วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > New&Trend > จีนบนเวทีการค้าโลก มุมมองจาก CP

จีนบนเวทีการค้าโลก มุมมองจาก CP

จีนเข้าเป็นสมาชิกของ WTO มาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งขณะนั้นจีนมีปริมาณการนำเข้าและส่งออกอยู่ที่ 5.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4.4% ของการค้าโลก ในทศวรรษที่ผ่านมาการนำเข้าและส่งออกของจีนเติบโตในอัตรา 18.3% และ 17.6% ตามลำดับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP ของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปรากฏว่าในปี 2554 ที่ผ่านมาปริมาณการนำเข้า และส่งออกของจีนเท่ากับ 3.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อก่อนเข้าเป็นสมาชิก WTO ถึง 7 เท่า และมีส่วนแบ่งทางการค้าโลกเพิ่มขึ้นถึง 6% ก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เป็นประเทศที่มีการนำเข้าสูงสุดอันดับ 1 และการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

รัฐบาลจีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์ “การเติบโตอย่างมั่นคง- การปรับโครงสร้าง และแสวงหาความสมดุล” (Steady growth, structural adjustment and balance-seeking) เพื่อรองรับการค้าต่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการเกินดุลการค้าระหว่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2554 จีนเกินดุลการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 155.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นยอดที่น้อยกว่าปี 2553 จำนวน 26.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าจะได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ แต่รัฐบาลจีนยังคงดำเนิน การด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างระมัดระวังและภายใต้ทัศนคติที่มีเหตุผลและแจกแจงให้สังคมโลกทราบเสมอว่า ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาบริษัทต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศในจีน พิจารณาได้จากตัวเลขผลประกอบการรวมของบริษัทเหล่านี้ซึ่งสูงกว่าผลประกอบการของบริษัทจีน โดยมีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี จีนก็ต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงต้าน ทานทั้งภายนอกและภายในอย่างมากมาย รวมไปถึงการได้รับผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากยุโรปและอเมริกา เหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่จีนทำการส่งออกมูลค่ามากกว่า 40% และ ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการแข่งขันและความขัดแย้งกับจีนเพิ่มมากขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ของจีนรายงานว่าจีนต้องรับกับปัญหาเรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาดมากที่สุดใน 16 ปีที่ผ่านมา รวมถึงต้องเผชิญกับการถูกสอบสวนกรณีการให้เงินสนับสนุนโดยมิชอบตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

10 ปีที่จีนเป็นสมาชิก WTO ปรากฏว่าจีนมีกรณีที่ต้องถูกฟ้องร้องสอบสวนต่างๆ เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ 602 คดี คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 38.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตอบโต้การทุ่มตลาดจำนวน 510 คดี เกี่ยวกับการให้เงินสนับสนุนโดยมิชอบอีก 43 คดี เกี่ยวกับมาตรการปกป้อง การนำเข้าจำนวน 106 คดี และอีก 33 คดีเกี่ยวกับมาตรการปกป้องพิเศษ

โดยเฉพาะในปี 2554 จีนต้องเผชิญกับกรณีขัดแย้งด้านการค้าระหว่างประเทศมากถึง 66 เรื่องภายใต้วงเงินที่ถูกสอบสวน ถึง 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนได้ไปสร้างความเดือดร้อนแก่หลายๆ ประเทศ

เมื่อพิจารณาโดยรวมการค้าระหว่างประเทศในอนาคตของจีนจะยังคงเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันและการแข่งขันจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่าอย่างเช่นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องด้วยความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และค่าเงินหยวน ตลอดไปจนถึงขนาดตลาดที่ยิ่งใหญ่ของจีน แรงงานราคาถูก และด้วยศักยภาพของรัฐบาลกลางที่มีนโยบายควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้จีนมีความสามารถในการแข่งขันมากเป็นพิเศษในตลาดการค้าโลก

นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นมูลค่าการส่งออกของจีนซึ่งมีนัยสำคัญ ส่วนแบ่งสินค้า “Made in China” มีจำนวนเกือบกึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นการส่งออกสินค้าแปรรูปในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 พบว่าสินค้า “Made in China” มีส่วนแบ่งสูงถึง 47% ตามสภาพเศรษฐกิจของจีนที่ยังมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จึงเชื่อได้ว่าการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างการส่งออกดังกล่าวจะต้องมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของจีน

สำหรับการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของ “Made in China” อาจประเมินได้ดังนี้ในการพัฒนากระบวน การแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกของจีนนั้น สามารถเรียนรู้จากยุคแรกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นบทเรียนที่ดี ในช่วงนั้นสินค้าที่ตีตรา “Made in Japan” ก็เคยประสบปัญหามาแล้วอย่างมากมาย การทำการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นในยุคนั้นเป็นที่ปรากฏว่าสินค้า “Made in Japan” ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดระดับบนได้ จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ราคาต่ำเข้าไปแข่งขันกับตลาดโลก

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว จีนมีข้อได้เปรียบทางการค้าที่มากกว่าญี่ปุ่นในยุคนั้น ประการแรก จีนมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับสินค้า Made in China

สินค้า “Made in China” ในวันนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากสินค้า “Made in Japan” แต่อย่างใด เพราะต่างมีเป้าหมาย ที่จะไปแข่งขันในตลาดระดับโลก แต่สินค้า Made in China ดู จะคุณภาพไม่ค่อยดีนักและดูไม่ทันสมัย การบริการก็ไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการใช้ราคาต่ำเพื่อแข่งขันกันส่งออกอย่างไม่เป็นระบบ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน ในสภาพเช่นนี้ สินค้า Made in China จึงถูกจัดเป็นสินค้าเกรด ต่ำคุณภาพต่ำในตลาดโลกไปโดยปริยาย ทั้งยังมีความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างประเทศบ่อยครั้ง รวมถึงการถูกจำกัดโควตา เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างภาพลบแก่จีน และยังเกิดความเสียหายทางการเงินด้วย

รัฐบาลจีนเริ่มที่จะยกระดับกระบวนการทางการค้าต่างประเทศเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์อันสำคัญยิ่งของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของจีน ระหว่างปี 2554-2558 ได้แสดงให้เห็นว่าได้มีการสนับสนุนให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการที่จะทำให้กระบวนการที่เกี่ยวกับการค้าต่างประเทศดียิ่งขึ้น กล่าวคือไม่เพียงแต่การประกอบการเพื่อการส่งออกแต่จะครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบเน้นการผลิตชิ้นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ ระบบโลจิสติกส์ และการขยายบทบาทห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในประเทศให้มากขึ้น

จากสถิติที่ได้บันทึกไว้ มีบริษัทองค์กรขนาดใหญ่ของโลกที่ติดอันดับ “Fortune 500” ของนิตยสารฟอร์จูน ถึง 480 แห่งได้เข้ามาลงทุนในจีน สิ่งที่จีนจะได้รับประโยชน์ก็คือเทคโนโลยี การจัดการด้านคุณภาพ และแนวความคิดทางการตลาดอันก้าวล้ำ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและส่งเสริมให้กระบวนการผลิตของจีนก้าวขึ้นไปสู่การเป็น “โรงงานของโลก” ที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง ในการวิจัยและพัฒนา มีการออกแบบที่โดดเด่น ตลอดจนการได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งเมื่อก้าวไปสู่จุดนั้นสินค้า Made in China ก็จะได้แสดงบทบาทสำคัญในตลาดโลก เพราะได้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องยากและต้องใช้กระบวนการที่ยาวนานพอสมควร เพื่อที่จะยกระดับมาตรฐานสินค้า Made in China การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความพยายามอย่างจริงจังของบริษัทจีนเท่านั้น

การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและความก้าวหน้าของเศรษฐกิจจีน จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย เอเชีย และกับโลกด้วย และเป็นที่น่ายินดีที่เห็นว่าจีนยังคงเป็นประเทศแรกที่ทั้งธนาคาร โลกและองค์กรวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจระดับโลกหลายแห่งมองว่า เป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งการที่รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 8% ในปี 2555 นั่นหมายถึงว่าจีนยังมีความตั้งมั่นที่จะแก้ไขและสร้างเสถียรภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการค้าระหว่างประเทศ

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จีนควรฉวยโอกาสอย่างเต็มที่จากข้อได้เปรียบที่มีอยู่จากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อเร่งรัดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในแง่ของความรวดเร็วและคุณภาพ และเมื่อใดก็ตามที่จีนสามารถลบล้างจุดอ่อนของสินค้า Made in China และสามารถเสริมความเข้มแข็งด้านคุณภาพรวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า Made in China ก็จะเกิดการยกระดับมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศของจีนให้สูงขึ้น

จึงไม่น่ามีข้อสงสัยแต่อย่างใดว่า จีนจะก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการค้าระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งในไม่ช้า