วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “So Asean” ลุยเฟส 2 แผนใหญ่ “ฟู้ดออฟเดอะเวิลด์”

“So Asean” ลุยเฟส 2 แผนใหญ่ “ฟู้ดออฟเดอะเวิลด์”

 
 
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด ใช้เวลากว่า 2 ปี สร้างโมเดล ผุดร้านอาหารอาเซียน SO Asean Cafe & Restaurant ชิมลางสาขาแรกในศูนย์การค้า “เดอะสตรีท รัชดา” ผ่านไป 1 ปี แม้รายได้บรรลุเป้าหมาย แต่ยังมี “โจทย์” ข้อยากที่สุด ซึ่งถือเป็นการบ้านที่ยังทำไม่เสร็จและอาจต้องยกเป็น “วาระแห่งชาติ” ของประเทศในการปลุกกระแสอาเซียนให้เกิดขึ้นจริงด้วย 
 
“เพราะอาหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาเซียน….” นงนุชกล่าวกับ “ผู้จัดการ360  ํ” ก่อนอธิบายต่อว่า การเปิด So Asean แม้ล่าสุดมีแผนขยายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นช่วงการเรียนรู้ประสบการณ์จากลูกค้า เพื่อปรับเปลี่ยนร้านให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย
 
ข้อสำคัญที่สุด คือ การให้ความรู้ เพื่อปลุกกระแสความเป็น “อาเซียน” ตามวิชั่นของฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ เพราะ “ฟู้ดออฟเอเชีย” แท้ที่จริงถือเป็นหมากอีกตัวของการเติมเต็มเป้าหมายทางธุรกิจขั้นต่อไปของไทยเบฟ จาก “ธุรกิจเครื่องดื่ม” สู่ “ธุรกิจอาหาร” และการเป็นยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารครบวงจร 
 
จากยุทธศาสตร์ Vision 2020  ซึ่งเป็นโรดแมพดำเนินธุรกิจช่วง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2563 เพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุด และมีผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ากันว่า ในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงมีการพูดคุยและวางแนวทางสู่ Vision 2030 เพื่อขยายแนวรบทางธุรกิจอย่างกว้างขวางและธุรกิจอาหารคือเป้าหมายหนึ่งที่ฐาปนกำลังศึกษาข้อมูลอย่างเข้มข้น 
 
นงนุชบอกว่า วิชั่นของฐาปนกว้างไกลมาก ไม่ได้จำกัดเฉพาะ Food of  Asia โดยกำหนดโจทย์ข้อแรกและเป็นข้อที่ยากมาก คือ การทำธุรกิจอาหารเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความนิยมของคนเอเชีย วันหนึ่งอาจเป็นอาหารอินเดีย อาหารยุโรป หรือแม้กระทั่งอาหารอเมริกาใต้อย่างเม็กซิกัน ฟู้ดออฟเอเชียทำได้หมด โดยเน้นการสร้างต้นแบบ เพื่อขยายแบรนด์ทำตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ในอาเซียน เอเชีย แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัท 
 
ปัจจุบัน บริษัท ฟู้ดออฟเอเชีย มีร้านอาหารในเครือรวม 5 แบรนด์ คือ 1. ร้านอาหาร So Asean Cafe & Restuarant  ล่าสุดเปิดแล้ว 4 สาขาที่เดอะสตรีท รัชดา, เกตเวย์เอกมัย, เอฟวายไอเซ็นเตอร์ และไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์
 
2. ร้านกาแฟ So Asean Coffee  มี 2 สาขาที่อาคารแสงโสมและไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์
 
3. ภัตตาคารจีนสไตล์กวางตุ้ง “Man Fu Yuan (หม่าน ฟู่ หยวน)” ซึ่งเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยความชอบรสชาติอาหารจีน จึงซื้อกิจการเข้ามารุกตลาดในไทย โดยเปิดร้านแรกที่สโมสรราชพฤกษ์ในโครงการนอร์ธปาร์ค และล่าสุดขยายอีก 2 สาขาที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนกับสยามดิสคัฟเวอรี่ 
 
4. ฟู้ดคอร์ท ภายใต้แบรนด์ “Food Street” เปิดสาขาแรกในโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ “เดอะสตรีท” ย่านรัชดาภิเษก และขยายเพิ่มในศูนย์การค้าเกตเวย์เอกมัย พันธ์ทิพย์ประตูน้ำ และไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์ 
 
สุดท้าย “MX”  ร้านเค้กและเบเกอรี่ ซึ่งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มแม็กซิม กรุ๊ป ฮ่องกง เปิด บริษัท แมกซ์ เอเชีย จำกัด เพื่อบุกตลาดเค้กและเบเกอรี่ โดยถือเป็นร้านเบเกอรี่อันดับ 1 จากฮ่องกงที่เข้ามาเปิดสาขาแรกในอาเซียน ล่าสุดเปิดสาขาที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลบางนา และตั้งเป้าจะขยายเพิ่มอย่างน้อยอีก 7 สาขาภายในปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม แม้ฟู้ดออฟเอเชียมีเป้าหมายกว้างกว่าอาหารเอเชีย แต่นงนุชยอมรับกับ “ผู้จัดการ360  ํ” ว่า ช่วงเวลา 2 ปีตั้งแต่ฐาปนดึงตัวเข้ามาเป็นแม่ทัพสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ ยังเจอโจทย์ยากทางการตลาด โดยเฉพาะการปลุก So Asean ซึ่งถือเป็นแบรนด์หลักตามวิชั่นของฐาปน ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
 
“ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ทุกคนพูดถึงการเปิดอาเซียนเพราะเป็นจังหวะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แต่ทุกคนกลับมีความรู้เกี่ยวกับชนชาติอาเซียนน้อยมาก ทำให้การขยายร้านต้องอาศัยความพร้อมอย่างมากและหลังจากนี้ บริษัทจะต้องเร่งแนะนำอาหารให้เป็นที่รู้จัก หลายคนเข้าร้านได้ชิมอาหารบอกอร่อย แต่ไม่เคยรู้ และมีคนอีกมหาศาลที่ยังไม่ได้ลอง ซึ่งหมายถึงโอกาสอีกมหาศาลที่จะสร้างแบรนด์ So Asean”
 
ปัจจุบัน ร้าน So Asean มีรายการอาหารอาเซียนมากกว่า 80 เมนู แต่การหว่านทำตลาดทั้งหมดทำให้เข้าถึงลูกค้ายาก เมื่อไม่รู้จัก ไม่เดินเข้าร้าน ทำให้นงนุชต้องงัดกลยุทธ์ใหม่ เปิดตัว 10 เมนูซิกเนเจอร์ ปรับหน้าตาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และสอดแทรกวัฒนธรรมการกินของคนอาเซียนในอาหารทุกเมนู 
 
เช่น เมนูซิกเนเจอร์จาก สปป.ลาว สลัดหลวงพระบางหมูย่าง ข้าวจี่เนื้อย่าง แจ่วเวียงจันทน์ เมนูรสแซ่บที่เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวชุบไข่ทอด จิ้มกับแจ่วหมากเลนสไตล์เวียงจันทน์ ทำจากมะเขือเทศ พริก กระเทียมนำไปย่างให้สุกก่อนโขลกให้เข้ากัน
 
“อาม็อกปลา” จากกัมพูชา ห่อหมกปลาสไตล์เขมร ใช้เนื้อปลาน้ำจืดคลุกเคล้าเครื่องแกงผสมกับถั่วลิสงคั่วโขลกละเอียด ซึ่งแตกต่างจากห่อหมกทั่วไป หรืออย่างประเทศเมียนมา ได้แก่ “หล่าเพ็ด (Lah Pet)” หรือยำสลัดใบชาหมักสไตล์เมียนมา คล้ายเมี่ยงคำของไทย กินกับเครื่องเคราต่างๆ เช่น ถั่วทอด หอมเจียว กุ้งแห้ง และงาคั่ว  
 
หรือถ้าพูดถึงบรูไนต้องรู้จัก “ปลาสมุนไพรห่อใบเตย” ปรุงจากเนื้อปลาคลุกเคล้าเครื่องแกงและสมุนไพร นวดจนเนื้อเหนียวเด้ง ห่อใบเตยและย่างจนหอมกรุ่น เสิร์ฟพร้อมซอสซัมบัล (sambal) ลักษณะคล้ายน้ำพริกไทย เป็นที่นิยมในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และศรีลังกา รวมทั้งในเนเธอร์แลนด์และซูรินามที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารชวา ทำได้ทั้งจากพริกขี้หนูและพริกอื่นๆ ซึ่งซัมบัลเป็นคำที่มีรากศัพท์จากภาษาชวา “ซัมเบ็ล”
 
แน่นอนว่า ทุกเมนูนอกจากความอร่อยแล้ว ฟู้ดออฟเอเชียจะเน้นการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนให้ลูกค้ารับรู้ ซึ่งไทยเบฟได้วางโมเดลธุรกิจเชื่อมโยงกับศูนย์ซี-อาเซียน (C-Asean) เพื่อสร้าง A Hub for Asean โดยมี “อาหาร” เป็นกลยุทธ์สำคัญ และกำลังเร่งวางแผนสร้างโมเดลเมมเบอร์การ์ดที่เชื่อมโยงสมาชิก ทั้งสมาชิกฟู้ดออฟเอเชียและซี-อาเซียน ในการแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์และข้อมูลถึงกันทั้ง 10 ประเทศ เหมือนการสร้างฮับย่อยในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา วัฒนธรรม และธุรกิจ
 
นงนุชย้ำว่า ทันทีที่ So Asean สามารถปลุกกระแสอาเซียนอย่างกว้างขวาง เซตระบบทุกอย่างลงตัว จะหมายถึงโรดแมพขั้นต่อไป เพื่อเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ เพราะไทยเบฟมีทั้งเงินทุนมหาศาลและเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก 
 
ฟันธง อย่างเร็ว คือ ปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินปีหน้าแน่!!