วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Green > Eco Life > แค่ “ทราย” กับ “ทะเล” ไม่โรแมนติก ยังชีพไม่ได้

แค่ “ทราย” กับ “ทะเล” ไม่โรแมนติก ยังชีพไม่ได้

“ทรายกับทะเล” เป็นคำพูดที่ชวนให้นึกถึงภาพบรรยากาศสวยงามโรแมนติก แต่สำหรับคนชุมชนบ้านกลาง ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา คือภาพแห่งความทรงจำอันเจ็บปวด เป็นภาพที่คนในชุมชนต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี ลบภาพนั้นทิ้งไป พวกเขาตั้งใจจะไม่ปล่อยให้ภาพนั้นกลับมาเกิดขึ้นอีก

ภาพล่าสุดที่ป่าชุมชนบ้านกลางวันนี้ พื้นทรายบริเวณกว้างที่สุดเป็นเพียงลานพักผ่อนริมทะเลขนาดไม่กี่ตารางเมตร สำหรับให้ชาวชุมชนมาทำกิจกรรมหรือพาลูกหลานมาเล่นหรือพักผ่อนชมวิวในยามแดดร่มลมตกหลังว่างจากกิจการงาน

ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือแปรสภาพกลับมาเป็นป่าชายเลนแนวหนาทึบ จากแผ่นดินยื่นไปในทะเลมากกว่า 300 เมตร รวมพื้นที่กว่า 3,100 ไร่ ทำหน้าที่เป็นแนวชายฝั่งชั้นยอดให้กับชุมชน ทั้งการป้องกันภัยพายุ หรือแม้แต่สึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก กับการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งรายได้ของชุมชนบ้านกลางให้ชุมชน หาเลี้ยงตัวเองได้อย่างอยู่ดีมีสุข ไม่ต้องทิ้งถิ่นไปทำงานรับจ้างให้เกิดภาวะขาดแคลนความอบอุ่นในครอบครัว

“อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านก็จับปลา หาปู วันหนึ่งออกไปไม่กี่ชั่วโมงกลับมาได้เงินเกือบ 2 พันบาท ไม่ต้องไป ทำงานที่อื่นได้อยู่กันพร้อมหน้าครอบครัว” แม่บ้านวัย 30 ปีรายหนึ่งเล่าด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข

เธอเล่าว่าสมัยที่เธอยังเด็ก สภาพของชุมชนผิดกับตอนนี้ ไม่มีป่าชายเลน เพราะมีนายทุนเข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าชายเลน มองไปทางไหนมีแต่ ทรายที่ถูกแยกแร่ออกไปแล้วพ่นเป็นกองดำเลอะไปหมด คนในหมู่บ้านก็มีรายได้จากการเป็นลูกจ้างทำงานในเหมืองแร่ บางรายก็ถึงกับเฟื่องฟู รวมทั้งพ่อของเธอ แต่เมื่อเหมืองแร่เก็บของกลับบ้านก็ทิ้งไว้แต่ ทะเลทราย

“เหลือแค่ทะเลทรายจริงๆ อาชีพก็ไม่เหลือ ไม่มีคนจ้างงาน จะออกทะเลก็จับปลาไม่ได้ ไม่มีป่า ปูปลาที่ไหนจะมีที่เติบโต ตอนเด็กๆ จำได้ว่าพ่อยังต้องออก ไปรับเหมาก่อสร้างข้างนอก ไม่ชอบเลย พอกลับมาปลูกป่ากัน เดี๋ยวนี้คนที่นี่กลับมา ทำประมงชายฝั่งได้ ไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่นเลย เราเองก็ได้อยู่บ้านกับลูก”

ประมงชายฝั่งของชาวบ้านกลางเป็นแบบพึ่งพาตัวเอง วันหนึ่งทำงานไม่กี่ชั่วโมงก็พอเลี้ยงครอบครัว มีต้นทุนมีกำไรพอเหลือเก็บในครัวเรือน เพราะหาเองขายเองถึงมือผู้บริโภค ไม่ต้องพึ่งทุนจากเถ้าแก่แพปลาเหมือนยุคแรก ที่หาปลาก็ยากแล้วแถมยังมีข้อจำกัดว่าต้องส่งสินค้าผ่านแพปลาที่กู้เงินมาเป็นทุนเท่านั้น

ชาวชุมชนบ้านกลางร้อยละ 99 เป็นชาวมุสลิมที่รักธรรมชาติและรักความสงบ เมื่อสมัยที่ชุมชนล่มสลายเพราะป่าชายเลนถูกทำลายจนเหลือศูนย์ ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานชุมชนมาก่อน หัวหน้าชุมชนก็ไม่ปฏิเสธที่จะนิมนต์พระสงฆ์นักปฏิบัติจากพื้นที่ใกล้เคียงที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาชุมชนเข้ามาแนะนำวิธีการดำเนินงานและแนวคิดในการ สร้างจิตอาสาฟื้นฟูชุมชน

“ผมเป็นคนไปเชิญมาเองสมัยแรกๆ เพราะเราไม่มีคนทำเป็นว่าจะเริ่มอย่างไร เราเชิญมาในฐานะผู้ให้ความรู้ ก่อนเชิญก็ชี้แจงให้คนในหมู่บ้านทราบเสียก่อนว่าไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักศาสนาใดๆ เหมือนท่านมาเป็นครู” สุรพงษ์ สุมาลี เลขาธิการฯ คณะทำงานป่าชุมชนของชุมชนบ้านกลางกล่าว

ภาพที่เขาเล่ามานี้นับเป็นภาพของ การเปิดใจกว้าง ความสามัคคี และการอยู่ ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่างซึ่งหลายๆ ชุมชนสามารถนำไปพิจารณาใช้ได้

ส่วนประวัติความเจ็บปวดก่อนที่ชุมชนบ้านกลางจะได้รับฟื้นฟูเริ่มต้นในยุคพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทย ในยุคนั้น 80-90% ของคนในชุมชนทำอาชีพประมงชายฝั่ง ถนนในหมู่บ้านก็เป็นแค่ดินลูกรัง เริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2523 สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี

กรมป่าไม้ซึ่งยังมีหน้าที่ดูแลป่าชายเลนในยุคนั้นให้สัมปทานป่าไม้ในพื้นที่บ้านกลาง รวมทั้งป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัด พังงาเพื่อเผาไม้โกงกางทำถ่าน ป่าเริ่มร่อยหรอแต่ก็ไม่ถึงกับหมดไป เพราะอย่างน้อยกรมป่าไม้ก็มีกฎในการสัมปทานว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องปลูกป่าชดเชยตาม หลักการจัดการป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก จะด้วยเพราะขาดหลักวิชาป่าไม้ที่แน่นพอหรือขาดจิตสำนึก ก็ล้วนมีส่วนทั้งสิ้น

“ยุคนั้นเป็นบริษัทจากสิงคโปร์เข้ามาสัมปทานทำถ่านโกงกาง แต่ก็ไม่ได้ทำลายป่ามาก”

สัญญาณร้ายของการทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมชุมชนขนาดใหญ่มาจากคำว่า “แร่หมื่นล้าน” ตัวการที่พลิก พื้นที่ป่าชายเลนของชาวบ้านกลางให้กลายเป็นทะเลทราย

ยุคนั้นชาวบ้านก็ดีใจกับสถานะทาง เศรษฐกิจที่เติบโตไปพร้อมกิจการเหมืองแร่โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบในวันข้างหน้าเช่นกัน

เงื่อนไขการทำเหมืองแร่ยุคนั้นไม่ได้รวมการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับเป็นอย่างเดิมหลังเลิกกิจการ บริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่มีทั้งจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ระหว่างปี 2523-2533 นับเป็นช่วงสูงสุดแห่งการทำลายล้าง ภายในเวลา 10 ปี จากป่าชายเลนหนาทึบ อ่าวพังงาแปรสภาพเป็นอ่าวน้ำดำ ป่าชายเลนกลายเป็นทะเลทรายชายฝั่ง เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านซาบซึ้งกันถ้วนหน้าว่า “แม้แร่หมื่นล้านจะสร้างความรุ่งเรืองสุดขีดให้หมู่บ้าน แต่ก็เป็นตัวทำให้ชุมชนอยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด”

“ชาวบ้านลำบากมาก แต่ปี 2533 ก็เริ่มกลับมาพูดเรื่องการปลูกป่า เพราะเราจะอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ ต้องมีป่า แต่ชาวบ้าน 99% ยังไม่เห็นด้วย กว่าจะเริ่มปลูกได้จริงปี 2535 และปลูกได้แค่ 10 กว่าไร่” สุรพงษ์กล่าว

ยุคเริ่มต้นปลูกป่าเป็นช่วงเดียวกับที่สุรพงษ์เชิญพระนักปฏิบัติมาให้ความรู้ แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นด้วย ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ปลูกป่ามาอย่างต่อเนื่อง ปลูกไปเรื่อยๆ จนคนที่ไม่เห็นด้วยเริ่มเห็นด้วยในที่สุด

ภายใน 1 ปี จากปี 2535-2536 มีจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนที่ชุมชนช่วยกันฟื้นฟูกลับมาได้ราว 100 ไร่ โดยไม่มีงบจากรัฐบาลสักบาทมาช่วยเหลือ หลังปี 2536 มีทีมนักวิชาการจากญี่ปุ่นนับ 100 คน เข้ามาดูเรื่องปลูกป่าในพื้นที่ ทำให้การฟื้นฟูป่าชายเลนของชุมชนบ้านกลางดังทั่วประเทศ

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น กรมป่าไม้เข้ามา สนับสนุนด้านปลูกป่า การได้รับเลือกให้เป็นป่าชุมชนดีเด่นจากโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ผู้นำหลายคนในชุมชนกลายเป็นแกนกลางของเครือข่ายการดูแลรักษาป่าชายเลนในระดับภาคและประเทศจากประสบการณ์ตรงที่เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจนเห็นผล

วันนี้ที่ชุมชนบ้านกลางมีพื้นที่ป่าที่คณะกรรมการป่าชุมชนของชุมชนรับผิดชอบอยู่มากกว่า 3,100 ไร่ และได้รับความ ไว้วางใจให้เป็นแกนหลักในการฟื้นฟูและดูแลพื้นที่ป่าชายเลนของทั้งตำบลรวมกว่า 7 หมื่นไร่ และได้รับความร่วมมือจากชุมชน ใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างกว้างขวาง

“ที่ชุมชนข้างเคียงยอมร่วมด้วยก็เพราะเห็นจากสิ่งที่เราทำ ป่าก็มี สัตว์น้ำ ก็มี ชาวบ้านก็มีชีวิตดีขึ้น ตอนเกิดสึนามิคนส่วนใหญ่ก็ได้เรียนรู้ว่าการมีป่าชายเลนช่วยป้องกันอันตรายจากสึนามิได้ด้วย ทุกคนเชื่อแล้วเห็นกับตาว่ามีป่าแล้วดีอย่างไร” ประสาน โนนทอง ประธานป่าชุมชนบ้านกลางกล่าว

นอกจากสึนามิที่เข้ามาช่วยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอัตราเร่งในการปลูกป่าในเขตตำบลบางเตยที่ชุมชนบ้านกลางสังกัดอยู่ เครือข่ายของ 6 หมู่บ้านจาก 9 หมู่บ้าน ของตำบลที่มีพื้นที่ป่าชายเลนที่เต็มใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายปลูกป่ายังเกิดขึ้นเพราะกลยุทธ์ของผู้นำชุมชนบ้านกลางที่ต้องการให้ชุมชนใกล้เคียงหันมาปลูกป่าด้วย

ประธานป่าชุมชนเล่าว่าเขาใช้วิธีนำเงินทุนที่ชุมชนได้มาจากรางวัลและโครงการต่างๆ นอกเหนือจากที่เก็บสะสมไว้ในธนาคารหมู่บ้านเพื่อดูแลคนในชุมชนแล้ว บางส่วนนำไปเป็นแรงสนับสนุนเบื้องต้นให้กับชุมชนใกล้เคียงในการปลูกป่า พร้อมกับสร้างกิจกรรมให้มีการปลูกป่าร่วมกัน โดยเริ่มขยายเครือข่ายครั้งแรกประมาณปี 2551 ยอมรับว่ากำลังทรัพย์ มีส่วนมากที่จะช่วยให้การขยายเครือข่ายเติบโตได้เร็วขึ้น

“เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2535 แต่กว่าจะขยายเครือข่ายได้จริงใช้เวลาเกือบ 20 ปี ใช้เทคนิคนี้แหละจัดกิจกรรมให้คนเห็นบ่อยๆ ให้มาดูว่าเราทำแล้วสำเร็จอย่างไร จนเขายอมรับ จนตอนนี้ป่าข้างๆ เริ่มเป็นฝ่ายขอเข้ามาเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมกับเรา จนในที่สุดก็เอาแต่ละป่ามารวมกันช่วยกันดูแล”

ณ วันนี้ไม่เพียงเฉพาะป่าชายเลนที่บ้านกลางเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักของกลุ่มเครือข่ายคนรักษ์ป่าทั่วประเทศ แต่พวกเขายังทำให้จังหวัดพังงา มีชื่อเสียงในฐานะจังหวัดที่มีป่าชายเลนมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยตัวเลขป่ารวมกันสูงถึง 1.6 แสน ไร่ คิดแล้วมากกว่า 10% ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งประเทศจำนวน 1.2 ล้านไร่