วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > มหากาพย์ “เพย์ทีวี” วังวนของมิตรและศัตรู

มหากาพย์ “เพย์ทีวี” วังวนของมิตรและศัตรู

 
เส้นทางมากกว่า 20 ปี เปลี่ยนผ่านจากยุคธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกสู่สงครามกล่องเต็มรูปแบบ แท้จริงแล้วมีผู้เล่น “ขาใหญ่” และ “หน้าเดิม” อยู่ไม่กี่ราย เริ่มตั้งแต่ปี 2532 เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จับมือกับ วิลเลียม ไลล์มอนซัน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้บริหารบริษัท เคลียร์วิว ไวร์เลส จำกัด ก่อตั้งบริษัท อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชันส์ จำกัด หรือ “ไอบีซี”
 
ไอบีซีคว้าสัมปทานธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยให้บริการผ่านคลื่น, บริการกระจายสัญญาณแบบหลายจุดหลายช่อง (เอ็มเอ็มดีเอส) ผ่านระบบไมโครเวฟ และจานรับสัญญาณดาวเทียม เครือข่ายเคยู-แบนด์ ทั้งระบบอนาล็อกและดิจิตอล เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2532 เป็นเวลา 20 ปี จนถึงวันที่ 16 เม.ย. 2552 และมีการขยายระยะเวลาสัมปทานอีก 5 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2557
 
จากนั้นไม่กี่ปี กลุ่มเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชัน หรือ “ทีเอ” ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทุ่มทุนบุกธุรกิจใหม่ เปิดบริษัท ยูนิเวอร์แซล เทเลวิชัน เคเบิล เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ “ยูทีวี” เข้ารับสัมปทานธุรกิจโทรทัศน์ ระบบบอกรับเป็นสมาชิกจาก อ.ส.ม.ท. โดยให้บริการผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง และโคแอกเชียล ทั้งระบบอนาล็อก และดิจิตอล ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2536 แล้วขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 
 
สงครามเคเบิลทีวีก่อตัวขึ้น เมื่อ อ.ส.ม.ท. เดินหน้าแจกใบอนุญาตกิจการเคเบิลทีวีให้กับเอกชนอย่างต่อเนื่องอีกนับสิบราย และยูทีวีบุกหนักอัดกลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบ ทั้งติดตั้งฟรี ลดค่าติดตั้งเหลือเพียง 1,950 บาทจากราคาเต็ม 3,800 บาท และมีช่องรายการให้เลือกชมถึง 8 ช่องเท่ากับไอบีซี 
 
แม้ไอบีซีแก้เกมเฉือนหุ้น 26.4 ล้านหุ้นจากที่ถืออยู่ 54.25 ล้านหุ้น ดึงแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 สี เข้ามาร่วมทุนรายละเท่าๆ กัน แต่นั่นไม่สามารถฝ่าผ่านวิกฤตไปได้
 
กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ปี 2540 ทำให้ไอบีซีและยูทีวีต้องหาทางอยู่รอด เปลี่ยนจาก “ศัตรู” เป็น “มิตร” ทำนอง “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” สู้มรสุมครั้งใหญ่ด้วยการควบรวมกิจการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายก้อนโต โดยใช้ทรัพยากรของบริษัทในเครือ คือทั้งระบบสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคมและบริการเอ็มเอ็มดีเอสผ่านระบบไมโครเวฟของกลุ่มชินวัตร กับระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง และโคแอกเชียลของกลุ่มทีเอ 
 
ทั้งนี้ ไอบีซีเป็นฝ่ายซื้อกิจการยูทีวี โดยวิธีการแลกหุ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชัน จำกัด หรือ “ยูบีซี” และออกอากาศด้วยชื่อยูบีซี ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2541 
 
หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มชินวัตรตัดสินใจครั้งใหญ่ ทิ้งหุ้นยูบีซีทั้งหมดให้เครือซีพี บริษัทแม่ของทีเอ มีการนำยูบีซียื่นจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อว่า UBC 
 
ปี 2549 กลุ่ม MIH Holdind ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประกาศขายหุ้นทั้งหมดให้กลุ่มทรู คอร์ปอเรชัน ทำให้ทรูฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยูบีซี-ทรู จำกัด (มหาชน) รวมถึงเครื่องหมายการค้าใหม่คือ ยูบีซี-ทรู 
 
ต่อมา 23 ม.ค. 2550 ยูบีซี-ทรู เปลี่ยนแปลงชื่อเป็นบริษัท ทรูวิชั่นส์-ยูบีซี จำกัด (มหาชน) รวมถึงเครื่องหมายการค้าใหม่คือ ทรูวิชั่นส์-ยูบีซี ต่อมาลดลงเหลือเพียง บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรูวิชั่นส์” ตั้งแต่ปี 2552 ตามยุทธศาสตร์หลอมรวม (Convergence) ธุรกิจในกลุ่มทรูฯ
 
ต้องถือว่า กลุ่มทรูฯ ปรับกระบวนทัพหลายรอบเพื่อหาจุดแข็งในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งหากลยุทธ์ต่อสู้กับกลุ่มธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ราคาไม่แพงและหาซื้อง่าย 
 
การเข้ามาของศุภชัย เจียรวนนท์ โดยชูธงแนวคิด Convergence และวลีเด็ด “Better Together” เพื่อสร้างจุดแข็งใหม่ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อ “ทีเอ” เป็น “ทรู” และรวมสินค้าทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน ทั้ง true money, true online, true life, true move และ true visions ล่าสุดพัฒนาเพิ่มเติมอีก คือ  true move H, true life plus, i true mart และ true you 
 
หลังกลุ่มทรูฯ ปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ขาใหญ่อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, อาร์เอส และซีทีเอช จึงเข้ามาเป็นผู้เล่นด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิตอล และโลกไร้พรมแดนที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ “Content” ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และอาร์เอสต้องปรับตัว รวมถึงผลประโยชน์ด้านธุรกิจจากตลาดที่มีอัตราเติบโตสูง 
 
ขณะเดียวกัน  กลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จำนวนกว่า 100 ราย รวมตัวกันก่อตั้งบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 ทุนจดทะเบียนประเดิม 50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เนื้อหาโทรทัศน์รูปแบบต่างๆ และเป็นองค์กรกลางในการประกาศจัดเรียงช่องรายการที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันในทุกช่องทางออกอากาศ ที่สำคัญ เป็นแผนเพิ่มศักยภาพ ความแข็งแกร่ง สนับสนุนเทคโนโลยีออกอากาศ ขยายเครือข่ายและการตลาดด้วย
 
วันที่ 3 เม.ย. 2555 บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จดทะเบียนแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท และปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยกลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลลดสัดส่วนจาก 100% เหลือ 30% และดึงวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล กับยิ่งลักษณ์ วัชรพล ประธานกรรมการบริหารบริษัท วัชรพล จำกัด และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ร่วมลงทุนคนละ 250 ล้านบาท หรือถือหุ้น 25% ต่อคน 
 
ต่อมา วิชัยและยิ่งลักษณ์ลดสัดส่วนการถือหุ้นและดึงกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เข้าถือหุ้นในส่วนที่ว่างอยู่ พร้อมทั้งส่วนที่วิชัยกับยิ่งลักษณ์ปรับลด รวมเป็น 23% และในปี 2556 เคเบิลไทยโฮลดิ้ง เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน)   
 
ด้าน “อาร์เอส” หลังเปิดตัวธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม 2 ช่อง และวางแผนการต่อยอดธุรกิจจากลิขสิทธิ์การบริหารการถ่ายทอดสด (Media Right) การแข่งขันฟุตบอลรายการดังๆ ทั้งฟุตบอลโลก บอลยูโร และลาลีกา สเปน 
 
ปี 2555 สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ส่งกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม “Sun Box” ที่เชื่อมต่อได้ทั้งจานดาวเทียมระบบเคยูแบนด์และจานซีแบนด์ บุกตลาด โดยวางฟังก์ชันให้รับสัญญาณที่รองรับการเข้ารหัสแบบมีเงื่อนไข เพื่อรองรับระบบเพย์ทีวี
 
จังหวะเดียวกัน จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จัดตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท  เผยโฉมแพลตฟอร์ม GMM Z กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และวางกลยุทธ์เจาะกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย มีทั้งกล่อง HD สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรับชมช่องแบบความคมชัดสูง (High Definition) และต้องการรับชมระบบเพย์ทีวี, กล่อง SMART สำหรับกลุ่มลูกค้าเพย์ทีวีทั่วไป, กล่อง Mini รองรับลูกค้าทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนวิธีการรับชมโทรทัศน์จากเสาก้างปลามาเป็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และกล่อง HD LITE ที่รับชมได้ทั้งช่องระบบ HD เพย์ทีวี รวมทั้งทีวีดิจิตอล
 
และในปี 2557  จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกาศโอนย้ายหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็มแซตของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของซีทีเอช โดยการแลกหุ้นระหว่างสองบริษัท ผนึกกำลังดึงจุดแข็งไล่บี้คู่แข่ง โดยเฉพาะทรูวิชั่นส์ แม้ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรแลกเปลี่ยนคอนเทนต์กันก็ตาม 
 
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการเพย์ทีวี ตัวละครระดับบิ๊ก สงครามการตลาด ทั้งแพ็กเกจราคาและคอนเทนต์ที่ดุเดือด มหากาพย์เพย์ทีวีเรื่องใหม่เปิดฉากเข้มข้นอีกครั้งแล้ว 
 
 
ย้อนรอยตัวละครในกลุ่มธุรกิจเพย์ทีวี
 
๐ 17 เม.ย. 2532 – ไอบีซี เข้ารับสัมปทานธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกจาก อ.ส.ม.ท. 
 
๐ 12 พ.ย. 2536 – ยูทีวี ในกลุ่มเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอชั่น (ทีเอ) เข้ารับสัมปทานธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกจาก อ.ส.ม.ท.
 
๐ ปี 2541 – ไอบีซีซื้อกิจการยูทีวีด้วยวิธีการแลกหุ้นและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ยูบีซี” หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มชินวัตรขายหุ้นยูบีซีทั้งหมดให้เครือซีพี บริษัทแม่ของทีเอ 
 
๐ ปี 2549 – ทรูซื้อหุ้นทั้งหมดของยูบีซีจากกลุ่มเอ็มไอเอช ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ยูบีซี-ทรู จำกัด (มหาชน) ใช้เครื่องหมายการค้า “ยูบีซี-ทรู”
 
๐ ปี 2550 – “ยูบีซี-ทรู” เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ทรูวิชั่นส์-ยูบีซี จำกัด (มหาชน) รวมถึงเครื่องหมายการค้าใหม่ คือ ทรูวิชั่นส์-ยูบีซี 
 
๐ ปี 2552 – ทรูวิชั่นส์-ยูบีซี เปลี่ยนชื่อ เหลือแค่ “ทรูวิชั่นส์” และเดินหน้ายุทธศาสตร์หลอมรวม (Convergence) ธุรกิจในกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น
– ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับท้องถิ่นทั่วประเทศไทย กว่า 100 ราย มีมติก่อตั้งบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด 
– อาร์เอส เปิดตัวธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม 2 ช่อง คือ YOU Channel และ สบายดี ทีวี เริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 
 
๐ ปี 2555 –  จีเอ็มเอ็มแกรมมี่เปิดตัวแพลตฟอร์ม GMM  Z จัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม GMM  Z โดยตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแบบเสียค่ารับชม (เพย์ทีวี)
– เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จดทะเบียนแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยกลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล ลดสัดส่วนเหลือ 30% มีผู้ถือหุ้นใหม่ คือ วิชัย ทองแตง และยิ่งลักษณ์ วัชรพล เข้าร่วมลงทุนถือหุ้นคนละ  25%
ต่อมา วิชัยและยิ่งลักษณ์ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 23.5% ให้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าถือหุ้นในส่วนที่ว่างอยู่ พร้อมทั้งส่วนที่วิชัยกับยิ่งลักษณ์ปรับลด รวมเป็น 23%
– อาร์เอส เปิดตัวกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม “ซัน บ็อกซ์ (SunBox)” 
 
๐ ปี 2556   – เคเบิลไทยโฮลดิ้ง เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) รวมทั้งตราสินค้าและเครื่องหมายการค้า
 
๐ 23 ก.ค. 2557 – จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ร่วมกับซีทีเอช โอนย้ายหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็มแซทของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของซีทีเอช โดยการแลกหุ้นระหว่างสองบริษัท
 
 
Relate Story