริหารเงินตรา ทรัพย์สินมีค่าที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ราชพัสดุ และการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ 
 
มาถึงตรงนี้ผู้เข้าชมที่มีที่ดินย่านสีลม หรือในซอยสุขุมวิท 24 คงจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ หากได้ทราบข้อมูลราคาประเมินที่ดินในบริเวณดังกล่าว ที่มีราคาสูงถึง 850,000 บาท และ 2 ล้านบาท ต่อตารางวาตามลำดับ 
 
การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยความรู้ อาจจะทำให้รู้สึกเบื่อได้ง่ายๆ กรมธนารักษ์จึงทำภาพยนตร์สั้นๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ซึ่งจะจัดฉายในห้องเล็กๆ ที่แทรกอยู่ตามจุดต่างๆ ของพื้นที่
 
“ประเทศไทยมีการหมุนเวียนของเหรียญในชีวิตประจำวันถึง 25 ล้านเหรียญ ถ้าคิดเป็นน้ำหนักจะเท่ากับ Air Bus ที่จุผู้โดยสารเต็มลำจำนวน 208 ลำ” นอกเหนือจากข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญในประเทศไทย ยังมีข้อมูลอีกนับสิบข้อมูลที่ผู้เข้าชมสามารถเก็บเกี่ยวได้จากพิพิธภัณฑ์นี้ โดยการหยอดเหรียญลงไปในเครื่องที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายเครื่องจำหน่ายตั๋วรถไฟใต้ดิน ซึ่งเหรียญที่เราหยอดไปนั้นจะไหลคืนมาให้เราได้หยอดใหม่อีกครั้ง  
 
นอกเหนือจากเรื่องราวการผลิตและการเดินทางของเหรียญ รวมถึงประเภทของเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยแล้ว หน้าที่อีกอย่างของกรมธนารักษ์ที่ถือได้ว่าน่าสนใจไม่น้อย คือ การอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่า ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย คือการซ่อมบำรุง งานสร้างถือว่ายากแล้ว แต่การทำให้คงอยู่หรือรักษาให้อยู่ในสภาพเดิมนั้นยากกว่า วัสดุที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์ อาทิ ชัน ทองคำเปลว เลื่อม และ คำแสดหรือคำเงาะ ถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธบางลำพู
 
ในด้านของกรมธนารักษ์ คำแสดหรือคำเงาะ คงไม่ใช่ของหายาก แต่สำหรับผู้เข้าชมบางคนคงถือเป็นของแปลกไม่คุ้นหู ไม่คุ้นตาเลยก็ว่าได้ จะมีสักกี่ครั้งที่เราจะได้มีโอกาสรู้จักกับสิ่งของชื่อแปลกเหล่านี้
 
คณะผู้เข้าชมพิพิธบางลำพูกลุ่มหนึ่งถูกส่งต่อจากเจ้าหน้าที่ชายในชุดราชปะแตน ไปยังสาวน้อยในชุดไทยประยุกต์ ที่นำทางไปยังเรือนไม้ที่ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู บรรยากาศร่มรื่นจากต้นไม้ริมน้ำ ฝูงปลาที่แหวกว่ายอยู่ในลำคลอง ช่วยให้จินตนาการถึงอดีตของบางลำพูได้ไม่ยากนัก 
 
แต่หากจินตนาการยังไม่บังเกิด การเดินเข้าไปยังภายในอาคารไม้หลังนี้คงช่วยให้เห็นภาพพร้อมอรรถรสได้ดีทีเดียว
 
เรื่องราวความเป็นมาของคลองบางลำพู ชุมชนน้อยใหญ่ ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ด้วยเทคนิค Projection Mapping Wall ทั้งบนผนังและผิวน้ำ อีกทั้งกลไกที่แอบซ่อนเอาไว้เป็นทีเด็ด ถือได้ว่าเป็นกิมมิค ทำให้การชมพิพิธภัณฑ์ไม่มีความน่าเบื่อแม้แต่น้อย
 
หนังกลางแปลง โรงลิเก สมัยนี้อาจจะหาดูได้ตามงานวัด หรืองานจ้าง ที่มีตัวพระ ตัวนาง แต่งชุดประดับเลื่อมพลอย ร้องลิเกเกี้ยวกัน แต่เทคโนโลยี Interaction ทำให้ผู้เข้าชมสามารถเห็นตัวเองแต่งกายด้วยชุดลิเก ทั้งยังสามารถเลือกชุดได้ ทำให้การเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องบันเทิงชวนหัวได้ดี
 
ร้านรวงที่เคยอยู่ในย่านบางลำพู หรือบริเวณใกล้เคียงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจถูกจำลองบรรยากาศมาไว้ให้เราได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ศิลปะการแทงหยวก การปักชุดโขน ตลอดจนดุริยประณีต เรื่องราวของผู้คนที่อยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมวิถีชุมชน ก็ถูกนำมาบอกเล่าอย่างเห็นภาพ 
 
ขึ้นชื่อว่า พิพิธบางลำพู คงจะแปลกไม่น้อยหากไม่มีการกล่าวถึงต้นลำพูต้นสุดท้าย ที่ยืนต้นตายและถูกตัดไปเมื่อ พ.ศ. 2555 ทางกรมธนารักษ์ได้นำเอาชิ้นส่วนของต้นลำพูเดิม มาต่อเข้ากับต้นลำพูที่สร้างขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งหิ้งห้อยที่ให้ความรู้สึกเหมือนบินตามเมื่อเราเดินรอบต้นลำพู 
 
กระทั่งการเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายของพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันได้อัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถ ที่เดิมทีประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวรมหาวิหาร มาประดิษฐานในส่วนของห้องจัดแสดงห้องสุดท้ายของพิพิธบางลำพู เพื่อให้ผู้เข้าชมได้กราบไหว้สักการะ
 
การใช้ประโยชน์จากที่ดินราชพัสดุแห่งนี้ โดยที่กรมธนารักษ์ได้มีมติให้บูรณะซ่อมแซมอาคารให้เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่ากำหนด ซึ่งการยึดหลัก Universal Design ที่เป็นหัวใจของการออกแบบอาคารในยุคปัจจุบันที่สามารถรองรับคนพิการและผู้สูงอายุ
 
นอกจากนี้กรมธนารักษ์ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์ มาใช้ในการนำเสนอ เช่น การฉายภาพยนตร์ด้วยเทคนิคพิเศษ Projection Mapping Wall หรือ เทคนิค Interaction รวมไปถึงการค้นหาเรื่องราวผ่านระบบ Touch Screen และระบบ Multimedia ต่างๆ นับว่าเป็นการลดความน่าเบื่อและสร้างสีสันให้กับพิพิธภัณฑ์มากขึ้น
 
อาคารปูน และอาคารไม้ ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่แสดงข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ ทั้งเรื่องประวัติความเป็นมาของกรมธนารักษ์ และวัฒนธรรมของชุมชนย่านบางลำพูและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังมีพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ รวมไปถึงลานกิจกรรมอเนกประสงค์ที่ส่วนราชการและชุมชนจะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของห้องสมุดชุมชนบางลำพู สำหรับค้นหาและศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับบางลำพูโดยเฉพาะ
 
เรื่องน่ายินดีอีกอย่างตั้งแต่ พิพิธบางลำพู เปิดให้เข้าชม คือผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นคนไทย แม้จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่อาจจะแวะเวียนผ่านมาจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยการนำเอาพื้นที่ราชพัสดุมาปรับปรุงแห่งนี้ ก็เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ศึกษารากเหง้าของเราเอง แม้ในหลายๆ ครั้งเราอาจจะหลงเวียนวนอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี จนหลงลืมความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันดีงาม ที่ชาวต่างชาติอิจฉาเสน่ห์ที่เรามีมาช้านาน