วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > On Globalization > อนิจจาน่าเสียดาย-Mottainai

อนิจจาน่าเสียดาย-Mottainai

 

ในยุคสมัยปัจจุบัน เชื่อว่าคงมี คำ ในภาษาญี่ปุ่นมากมายหลายคำที่เราท่านต่างคุ้นเคยกันดี แม้กระทั่งนำมาพูดคุยสื่อความในชีวิตประจำวันกันอยู่เนืองๆ ในด้านหนึ่งก็คงเป็นเพราะมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นผู้เผยแพร่ผ่านการท่องเที่ยว ขณะที่สื่อทั้งของไทยและญี่ปุ่นก็ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมไปพร้อมกัน

ลองนึกถึงคำประมาณ Oishi ที่แปลว่าอร่อย ซึ่งกลายเป็นชื่อร้านอาหารและเครื่องดื่ม หรือ Arigato ที่กลายเป็นชื่อขนมขบเคี้ยว รวมไปถึง Sugoiที่อ่านออกเสียงแบบไทยๆ ได้หลากหลายอารมณ์เหลือเกิน และใช้แทนค่า ความรู้สึกได้อย่างไม่จำกัดสถานการณ์

หากแต่คำอุทานในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กันจนคุ้นปากและแพร่หลายในวงกว้างอย่าง mottainai กลับกลายเป็นนิยามของแนวความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีหญิงชาวเคนยาคนหนึ่ง เป็นประหนึ่งกระบอกเสียงที่ช่วยกระจายนัยความหมายของถ้อยความคำนี้

Mottainai ไม่ใช่คำญี่ปุ่นที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หากแต่ในความเป็นจริง คำคำนี้ ซึมลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมานานแสนนาน โดยมีความหมายไปในทางที่สะท้อนความน่าเสียใจเสียดายต่อสิ่งมีคุณค่าที่ต้องถูกทิ้งให้เสียหายไปอย่างเปล่าประโยชน์ รวมถึงการใช้สิ่งมีค่าไปอย่างผิดวิธี

ฟังดูแล้ว อาจไม่ค่อยเข้ายุคเข้าสมัยสักเท่าใดใช่ไหม เพราะสังคมทุกวันนี้เห็นมีแต่เรื่องเปล่าเปลืองเป็นส่วนมาก โอกาสที่จะใช้คำว่า mottainai จึงดูเหมือนจะถูกบีบให้แคบลงไปอีก

แต่หญิงชาวเคนยาที่ทำให้ mottainai แพร่หลายไปไกลคนนี้ เธอไม่ใช่ธรรมดา หากเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรือ Nobel Peace Prize เมื่อปี 2004 มาแล้ว

Wangari Muta Maathai ชาวเคนยาคนนี้ เป็นผู้หญิงแอฟริกาคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้รับรางวัลสาขาสันติภาพคนแรกที่มีปูมหลังเป็นนักสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

บทบาทและสถานะของเธอที่ผ่านมา ดูจะไม่ค่อยมีเหตุให้ต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่อง mottainai เท่าไหร่นัก ซึ่งอันที่จริงเธอก็คงไม่คาดคิดมาก่อนว่าเธอจะมาเกี่ยวข้องกับคำอุทานภาษาญี่ปุ่นคำนี้ไปได้อย่างไร

แต่ก็ด้วยเหตุที่เธอเป็นนักสิ่งแวดล้อมและได้รับรางวัลใหญ่ระดับโลก ทำให้เธอได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protocol ในปี 2005 และจากการอ่านหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่น ซึ่งเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมในครั้งนั้นเป็นเหตุให้เธอได้รับรู้ถึงนัยความหมายของคำอุทานนี้

ความประทับใจที่เธอได้รับจากความหมายเชิงลึกของ mottainai โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับแนวความคิดที่แฝงอยู่ใน “Reduce, Reuse, Recycle” ในภาษาอังกฤษ หรือแม้กระทั่งแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดชอบและเคารพต่อธรรมชาติที่มีอยู่ในภาษา Swahili ซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้อย่างกว้างขวางในหมู่ประเทศแอฟริกาตะวันออก ทำให้เธอพยายามอย่างแข็งขันที่จะทำให้ mottainai มีฐานะเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์และคำขวัญในระดับสากลในการรณรงค์เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกเลยทีเดียว

บทบาทของ Wangari Muta Maathai ในการเผยแพร่ความหมายของ mottainai ดำเนินผ่านปาฐกถาหลากหลายในการตระเวนบรรยายทั่วโลกของเธอ รวมถึงการบรรยายต่อที่ประชุม UN Commission on the Status of Women ซึ่งเธอนำผู้เข้าร่วมประชุมเปล่งเสียง mottainai ดังสนั่นพร้อมกันทั้งห้องประชุม

ความพยายามของ Wangari Muta Maathai ได้จุดประกายให้สังคมญี่ปุ่นหันกลับมาทบทวนความเป็นไปโดยเฉพาะกรณีว่าด้วยการบริโภคและใช้ทรัพยากรอย่างกว้างขวาง โดยรายการสำหรับเด็กทางช่อง NHK TV มีการนำเพลง Mottainai ซึ่งแต่งโดย Masashi Sada นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังมาออกอากาศ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า

ขณะเดียวกัน mottainai ได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นมากกว่าคำอุทาน หากแต่กำลังมีบทบาทในฐานะพลังในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นอีกด้วย

Wangari Muta Maathai เคยให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ว่าเธอพยายามหาคำในภาษาอื่นๆ ที่มีนัยความหมายใกล้เคียงกับ Mottainai เพื่อขยายแนวความคิดดังกล่าวให้กว้างขวางออกไป แต่เธอพบว่าไม่มีคำในภาษาใดกินความได้ดีเท่า mottainai เธอจึงเลือกเอาคำญี่ปุ่นคำนี้เป็นตัวแทนของการรณรงค์

แม้ว่าเธอจะจากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งรังไข่ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2011 หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เธอได้ปฏิบัติและดำเนินการมา ย่อมได้รับการจารึกและการระลึกถึงด้วยนิยามความหมายที่ข้ามพ้นไปจาก mottainai ไปไกลมากแล้วเพราะเธอได้นำพาและเติมเต็มชีวิตของเธอให้มีประโยชน์ต่อผู้คนรอบข้างอย่างยากจะปฏิเสธ

หากแต่จากสถานการณ์ความเป็นไปในช่วงที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในบ้านเมืองของเราในปัจจุบันต่างหากที่อาจทำให้ท่านผู้อ่านนึกถึงคำไทยบางคำที่แวบเข้ามาในความคิดเหมือนดิฉัน โดยเฉพาะคำที่สื่อนัยสมเพชและปลงอนิจจังที่ว่า “น่าเสียดายจริงๆ” บ้างไหมคะ