วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “ลอว์สัน 108” กับ “นัยยะ” ที่มีต่อสหกรุ๊ป

“ลอว์สัน 108” กับ “นัยยะ” ที่มีต่อสหกรุ๊ป

 

ปี 2556 นับเป็นปีที่ธุรกิจค้าปลีกมีความตื่นตัวอย่างมาก แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกขนาดเล็ก อย่างร้านสะดวกซื้อ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต และสเปเชียลตี้ สโตร์ (Special store) ที่ทยอยเปิดแบรนด์ใหม่ และเปิดร้านใหม่ไม่ขาดสาย

ล่าสุด ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ “ลอว์สัน 108” เพิ่งจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดบริการไปแล้ว 15 สาขาในกรุงเทพฯ โดยงานนี้ได้ประธานเครือสหพัฒน์ “บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา” และหัวเรือใหญ่แห่งลอว์สัน อิงค์ “ทาเคชิ นินามิ” มาร่วมเป็นเจ้าภาพงานเปิดตัวครั้งนี้ ณ ร้านลอว์สัน 108 สาขาเอ็มโพริโอเพลส สุขุมวิท 24 ร้านสาขาล่าสุด

ในช่วงเวลาไม่ถึง 5 เดือน เครือสหพัฒน์ได้ทำการเปิดแบรนด์ใหม่ในธุรกิจค้าปลีกไปแล้วถึง 3 แบรนด์ โดยก่อนหน้านี้ “ลอว์สัน 108” เครือสหพัฒน์เพิ่งเปิดโครงการ “เจพาร์ค” คอมมูนิตี้มอลล์แห่งแรกของกลุ่ม และ “ซูรูฮะ” ร้านขายยาและสินค้าสุขภาพ-ความงาม แบรนด์ที่สองของเครือ

ร้านลอว์สัน 108 ที่เอ็มโพริโอเพลส มีพื้นที่ 100 ตร.ม. ใช้งบลงทุนราว 5 ล้านบาท ร้านสีฟ้าตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น โดยถอดแบบมาจากร้านต้นแบบในญี่ปุ่น ในร้านมีสินค้าประเภทอาหารพร้อมทาน ของกินและของใช้ทั่วไป พร้อมมีพื้นที่นั่งรับประทานภายในร้าน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างจากเชนคู่แข่งอย่างร้าน 7-11 และแฟมิลี่มาร์ท

“ร้าน 108 ช้อป เป็นความคิดของสหกรุ๊ป เราเปิดมาร่วมมาร่วม 10 ปีแล้ว เรามองว่า ถ้าเราจะต่อสู้ในประเทศต่อไปได้ เราต้องร่วมมือกับกลุ่มลอว์สัน อิงค์ ในการรุกตลาดร้านสะดวกซื้อไทย โดยใช้ชื่อ ร้านลอว์สัน 108 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีกของเครือสหพัฒน์” บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ บมจ. สหพัฒนพิบูล กล่าว

จากเว็บไซต์ thailand.lawson ระบุว่า บริษัท สหลอว์สัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือสหพัฒน์และลอว์สัน อิงค์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ด้วยทุนจดทะเบียน 697 ล้านบาท โดยสหกรุ๊ปถือหุ้น 50% ลอว์สัน เอเชีย แปซิฟิก ถือหุ้น 49% และมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) ถือหุ้น 1%

ร้านลอว์สัน 108 เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นการนำร้าน 108 ช้อปเดิมมาปรับปรุง และหลังจากนี้ สหลอว์สันตั้งเป้าจะขยายสาขาภายในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีแผนจะเปิดบริการให้ได้ 50 สาขาภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก และตั้งเป้า 1 พันสาขาทั่วประเทศ ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท

ขณะที่จำนวนร้าน 7-11 ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 7 พันสาขา ขณะทีแฟมิลี่มาร์ทตั้งเป้าเปิดร้านให้ครบ 1 พันสาขาภายในสิ้นปีนี้ ส่วนร้าน 108 ช็อปที่เป็นของเครือสหพัฒน์ร่วมกับพันธมิตรมีราว 300 สาขา โดยร้านจำนวนหนึ่งจะ ถูกโอนให้สหลอว์สันนำไปปรับปรุงเป็นร้านลอว์สัน 108

“แม้ลอว์สัน 108 จะมาช้า แต่ผมคิดว่า ความเก่งของลอว์สันฯ ญี่ปุ่น ที่จะนำมาปรับให้มีความเป็นท้องถิ่นสไตล์ไทย ร่วมกับความแข็งแกร่งของเครือสหพัฒน์ในด้านการผลิตสินค้าและระบบโลจิสติกส์ ผมเชื่อว่าเรายังมีช่องว่างที่จะเข้ามาและขยายต่อไปได้” บุณยสิทธิ์มั่นใจ

เสี่ยสหกรุ๊ปพูดติดตลกว่า การมาทีหลังก็มีข้อดี เพราะสามารถไปเปิดร้านประกบกับร้านคู่แข่งในทำเลที่ขายดีได้เลย ไม่ต้องลำบากในการหาทำเล หรือเสี่ยงเปิดร้านก่อนคนอื่น เพราะมั่นใจว่าร้านลอว์สัน 108 สามารถแข่งขันได้ แต่ถึงบุณยสิทธิ์จะยอมรับว่าลอว์สัน 108 เข้ามาช้า แต่ปฏิเสธว่าสหพัฒน์รู้สึกตัวช้าในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

“จริงๆ เราไม่ได้มาช้า เรามาก่อน เรามีส่วนที่แฟมิลี่มาร์ทเข้ามา แล้วเราก็สะสมความรู้เรื่องร้านสะดวกซื้อมาโดยตลอดจนเรามี 108 ช้อป เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และลอว์สัน 108” ในยุคแรก เครือสหพัฒน์ฯ เคยร่วมถือหุ้นในบริษัทสยามแฟมิลี่มาร์ทสูงกว่า 15% 

การรุกธุรกิจร้านสะดวกซื้อของสหกรุ๊ปในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามอีกครั้งของบุณยสิทธิ์ ในการสร้างที่ยืนในธุรกิจค้าร้านสะดวกซื้อของกลุ่ม และสร้าง “แบรนด์” ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและสร้างรายได้ให้กับเครือ หลังจากที่บริษัทคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานกว่า 20 ปี 

จุดเด่นของลอว์สัน 108 ที่ผู้บริหารสหพัฒน์เชื่อว่า น่าจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง “เบอร์ 1” และ “เบอร์ 2” ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และเป็นจุดขายของแบรนด์นี้ คือ บรรยากาศที่สะดวกสบายและความเป็นมิตร บวกกับภาพลักษณ์ “พรีเมียม” และกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นที่เข้มข้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารญี่ปุ่นพร้อมทาน เช่น ทาโกยากิ อุด้ง โอเด้ง โอนิงิริ (ข้าวปั้น) และเบเกอรี่แบรนด์ “ลอว์สัน” เป็นต้น ปรุงด้วยวัตถุดิบคุณภาพที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี โดยวัตถุดิบบางรายการถูกคัดสรรมาจากญี่ปุ่น

“ผู้บริโภคยุคนี้ฉลาดและมีข้อมูลมากขึ้น เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น และเขามีตัวเลือกเยอะขึ้น สินค้าราคาถูกจึงไม่ใช่คำตอบ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการอะไรที่เป็นการให้รางวัลตัวเอง เรามองว่า เราเป็นร้านสะดวกซื้อพรีเมียม สังคมไทยกำลังจะไปสู่จุดนั้น ระหว่างนี้ ร้านของเราก็ทยอยเปิด เพื่อเป็นการวางรากฐาน เราถึงบอกว่าไม่ได้เน้นจำนวนสาขา แต่เราเน้นคุณภาพบริการของร้านที่เปิด” เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ รองกรรมการผูจัดการ สหลอว์สัน กล่าว 

คำอธิบายของผู้บริหารสาวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของซีอีโอหนุ่มแห่งลอว์สัน อิงค์ ซึ่งระบุว่า “ลอว์สัน” ไม่มีนโยบายลงไปแข่งขันในตลาดที่เป็น “Red Ocean” ดังนั้น การเร่งขยายสาขาจึงไม่ใช่คำตอบของลอว์สัน

สำหรับตลาด “Blue Ocean” ในมุมมองของ มร.ทาเคชิ คือการเปิดร้านโดยใช้กลยุทธ์ “Customer Centric” คือการเปิดร้านที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ผลพลอยได้ของยุทธศาสตร์นี้ ทำให้ ณ ปัจจุบันร้านลอว์สันในญี่ปุ่นมีด้วยกันถึง 4 รูปแบบ

Regular Lawson หรือรูปแบบปกติ ซึ่งเป็นร้านที่เน้นตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ภายในร้านจึงเน้นสัดส่วนสินค้าอาหารพร้อมรับประทานเป็นหลัก เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

Natural Lawson เป็นร้านสะดวกซื้อสำหรับผู้หญิงทำงาน แม่บ้าน และผู้รักสุขภาพและใส่ใจความงาม ซึ่งภายในร้านจะมีอาหารปลอดสารพิษและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามมากกว่าร้านรูปแบบอื่น

Lawson 100 เป็นรูปแบบมินิซูเปอร์ฯ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต
Pharmacy Lawson เป็นร้านที่เน้นตอบสนองสังคมคนแก่ ซึ่งมีความต้องการใช้ยาและอาหารเสริมมากขึ้น โดยเป็นรูปแบบที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้

“รูปแบบที่หลากหลายเป็นเพราะเราต้องการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้บริโภค สำหรับเมืองไทย จะใช้รูปแบบไหนก็แล้วแต่ทำเลและผู้บริโภคในจุดนั้น แต่เราไม่ได้จำกัดแค่ 3-4 รูปแบบที่เรามีอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับลูกค้าท้องถิ่น เราอาจจะต้องหารูปแบบใหม่ๆ สำหรับลูกค้าคนไทยก็เป็นไปได้” มร.ทาเคชิ กล่าว

รอง เอ็ม.ดี. สหลอว์สัน เผยว่า เป็นเพราะแนวความคิดของผู้บริหารลอว์สัน อิงค์ ที่มีความยืดหยุ่น (Flexibility) เช่นนี้เอง ที่ทำให้สหกรุ๊ปตัดสินใจเลือกยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเบอร์ 2 ของญี่ปุ่นรายนี้มาเป็นพันธมิตรในสนามค้าปลีกที่ร้อนระอุของเมืองไทย

ผู้บริหารสาวกล่าวอีกว่า ในอนาคต มีแนวโน้มที่เครือสหพัฒน์และกลุ่มลอว์สันจะร่วมกันพัฒนาสินค้าสำหรับวางขายในร้านร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีของลอว์สันในการวิเคราะห์หาสินค้าที่เหมาะกับลูกค้า ผสานกับศักยภาพของเครือสหพัฒน์ในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ของเมืองไทย

“ที่ผ่านมา สหพัฒน์ค่อนข้างแข็งแกร่งในด้านการผลิตและโลจิสติกส์ ฉะนั้นการมีร้านค้าปลีกก็เป็นการต่อยอดธุรกิจหลักของเรา นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรงไปวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้นเพื่อนำกลับไปใช้พัฒนาการผลิตของเรา เรียกว่า ต่อไป “ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)” ของกลุ่มสหพัฒน์จะถูกเติมเต็มด้วย “จิ๊กซอว์” ตัวนี้ และตรงนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ของเครือได้ด้วย” เบญจมาศสรุป

นอกจากนี้ การร่วมมือในครั้งนี้ ยังอาจหมายถึงโอกาสในการปักหมุดร้านสะดวกซื้อในเครือสหพัฒน์ในต่างประเทศ เมื่อผู้บริหารแห่งลอว์สัน อิงค์ ทิ้งท้ายว่า มีความเป็นไปได้ที่จะขยายสาขาร้านลอว์สันในอาเซียน (ยกเว้นอินโดนีเซียที่บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นอยู่แล้ว) โดยใช้สหลอว์สันเป็นหัวหอก พร้อมกับกล่าวว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์พัฒนาสินค้าสำหรับภูมิภาคอาเซียน 

บางที “ก้าวนี้” ของสหพัฒน์ในตลาดค้าปลีกขนาดเล็ก อาจจะทำให้บุณยสิทธิ์ได้เห็นร้านสะดวกซื้อของเครือเติบโตและยิ่งใหญ่สมกับที่รอคอยมานานหลายสิบปี เสียที …แต่จะเร็วหรือช้า คงต้องขึ้นอยู่กับว่า ยักษ์ใหญ่ในตลาดอีก 2 รายจะงัด “ไม้เด็ด” หรือ “ไม้ตาย” อะไรออกมาฟาดฟัน!!

 

 

Related Stories

1. สหพัฒน์ปรับยุทธศาสตร์ “เกียร์สโลว์” ฝ่าวิกฤต

2. “สหพัฒน์” ปูพรม “ซูรูฮะ” ลุยบิ๊กโปรเจกต์ “เจพาร์ค”

3. สหพัฒน์ งัดหมัดเด็ด “ลอว์สัน 108” สู้ยักษ์ค้าปลีก

4. “เจริญ” รุกสงครามค้าปลีก ปั้น “โอเกนกิ-บีสมาร์ท”

5. สหพัฒน์เปิดเกมรุก ดัน “ค้าปลีก” ยกแผง