วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Recreation > From Paris > ภาพเขียนของมงดรีออง

ภาพเขียนของมงดรีออง

อีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ดีไซเนอร์ชื่อดังผู้ล่วงลับไปแล้ว นำภาพเขียนของจิตรกรดังไปจำลองบนตัวเสื้อ จึงเห็นเสื้อปักเลื่อมหลากสีที่เป็นภาพเขียนของวินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent van Gogh) เดรสตัดต่อลายแบบภาพเขียนของจอร์จส์ บราค (Georges Braque) หรือมงดรีออง (Mondrian)

อีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ดีไซเนอร์ชื่อดังผู้ล่วงลับไปแล้ว นำภาพเขียนของจิตรกรดังไปจำลองบนตัวเสื้อ จึงเห็นเสื้อปักเลื่อมหลากสีที่เป็นภาพเขียนของวินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent van Gogh) เดรสตัดต่อลายแบบภาพเขียนของจอร์จส์ บราค (Georges Braque) หรือมงดรีออง (Mondrian)

เสื้อมงดรีอองของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ มีพื้นขาวที่มีลายเส้นนอนและเส้นตั้งสีดำ แบ่งเป็นช่องที่เติมสีแดงบ้าง น้ำเงินบ้าง เหลืองบ้าง ดูรวมๆ ก็สวยดี อาจเป็นเพราะรูปแบบเรียบๆ ที่เป็นแสคตรง ไม่มีส่วนแต่งวุ่นวายที่จะทำให้ลวดลายบนตัวเสื้อด้อยลงไป

ศิลปะแบบมงดรีอองไม่ต้องใจนัก หากสนใจใคร่รู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร แล้วก็สมใจอยาก ด้วยว่าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ จอร์จส์ ปงปิดู (Centre national d’art et de culture Georges Pompidou) จัดนิทรรศการ Mondrian/De Stijl ขึ้น

พีท มงดรีออง (Piet Mondrian) เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ (1872-1944) พ่อเป็นครูสอนวาดเขียน และมีลุงเป็นจิตรกร พีท มงดรีอองเรียนศิลปะในวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ในอัมสเตอร์ดัม และเป็นครูโรงเรียนประถม ขณะเดียวกันก็ฝึกปรือการวาดเขียน ผลงานในช่วงแรกยังเป็นแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (impressionniste) สไตล์เนเธอร์แลนด์ที่เรียกว่า The Hague school เขียนรูปท้องทุ่ง กังหันลม แม่น้ำ บางรูปสะท้อนรูปแบบป็วงติยิสต์ (pointilliste) แต้มเป็นจุดๆ ให้เป็นภาพขึ้นมา บ้างก็ใช้สีจัดแบบโฟวิสต์ (fauviste)

มงดรีอองเดินทางไปปารีสในปี 1912ได้เห็นผลงานแบบกูบิสต์ (cubiste) ของปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และจอร์จส์ บราค (Georges Braque) จึงหันมาผลิตผลงานแบบกูบิสต์บ้าง เขาเดินทางกลับไปเนเธอร์แลนด์เพราะพ่อเสียชีวิต และติดอยู่ที่นั่นเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่เขาไปสมาคมกับอาร์ติสต์แขนงต่างๆ ได้รู้จักกับเตโอ วาน โดสบูรก์ (Theo van Doesburg) วิลโมส ฮาสซาร์ (Vilmos Haszar) บาร์ต วาน แดร์ เลค (Bart van der Leck) เกอริต รีตเวลด์ (Gerrit Rietveld) ซึ่งมีปรัชญาในการเขียนรูปแบบเดียวกัน ทั้งนี้เตโอ วาน โดสบูรก์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวบรวมเพื่อนร่วมอุดมการณ์ และพิมพ์นิตยสารชื่อ De Stijl เพื่อเผยแพร่ความคิดของพวกตน และต่อมา De Stijl จึงเป็นชื่อเรียกกลุ่มอาร์ติสต์กลุ่มนี้ เรียกศิลปะของกลุ่มตนเป็นนีโอพลาสติซิสม์ (neoplasticism)

ผลงานของมงดรีอองตั้งแต่ปี 1920 เป็นแบบแอ็บสแทร็คต์ เน้นรูปแบบ เมินเนื้อหา ภาพของเขาจึงมีพื้นขาวที่มีเส้นสีดำพาดไปมา เป็นเส้นตั้งและเส้นนอนตัดกัน บางช่องใส่สีแดง น้ำเงิน เหลือง เป็นแม่สีล้วนๆ จึงดูโดดเด่น มงดรีอองถอนตัวจากกลุ่ม De Stijl ในปี 1921 และกลุ่มนี้สลายไปเมื่อเตโอ วาน โดสบูรก์เสียชีวิต

 

มงดรีอองเดินทางกลับมาปารีส มีสตูดิโอเขียนรูปในย่านมงต์ปาร์นาส (Montparnasse) ซึ่งกลายเป็นที่ชุมนุมของเพื่อนอาร์ติสต์อาวองต์-การ์ด (avant-garde) ในยุคนั้นเขาเดินทางไปลอนดอนในปี 1938 เพื่อหนีภัยสงคราม และเมื่อนาซีเข้ายึดครองปารีส เขาจึงเดินทางต่อไปยังนิวยอร์กในปี 1940 และพำนักที่นั่นจนเสียชีวิตในปี 1944 ที่นิวยอร์กเขาพบปะสังสรรค์กับอาร์ติสต์อเมริกัน และเข้ากลุ่ม American abstract artists ได้รู้จักกับมักซ์ เอิร์นส์ (Max Ernst) และแจ็คสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) เป็นต้น

มงดรีอองพำนักในปารีสระหว่าง 1912–1938 นิทรรศการแรกจัดที่เมืองหลวงของฝรั่งเศส ย้อนกลับไปในปี 1969 โดยจัดที่พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Musée de l’Orangerie) ในบริเวณสวนตุยเลอรีส์ (jardin des Tuileries) และทิ้งช่วงมาจนถึงปลายปี 2010 จึงมีการจัดนิทรรศการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทิ้งช่วงกว่า 30 ปี

Mondrian/De Stijl เป็นนิทรรศการที่สะท้อนผลงานของมงดรีอองช่วงที่พำนักในปารีส โดยได้รับความร่วมมือจาก Gemeentemuseum ที่กรุงเฮก หลายภาพขอยืมจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (Guggenheim) ในนิวยอร์ก พิพิธภัณฑ์ Kunshaus ในซูริก พิพิธภัณฑ์ Boijmans Van Beuningen ในรอตเตอร์ดัม Tate Gallery แห่งลอนดอน เป็นต้น

ศิลปะแบบ De Stijl มิได้มีแต่ภาพเขียน ด้วยว่าอาร์ติสต์ของกลุ่มนี้เป็นอาร์ติสต์แขนงอื่นๆ ด้วย เช่น เกอริตรีตเวลด์ ซึ่งเป็นสถาปนิก เป็นต้น จึงสะท้อนรูปแบบในสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายในและเครื่องเรือนด้วย

Gemeentemuseum ที่กรุงเฮก มีผลงานของมงดรีอองจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีที่ Amsterdam Stedelijk museum และ Centraal museum ที่เมืองอูเทรคต์ (Utrecht)

เมื่อครั้งที่ปิแอร์ แบร์เจ (Pierre Bergé) นำงานศิลป์ที่เขาสะสมร่วมกับอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ออกขายประมูล ผลงานของมงดรีออง ชื่อ Composition avec le bleu, rouge, jaune et noir 1922 ขายได้ถึง 21.5ล้านยูโร เป็นภาพที่อีฟส์ แซงต์โลรองต์ซื้อมาหลังจากเขาทำเสื้อชุด Mondrian ในปี 1965 ถึงกระนั้นพ่อค้างานศิลป์เห็นว่ามงดรีอองมิใช่อาร์ติสต์ยอดนิยมสำหรับผู้ชอบสะสมงานศิลป์ ไม่เหมือนผลงานของปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) โคล้ด โมเนต์ (Claude Monet) หรืออเมเดโอ โมดิกลีอานี (Amedeo Modigliano)