วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ตลาดความงาม ที่ไม่เคยหยุดสวย

ตลาดความงาม ที่ไม่เคยหยุดสวย

 
ตลาดเครื่องสำอาง ตลาดที่มีการแข่งขันสูง จากมูลค่าการตลาดกว่าหนึ่งแสนล้านบาท แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจหรือการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถฉุดหรือส่งผลต่ออัตราการเติบโตของตลาดความงามลดลงได้ หากแต่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคมองว่าสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันไปแล้ว และถือเป็นเรื่องปกติถ้าจะกล่าวว่า ตลาดกลุ่มนี้โตกว่าจีดีพีของประเทศ 
 
ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดกลุ่มนี้ อาจจะมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้บริโภคคำนึงถึงบุคลิกภาพของตนมากขึ้น, สินค้ามีนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น, การเติบโตของสังคมเมือง ทำให้แรงซื้อมีมากขึ้น, การเติบโตของ Social Network, การที่ผู้บริโภคเน้นสินค้าหลากหลายขึ้น โดยยึดติดแบรนด์น้อยลง และมุ่งเน้นไปทางด้านคุณภาพและราคามากขึ้น
 
และด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจเครื่องสำอางมีการเติบโตไปเรื่อยๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงของผู้ประกอบการ 7-8 ราย เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ไม่ว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งอย่าง Oriental  Pincess, ตามด้วย Cute Press, BEAUTY, KARMARTS เป็นต้น โดยทุกค่ายต่างต้องทุ่มงบลงทุนในด้านต่างๆ แบบครบวงจรพร้อมงัดกลยุทธ์ในการแข่งขัน ทั้งด้านราคา การตลาด เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่ง ไม่ว่าทั้งแบรนด์ไทยหรือแบรนด์ต่างชาติที่ทะลักเข้ามาช่วงชิงตลาดในไทย 
 
ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์สร้างความงาม (Make up) สวยภายนอกยังมีแนวโน้มเติบโต ในขณะเดียวกันสวยภายใน กลุ่ม skin care ก็กำลังมาแรง และมีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสินค้าที่หลากหลาย ทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสกินแคร์ อาทิ ครีมบำรุงผิวหน้า ผิวกาย ครีมกันแดด ครีมลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย รวมไปถึงเวชสำอาง รักษาสิว ฝ้า ในเซกเมนต์ต่างๆ นั้น ตั้งแต่ตลาดบนไปจนถึงตลาดล่าง ล้วนแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาตีตลาดกันอย่างคึกคัก
           
เซกเมนต์กลุ่มตลาดบนจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเทรนด์ที่คล้ายกัน โดยเน้นหนักในเรื่องของสารสกัดจากธรรมชาติ 100% รวมถึงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์ ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงมาก เพราะผู้ซื้อในกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง จึงแข่งขันด้านคุณภาพ ซึ่งผู้บริโภคมีน้อย แต่มีมูลค่าตลาดสูง
             
ส่วนตลาดกลาง เทรนด์ของสินค้าจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงาน หรือกลุ่มที่เรียกว่า First Jobber ที่มีอายุระหว่าง 25-30 ปี มีกำลังซื้อที่ดีอยู่ในระดับกลาง สินค้าที่ออกมาแข่งขันกันต่างตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ทั้งด้านราคาที่สมเหตุสมผลกับคุณภาพ ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น
 
ตลาดล่าง ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ แม้คุณภาพและราคาจะอยู่ในระดับล่างก็ตาม แต่สินค้ากลุ่มนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการมาก ถือเป็นฐานการบริโภคส่วนใหญ่ของประเทศไทย การแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง 
 
และด้วยกระแสสวยทั้งภายนอกและภายใน กระแสความใส่ใจความงามและสุขภาพ ก็กำลังมาแรงเช่นกัน และคาดว่าในอนาคตจะเป็นตลาดใหญ่ รวมถึงเครื่องสำอางประเภทออแกนิกส์ (Organics) ด้วย   
 
ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดร้านค้าปลีกสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ตื่นตัวและเติบโตอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีผู้ประกอบการหลักเพียง 2 แบรนด์ ได้แก่ วัตสัน และบู๊ทส์ ก่อนที่จะตามด้วยแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ “เอ็กซ์ต้า” โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือเซเว่น-อีเลฟเว่น, “ซูรูฮะ” ร้านดรักสโตร์จากประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนกับเครือสหพัฒน์ และร้าน “โอเกนกิ” โดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ แบรนด์ “มัทซึโมโตะ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับมัทซึโมโตะ อีกด้วย
 
ในขณะที่กระแสนิยมเทรนด์สินค้าจากเกาหลีก็ยังคงแรงอยู่ แต่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากเทียบกับเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่กระแสเครื่องสำอางเกาหลีในเมืองไทยได้รับความนิยมสุดขีด ซึ่งผลพวงส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคเริ่มคำนึงถึงคุณภาพการดูแลผิวพรรณในระยะยาวมากขึ้น และจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มเครื่องสำอางจากประเทศญี่ปุ่นและเคาน์เตอร์แบรนด์จากประเทศแถบยุโรปมีความได้เปรียบมากกว่า
 
ในขณะเดียวกัน การส่งออกเครื่องสำอางไทยไปต่างประเทศ ก็มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นอันดับหนึ่งในเรื่องเครื่องสำอางในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 18% ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดรวม 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกอีก 40% มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท 
              
การส่งออกเครื่องสำอางของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนจะอยู่ที่ 37% ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 30% ส่งออกไปยังยุโรปและออสเตรเลียอีก 5% อื่นๆ อีก 26% ในขณะที่ตลาดประเทศจีนเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอางในกลุ่มสมุนไพร ที่ได้รับความนิยมจากคนจีนเป็นจำนวนมาก  
 
ขณะที่ภายหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ธุรกิจเครื่องสำอางจะแข่งขันกันรุนแรงอย่างแน่นอน เนื่องจากการค้าที่ไร้พรมแดนโดยประเทศไทยมีคู่แข่งในอาเซียนได้แก่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยังคงมีนักลงทุนต่างชาติอีกหลายประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของไทยที่จะเอื้อต่อการตัดสินใจมากน้อยเพียงใด  
 
กระแสของธุรกิจ “ความงาม” กำลังมาแรงทั่วทุกมุมโลกไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย ตลาดธุรกิจความงามในเมืองไทยแข่งขันกันดุเดือด เพื่อให้บริการลูกค้าที่รักสวยรักงาม โดยเฉพาะกลุ่มความงามระดับพรีเมียมที่ต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจหลายแขนงต่างดึงเทรนด์สุขภาพและความงามมาผนวกเข้ากับผลิตภัณฑ์ของตนเอง หวังเพิ่มยอดขายและยอดซื้อให้โตขึ้น
 
ผลกำไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ขนาดของธุรกิจ” เครื่องสำอางเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรดี ความสำเร็จขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิต และผู้ลงทุนจับตลาดกลุ่มไหน
 
ตลาดความงาม ตลาดที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสภาวการณ์ใดๆ จึงเป็นธุรกิจที่มีสีสัน ความสุข ความสวยงาม ท่ามกลางสมรภูมิการแย่งชิง และการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้ประกอบการ
 
Relate Story