วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจขายตรง แข่งขันสูง…มุ่งเน้น สุขภาพ

ธุรกิจขายตรง แข่งขันสูง…มุ่งเน้น สุขภาพ

 

ธุรกิจขายตรง นับเป็นหนึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เติบโตสวนกระแสของสภาวะเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ธุรกิจขายตรงยังคงมีความคึกคัก และเติบโตพอสมควร โดยในครึ่งปีแรกยังมีอัตราการเติบโตประมาณ 6-7% จากมูลค่าตลาดรวม 60,000 ล้านบาทต่อปี 

หากประเมินให้ลึกลงไปพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงามยังครองแชมป์การเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% โดยมีมูลค่าการตลาดมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงระหว่างธุรกิจขายตรงยักษ์ใหญ่ อาทิ แอมเวย์ มิสทิน และกิฟฟารีน 

ล่าสุด แอมเวย์ ธุรกิจเครือข่ายอันดับหนึ่งของโลกและในไทย โดยกิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า แนวโน้มการให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ร่างกาย และยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการดูแลสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนิวทริไลท์ทั่วโลกเติบโตสูงขึ้นถึง 147,000 ล้านบาท

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตโดยทุ่มงบประมาณอีก 11,250 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิตเพิ่มเติมอีก 7 แห่งในสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และเวียดนาม สำหรับประเทศไทย นิวทริไลท์เติบโตและประสบความสำเร็จเช่นกันโดยมียอดขายทะลุ 6,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

“นอกจากความสำเร็จจากการใส่ใจเรื่องสุขภาพแล้ว ในปีนี้ เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มวิตามินและเกลือแร่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น เรายังคงใช้กลยุทธ์เดิมพร้อมการมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งพบว่าวิตามินและเกลือแร่กลุ่มแคลเซียมเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสการตลาดสูงมาก” กิจธวัชกล่าว ล่าสุด แอมเวย์รุกตลาดครึ่งปีหลังด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “นิวทริไลท์ แคลแมกดี” หวังขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพกระดูก โดยคาดหวังว่า สินค้าตัวนี้มีโอกาสขยายตลาดทั้งในกลุ่มวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

“ปี 2556 นี้ แอมเวย์คงเน้นกลยุทธ์เดิม โดยมุ่งกิจกรรมที่ให้ประสิทธิผลมากที่สุด พร้อมชูกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เตรียมนำเสนอไลฟ์สไตล์โซลูชั่นสำหรับกลุ่มบุคคลในวัยทำงานและวัยอื่น เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น” กิจธวัชกล่าว

อีกหนึ่งแนวทางที่บริษัทสานต่อการสื่อสารเชิงรุก โดยสร้างแบรนด์ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคผ่านการใช้กระแสโซเชียลมีเดีย  ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากจากปีที่แล้ว พร้อมกับการสร้างแอมเวย์ ชอป เพื่อกระจายไปสู่ลูกค้าในจังหวัดต่างๆ และเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและสะดวกขึ้น 

“แผนงานหลักที่บริษัทให้ความสำคัญในปีนี้ คือการสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับนักธุรกิจ ในฐานะมืออาชีพ โดยบริษัทได้ตั้งแผนกใหม่ชื่อ แผนกส่งเสริมศักยภาพนักธุรกิจแอมเวย์ ผ่านการจัดฝึกอบรม สัมมนา โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตอีกไม่น้อยกว่า 7%”  กิจธวัชกล่าว

หันมามองธุรกิจขายตรงที่เป็นแบรนด์ไทย “ กิฟฟารีน” ในปีนี้ได้เปิดตัวโฆษณา  3 ซีรีส์ด้วยกัน โดยกิฟฟารีนได้ทุ่มงบการตลาดกว่า 100 ล้านบาท เพื่อรุกตลาดครึ่งปีหลัง  ตามเป้าหมายที่ต้องการขยายเครือข่ายสู่คนรุ่นใหม่

กิฟฟารีนมุ่งหวังว่าโฆษณาจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโกคผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจมากขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันมีสมาชิกซึ่งเป็นผู้บริโภคกว่า 6.5 ล้านรหัส

ปัจจุบันกิฟฟารีนมีศูนย์ธุรกิจตั้งในประเทศไทย รวม 113 สาขา และต่างประเทศ มากกว่า 30 สาขา  โดยปลายปีนี้จะเปิดศูนย์ธุรกิจที่ทุ่มงบลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท บนพื้นที่  1 ไร่เศษๆ ที่มีนบุรี และต้นปี 2557 จะเปิดศูนย์ใหญ่ที่หาดใหญ่อีก 1 แห่ง 

ด้านโรงงานผลิต กิฟฟารีนมีโรงงานในนวนครอยู่ 4 อาคารใหญ่ ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 5 เพื่อเพิ่ม lineในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ ที่เรียกว่า ฟังก์ชันนอล ฟูดส์ (Functional food) ซึ่งจะผลิตอาหาร เช่น เส้นหมี่ เค้ก  สแน็ก เป็นต้น ด้วยงบลงทุนประมาณ 66 ล้านบาท โรงงานแห่งใหม่อาจอยู่ที่นวนคร หรือจังหวัดใกล้เคียง โดยเน้นทำเลที่น้ำไม่ท่วม

สำหรับแผนในการขยายสาขาไปต่างประเทศนั้น ปัจจุบันกิฟฟารีนมีเครือข่ายอยู่ 33 ประเทศทั่วโลก  และอยู่ในระหว่างเจรจาอีก 10 ประเทศ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย บังกลาเทศ แอฟริกาตะวันตก เป็นต้น  

ด้านการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับประชาคมอาซียน ปี 2558 นั้น กิฟฟารีนมีการขยายระบบเครือข่ายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการไปเปิดสำนักงานในลาว และขยายผ่านตัวแทน หรือไลเซนส์ ในมาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย และพม่า ยกเว้นก็แต่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากความไม่พร้อม

พงศ์พสุ อุณาพรหม ผู้อำนวยการใหญ่ สายการตลาด บริษัทกิฟฟารีน กล่าวว่า ทิศทางการตลาดโดยรวม ในปี 2556  กิฟฟารีนได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 6,500  ล้านบาท โดยทุ่มงบการตลาดถึง 100 ล้านบาท  ผ่านภาพยนตร์โฆษณา 3 ชุด ภายใต้แนวคิด ความตั้งใจจริงของธุรกิจที่ดำเนินมานานกว่า 17 ปี โดยภาพยนตร์ทั้ง 3 ชุดจะเน้นเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยผ่านเครื่องมือทางการตลาดแบบครบวงจร โดยจะมีกิฟฟารีน แชนแนล ที่ออนไลน์ตลอด 24  ชั่วโมง  เพื่อแสวงกลุ่มเป้าหมายใหม่ และขยายเครือข่ายไปสู่คนรุ่นใหม่

กิฟฟารีน ธุรกิจขายตรงแบรนด์ไทยได้ตั้งเป้ายอดขายจนถึงสิ้นปีไว้ที่ 6,500 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10% โดยแบ่งสัดส่วนกลุ่มเครื่องสำอาง คอสเมติกส์  60% กลุ่มอาหารเสริม 30% กลุ่มเครื่องดื่มอาหาร และอาหาร 10% โดยคาดว่าหลังขยายสร้างโรงงานแห่งที่ 5 สัดส่วนกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและอาหารจะเพิ่มขึ้นเป็น 25%

ปัจจุบันกิฟฟารีนมียอดขายจากการส่งออกกว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2557 จะมียอดการส่งออกเติบโต 30-50% ผลจากการที่เราขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นและตั้งเป้าหมายว่า อีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อบริษัท ดำเนินธุรกิจครบรอบ 20 ปี ยอดขายของบริษัทฯ จะเติบโต 10-12% ซึ่งมีมูลค่ายอดขายประมาณ 10,000  ล้านบาท 

ธุรกิจขายตรงจึงกลายเป็นธุรกิจที่สวนกระแสสภาวะเศรษฐกิจตลอดเวลา แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ธุรกิจนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีผู้สนใจเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายอิสระมาก ส่งผลให้ขายสินค้าได้มากตามไปด้วย นับว่าเป็นธุรกิจที่ยังคงมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ภายใต้มูลค่าการตลาดเกือบแสนล้านบาท และรวมถึงการเตรียมขยายสู่ตลาดอาเซียนที่มีฐานผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน