วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Home > Cover Story > KYE: บนหนทางแห่งความร้อนหนาว จากพัดลมสู่เครื่องปรับอากาศ

KYE: บนหนทางแห่งความร้อนหนาว จากพัดลมสู่เครื่องปรับอากาศ

 
ย้อนอดีตความเป็นไปของอาณาจักรธุรกิจที่มีอายุยีนยาวกว่า 50 ปี ในนามบริษัท กันยงอีเลคทริก (KYE) จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เกิดขึ้นบนเส้นทางที่ราบเรียบ หากแต่เป็นประวัติการณ์ความสำเร็จที่ผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน ก่อนที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคงในปัจจุบัน
 
ปฐมบทแห่งตำนานการก่อตั้ง KYE เริ่มต้นขึ้นเมื่อชายหนุ่มเชื้อสายจีนที่ชื่อว่า เอี๊ยบ กิมเหลี่ยง จากเกาะฟอร์โมซ่า หรือที่เราเรียกว่า “ไต้หวัน” ในปัจจุบัน ได้อพยพหนีภาวะข้นแค้นจากความยากจนของครอบครัว เดินทางมาสู่ประเทศไทยที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ด้วยแรงบันดาลใจและความหวังที่จะสร้างฐานะและสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม
 
เอี๊ยบ กิมเหลี่ยง เริ่มต้นชีวิตที่กรุงเทพฯ ในฐานะลูกจ้างในร้านซ่อมจักรยานเล็กๆ แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะสั่งสมทุนเปิดร้านขายยางรถยนต์ “Yokohama” จากญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้รับการเชิญชวนจากนักธุรกิจญี่ปุ่นให้ผันตัวเข้าสู่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นสินค้าล้ำสมัยในขณะนั้น
 
“ร้านสหกันยงวัฒนา” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายพัดลมและจักรเย็บผ้า ภายใต้ตราสินค้า “มิตซูบิชิ” ตราสินค้าที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยเอี๊ยบ กิมเหลี่ยง หรือ “สิทธิผล โพธิวรคุณ” นำสินค้าขึ้นท้ายจักรยาน เพื่อออกแนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ก่อนที่จะได้รับการเรียกขานด้วยสรรพนามใหม่ว่า “นายห้าง” ในเวลาต่อมา
 
เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น อนาคตของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงมีแววสดใส ในขณะที่การแข่งขันด้านการขายสินค้ายี่ห้อต่างๆ ก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งสินค้าที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นเองและจากประเทศตะวันตก การเติบโตของร้านสหกันยงวัฒนา จึงเริ่มเติบโตขึ้นตามลำดับ 
 
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้นำในตลาดแต่ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ไม่นานนักความไว้เนื้อเชื่อใจที่ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้นที่มอบให้ แต่ยังรวมถึงบริษัทมิตซูบิชิ อีเลคทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้ความไว้วางใจและเริ่มมองหาโอกาสในการขยายฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมากขึ้น
 
ในปี 2507 นายห้างได้รับความไว้วางใจจากประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นพันธมิตรร่วมทุนในการจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามิตซูบิชิแห่งแรกในประเทศไทย และนับเป็นการลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกของมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าว การร่วมทุนกับต่างชาติ ยังเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในวงจำกัดเท่านั้น 
 
หากแต่ความไว้เนื้อเชื่อใจในครั้งนั้นก็สร้างให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการธุรกิจตราบจนทุกวันนี้
ปี 2507 บริษัท กันยงอีเลคทริก แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จึงได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยการร่วมทุนระหว่าง นายห้างสิทธิผล โพธิวรคุณ และบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตพัดลมมิตซูบิชิ เป็นอย่างแรก และเริ่มมีการผลิตสินค้าประเภทตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และหม้อหุงข้าวในเวลาต่อมา 
 
ปี 2514 บริษัท มิตซูบิชิ อีเลคทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นแสดงเจตจำนงจะร่วมทุนกับบริษัทกันยง จำกัด ซึ่งเป็นบริษํทจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามิตซูบิชิ เพื่อรองรับการขยายตัวขององค์กร และพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ให้รองรับตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้อย่างเพียงพอ การร่วมทุนอีกครั้งเพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “บริษัท กันยงวัฒนา จำกัด” จึงได้เริ่มต้นขึ้น และกลายเป็นบริษัทที่โดดเด่นอยู่ในแวดวงธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนจวบจนปัจจุบัน
 
พัดลมมิตซูบิชิกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในขณะที่คุณภาพของเครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิที่ผลิตออกจากโรงงานก็กลายเป็นสินค้ายอดนิยมและกล่าวขานถึงเรื่องคุณภาพจากผู้บริโภคกว่าทั่วประเทศ แม้ว่าก่อนหน้านี้เครื่องปรับอากาศจากอเมริกาจะครองตลาดมาอย่างยาวนานก็ตาม
 
ความพยายามของทายาทรุ่นที่สอง ประพัฒน์ โพธิวรคุณ เมื่อกลับจากการศึกษาในต่างประเทศนั้น คือการผลักดันสินค้าเครื่องปรับอากาศเข้าสู่ตลาดให้จงได้ และแม้ว่าจะหาเอเย่นต์ไม่ได้ หรือฝากขายก็ไม่มีใครรับเพราะขายไม่ได้ การขายตรงจึงเป็นทางออกสุดท้ายที่ผู้บริหารไฟแรงคนนี้เลือกใช้ “ขายตรง” เป็นเอกลักษณ์ที่โดดของยี่ห้อซิงเกอร์ในขณะนั้น การเริ่มต้นจึงเริ่มจากรับคนจากซิงเกอร์เข้าร่วมทีมขาย เพื่อเป้าหมายคือการดันสินค้าเครื่องปรับอากาศเข้าสู่ตลาด
 
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการขายอย่างที่ตั้งใจไว้ หากแต่ความพยายามที่ลงทุนลงแรงไว้ก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว การเก็บรวบรวมคำติชมและส่งต่อให้กับมิตซูบิชิ เพื่อแก้ไขและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองตลาดได้ตรงตามความต้องการมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ไม่นานนักมิตซูบิชิก็สามารถเปลี่ยนจากคำติชมเป็นจุดเด่นของสินค้าได้อย่างลงตัว และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ กลายเป็นที่ยอมรับและเป็นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดมากที่สุดจวบจนปัจจุบัน
 
ปี 2530 บริษัท กันยงอีเลคทริก แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด” ก่อนที่ในปี 2534 บริษัทจะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้น จากเดิมที่มีราคาหุ้นละ 100 บาท ให้กลายเป็นหุ้นละ 10 บาท และเพิ่มทุนอีก 76 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียน 176 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต และขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องที่มากขึ้น จากการคาดการณ์ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
 
ปี 2536 นับเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด สามารถแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมกับการเพิ่มเงินลงทุน ด้วยการ ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 10 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา เพื่อสร้างโรงซ่อมบำรุงแห่งใหม่ รองรับงานซ่อมบำรุงแบบครบวงจร
 
ปัจจุบันบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน) มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย 1. กลุ่มมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศญี่ปุ่น 2. กลุ่มโพธิวรคุณ  3. กลุ่มตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ ในอัตราส่วน 41.15% : 24.59% : 34.26% ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 40.81%
 
บริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “มิตซูบิชิ อีเล็คทริค” ทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยตลาดภายในประเทศ บริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศรายเดียวคือ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศและตลาดต่างประเทศมากกว่า 20 ประเทศ เช่น ตลาดประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ตลาดในแถบโอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย และตลาดแถบประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ) ตลาดเอเชียกลาง และตลาดตะวันออกกลาง 
 
แม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อาทิ การเกิดภัยแผ่นดินไหว และสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดการค้าหลักของบริษัทฯ ในช่วงเดือนมีนาคม 2554 เหตุการณ์ความไม่สงบในการเมืองไทยช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2554 เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554 ตลอดจนเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวในภาวะการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศต่างๆ แถบตะวันออกกลาง
 
หากแต่บริษัทฯ ยังคงมียอดการขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบปีงบประมาณ 2554 ที่ผ่านมา มียอดรายได้รวม 9,395 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงสุดของบริษัทฯ นับตั้งแต่ดำเนินกิจการมาจนเกือบครบรอบ 50 ปี โดยมีอัตราการเติบโตของยอดรายได้จากการขายรวมของบริษัทฯ ถึง 18% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และนับเป็นสถิติสูงสุดสำหรับยอดการขายโดยมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาในทุกผลิตภัณฑ์
 
ประสบการณ์แห่งความสำเร็จที่ผ่านมา อาจเป็นผลสืบเนื่องจากรากฐานของสิทธิผล โพธิวรคุณ และการสานต่ออย่างมีวิสัยทัศน์ของประพัฒน์ โพธิวรคุณ ทายาทรุ่นที่ 2 แต่จังหวะก้าวของกันยงอีเลคทริก นับจากนี้กำลังจะเป็นบทพิสูจน์ที่แหลมคมให้กับทายาท โพธิวรคุณ รุ่นที่ 3 ที่กำลังจะเข้ามารับช่วงต่อ
 
เป็นการผ่านร้อนหนาว ที่รอคอยนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในยามที่ทุกคนให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจเป็นปัจจัยชี้วัดความสามารถในการแข่งขันและความสำเร็จในอนาคต
 
ซึ่งย่อมเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง
 
Relate Story