วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > 72 ปี สหพัฒนพิบูล ยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า? จาก Manufacturer สู่ Retail Outlet

72 ปี สหพัฒนพิบูล ยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า? จาก Manufacturer สู่ Retail Outlet

 
อาณาจักรสหพัฒนพิบูลที่ถูกบุกเบิกและสร้างรากฐานโดย ดร.เทียม โชควัฒนา ในปี พ.ศ. 2485 ช่วงเวลาที่ไทยประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทยในเวลานั้น หายากนักที่จะมีใครกล้าเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ 
 
หากแต่นายเทียม โชควัฒนา อาศัยความเก๋าบวกกับแนวคิดก้าวกระโดดใจกล้า สั่งกาแฟเข้ามาเก็บไว้ในสต๊อกมากถึง 3,000 กระสอบ แม้จะต้องจ่ายราคาทุนถึง 100 บาทต่อกระสอบ จากปกติที่ซื้อขายกันเพียง 85 บาทต่อกระสอบ กระนั้นเสียงคัดค้านของบุคคลในครอบครัวก็ยังเบาบาง ไม่ทำให้นายเทียมหวั่นไหวได้ ซึ่งช่วง 7 วันแรก เหมือน 7 วันอันตราย ร้านเฮียบฮะ ต้องยอมขายกาแฟขาดทุนซึ่งขายออกในราคา 95 บาท เพราะหลายๆ ร้านก็ยังคงมีสินค้าในสต๊อกเพื่อจำหน่าย
 
กระทั่งสงครามและสถานการณ์คุกรุ่น เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด ร้านเฮียบฮะที่ยังคงมีสินค้าเหลืออยู่ในโกดังจำนวนมากทำให้ขายกาแฟได้กระสอบละ 300 บาท ภายในเวลาเพียง 90 วัน กำไรที่ทำได้สูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ 
 
ความสำเร็จขั้นต้นที่ได้รับนั้นเอื้ออำนวยมาจากภาวะวิกฤตสงคราม ที่ไม่มีร้านค้าใดมีสินค้าค้างสต๊อกเหลือในเวลานั้น และถ้าหากนายเทียมหยุดคิดและพอใจเพียงแค่นั้น สหพัฒนพิบูลคงไม่เกิด นับเป็นการมองเห็นโอกาสในช่วงเวลาวิกฤตก็ว่าได้
 
หลังจากเปิดร้านเฮียบฮะได้แค่ 6 เดือน นายเทียม โชควัฒนา ตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะก้าวออกมาสู่โลกธุรกิจอย่างจริงจังด้วยการแยกตัวออกมาเปิดกิจการของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า “เฮียบ เซ่ง เซียง” ด้วยเงินทุนเพียง 10,000 บาท ในตอนนั้น นายเทียมสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้วิชาด้านธุรกิจจากหลงจู๊ หรือผู้จัดการของร้านที่ตนจ้างมาทำงานที่ไม่ถนัด และซึมซับวิชาจากหลงจู๊ในเวลาเพียง 3 ปี 
 
เมื่อต้นไม้ที่ลงทุนลงแรงปลูกเองพร้อมจะออกดอก ออกผล แผ่กิ่งก้านสาขา เทียม โชควัฒนา ได้เปลี่ยนชื่อร้านเฮียบ เซ่ง เซียง มาเป็น บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด พร้อมด้วยเงินทุนจดทะเบียนสูงถึง 1 ล้านบาท แม้ในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ สหพัฒนพิบูลจะเป็นเพียงแค่ผู้จัดจำหน่าย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ เป็นสินค้าในหมวดอุปโภค บริโภค แต่เมื่อคิดจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้องไม่หยุดโต
 
สหพัฒนพิบูลขยายกิ่งก้านตัวเองอีกครั้งด้วยการเข้าร่วมทุนกับบริษัท ไลอ้อน ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิต ยาสีฟัน ผงซักฟอก แชมพู และสร้างโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ทำให้สหพัฒนพิบูลไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ทำการค้าแบบซื้อมาขายไปอีกแล้ว หากแต่เป็นการปรับตัวเองสู่การเป็น Manufacturer อย่างเต็มตัว
 
การต่อกิ่ง แตกยอดอ่อน ทำให้เห็นผลที่สวยงามน่าชม ในอีก 5 ปีต่อมา พ.ศ. 2500 สหพัฒนพิบูลกลายเป็นผู้นำตลาดในการสั่งเข้าสินค้าล่วงหน้า 3-4 เดือน จนร้านค้าอื่นๆ หันมาทำตามอย่าง กระทั่งสินค้าล้นตลาด ขายยาก และไม่มีกำไร เป็นธรรมชาติของการปลูกต้นไม้ที่ต้องมีเหล่าแมลงและวัชพืชมารบกวน ดร.เทียม โชว์กึ๋นแก้ปัญหาอีกครั้งแบบบูรณาการ ด้วยการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทำให้ไม่มีใครลอกเลียนแบบและละเมิดลิขสิทธิ์ได้ พร้อมกับจัดตั้งบริษัทโฆษณาของตัวเองเพื่อทำการโฆษณาสินค้าในบริษัท ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
 
ร่มเงาของสหพัฒนพิบูลแผ่ขยายอย่างต่อเนื่องเมื่อความสำเร็จของผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้นและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า รวมถึงสินค้าอื่นๆ ภายใต้ชื่อสหพัฒนพิบูลเป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาด ทำให้ต้องขยายโรงงานไปที่ศรีราชา จ.ชลบุรี และในปี พ.ศ. 2521 สหพัฒนพิบูล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกลายเป็นบริษัทมหาชนด้วยเงินทุนจดทะเบียนถึง 30 ล้านบาท และเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2531 ด้วยมูลค่า 200 ล้านบาท กระทั่งปัจจุบัน บริษัท สหพัฒนพิบูลมีเงินทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท 
 
การเติบโตของสหพัฒนฯ เป็นผลสำเร็จที่ได้มาจากการจับตลาดได้ถูกจุด เมื่ออันดับหนึ่งในปัจจัยสี่ อย่างอาหาร ถือเป็นสิ่งที่มนุษย์เราขาดไม่ได้ การเล่นกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่ากลายเป็นสินค้าอันดับหนึ่ง เพราะถึงแม้เศรษฐกิจจะวิกฤตขนาดนั้น สินค้าอื่นๆ จะแพงอย่างไร แต่ด้วยราคาที่ถูก หาซื้อได้ง่าย มาม่าจึงกลายเป็นสินค้าที่ยืนอยู่บนแท่นอันดับหนึ่งในตลาดและยังยึดพื้นที่ของครัวหลายๆ บ้านได้ตลอด
 
ฤดูกาลผันเปลี่ยนและสายลมได้พัดเอาลูกไม้ให้หล่นใกล้ต้น ในปี พ.ศ. 2534 บุญชัย และบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา บุตรชายเข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว จากเดิมที่สหพัฒนฯ มีลักษณะเป็น Manufacturer เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะลงสนามสู้ศึก หากไม่หาออพชั่นเสริม หรือติดเขี้ยวเล็บให้ตัวเอง เพราะเพียงแค่การมีบริษัทโฆษณาเป็นของตัวเองและคิดเพียงว่ายังไงเสียผู้บริโภคได้เห็นสินค้าของตนเองบนหน้าจอทีวี สหพัฒนฯ ก็จะยังคงเป็น Manufacturer ต่อไป 
 
ในยุคสมัยที่ห้างสรรพสินค้า หรือยูเนี่ยนมอลล์ ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ทั้งยังมี Minimart เปิดใหม่แทบจะทุกหัวมุมถนน และการที่สหพัฒนฯ เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ คงไม่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าห้างร้านต่างๆ จะยินดีต้อนรับสินค้าภายใต้ร่มเงาของสหพัฒนฯ ตลอดไป
 
เมื่อช่องทางเริ่มเหลือน้อย สหพัฒนพิบูลจึงเริ่มหาประตูบานใหม่ของตัวเองที่จะเป็นตัวช่วยกระจายสินค้าในเครือเข้าไปยังชุมชนแบบร้านค้าปลีก ไอเดีย Mini-Retail จึงผุดขึ้นภายใต้ชื่อ 108 Shop ที่ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการผ่องถ่ายสินค้าได้เร็วขึ้น แต่ความแข็งแกร่งของ 108 Shop ก็ไม่อาจแบ่งพื้นที่ทางการตลาดจากเจ้าตลาดบางรายที่ยึดครองพื้นที่ส่วนนี้ไปนานกว่าได้ 
 
หนึ่งในปัจจัยสี่อันดับต่อมาที่สหพัฒนฯ เลือกเล่นคือ ยารักษาโรค เมื่อกระแสความนิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจตัวเองกันมากขึ้นทั้งหญิงชาย จึงเกิดช่องทางที่สหพัฒนฯ เล็งเห็นผลกำไรที่จะตามมา แต่เมื่อตัวเองยังไม่มีชั่วโมงบินที่สูงมากในด้านนี้ จึงต้องจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ สัญชาติญี่ปุ่น ที่ปล่อยตัวหมากอย่างร้านซูรูฮะ drug store 
 
กระทั่งความพ่ายแพ้ของร้าน 108 Shop ร้านค้าปลีกในเครือสหพัฒนฯ ทำให้ต้องดึงพันธมิตรที่มีเครือข่ายธุรกิจร้านสะดวกซื้อใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น อย่างบริษัทลอว์สัน อิงค์  เพื่อปรับภาพลักษณ์ของ 108 Shop ให้เป็น LAWSON 108 พร้อมวางแผนเด็ด ก่อนปล่อยหมากอีกตัวลงสนาม เข้าสู้ศึกกับยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกรายอื่น 
 
เมื่อมีหมากในมือเพิ่มขึ้น แถมหมากตัวเก่ายังถูกอัพเกรดมาใหม่ การเปิดประตูให้ตัวเองเข้าสู่สนามอย่าง Retail Outlet คงไม่ยากเกินความสามารถ เมื่อสหพัฒนฯ ที่มีรากฐานจากประสบการณ์ในช่วงวิกฤตการค้าในภาวะสงครามตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ อย่าง ดร.เทียม โชควัฒนา  กระทั่งรุ่นลูกอย่างบุญชัย และบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา แม้จะก้าวช้า หรือสะดุดบ้างในวิกฤตค่าเงินลอยตัว แต่ก็ยังตะกายเกาะฟองสบู่ในช่วงภาวะต้มยำกุ้งผ่านมาได้
 
การปรับตัวจาก Manufacturer ของสหพัฒนพิบูลสู่การเป็น Retail Outlet ได้ดีแค่ไหนนั้นคงดูกันไปแบบเกมต่อเกม
 
Relate Story