วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > On Globalization > ร่างกฎหมายต่อต้านเรื่องเพศและเชื้อชาติในการทำแท้งในประเทศอเมริกา

ร่างกฎหมายต่อต้านเรื่องเพศและเชื้อชาติในการทำแท้งในประเทศอเมริกา

 
Column: Women in Wonderland
 
อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศอเมริกานั้นการทำแท้งถือเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย รัฐบาลอเมริกามองว่าการทำแท้งเป็นสิทธิที่เสมอภาคกันของผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าต้องการที่จะเก็บทารกไว้ต่อไป หรือต้องการที่จะทำแท้งเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์และอาจจะยังไม่พร้อมในการมีบุตร กฎหมายของแต่ละรัฐในประเทศอเมริกานั้นมีการอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายตามระยะเวลาการตั้งครรภ์ ซึ่งจะถูกกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละรัฐ
 
การเลือกเพศทารกในครรภ์นั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะที่ประเทศจีนและอินเดีย ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว หลายคนน่าจะยังจำได้ว่าที่ประเทศจีนนั้น ก่อนหน้านี้รัฐบาลอนุญาตให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้แค่คนเดียวเท่านั้น เพื่อเป็นการคุมจำนวนประชากร คนจีนในหลายครอบครัวที่รู้ว่าได้ลูกสาวก็เลือกที่จะไม่แจ้งรัฐบาลว่ามีลูกและให้เด็กคนนั้นอยู่แบบผิดกฎหมาย หรือเลือกที่จะฆ่าเด็กทิ้ง และตั้งท้องใหม่จนกว่าจะได้ลูกชาย 
 
ในปัจจุบันเรื่องการคุมจำนวนประชากรของแต่ละประเทศไม่ได้เป็นเรื่องที่สำคัญมากแล้ว อย่างประเทศจีนเองก็ยกเลิกให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้แค่หนึ่งคนเท่านั้น แต่เรื่องที่มีความสำคัญต่อจำนวนบุตรในแต่ละครอบครัวคือการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงอย่างเวลานี้ แต่ละครอบครัวก็จะมีการวางแผนมากขึ้นว่าควรจะมีลูกกี่คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีลูกน้อยลงประมาณ 1–2 คนต่อครอบครัว
 
ในขณะเดียวกันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้สามารถอัลตราซาวด์เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และดูเพศของทารกได้ การที่พ่อแม่รู้เพศของทารกได้ก่อนและด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจทำแท้งหลังจากรู้ว่ากำลังจะได้ลูกสาว อย่างที่ประเทศอินเดียก็มีค่านิยมรักและอยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว ดังนั้นในอินเดียจึงมีการทำแท้งที่มีสาเหตุมาจากการเลือกเพศทารกในครรภ์จำนวนมาก
 
Sital Kalantry ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเลือกเพศทารกในอินเดียและอเมริกาพบว่า จากสถิติในช่วง 10–20 ปีมานี้ จำนวนเด็กหญิงที่เกิดมานั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในอินเดียที่สัดส่วนการเกิดระหว่างเด็กชายและหญิงต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสัดส่วนที่ต่างกันนี้น่าจะมาจากการที่คนอินเดียเลือกที่จะมีลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง โดยตัดสินใจทำแท้งถ้าหากทราบว่าทารกในครรภ์นั้นเป็นเพศหญิง
 
ในช่วง 5–6 ปีที่ผ่านมานี้ หลายรัฐในอเมริกาได้มีการพูดกันถึงเรื่องการเลือกเพศทารกในการทำแท้ง เพราะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจทำแท้งหลังจากที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์และทารกในครรภ์มีเพศที่ไม่ตรงกับที่ตัวเองต้องการก็จะตัดสินใจทำแท้ง ความคิดนี้ทำให้นักสิทธิมนุษยชนในหลายองค์กรเริ่มเรียกร้องไม่ให้มีการทำแท้งเกิดขึ้นในกรณีเหล่านี้ 
 
มากกว่า 25 รัฐในประเทศอเมริกาที่มีการพูดกันในร่างกฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับการทำแท้ง และในปัจจุบันมีอยู่ 5 รัฐที่ห้ามไม่ให้ทำแท้งเพราะการเลือกเพศ คือรัฐเพนซิลเวเนีย อิลลินอยส์ โอคลาโฮมา แอริโซนา และนอร์ทดาโกตา 
 
นอกจากนี้ยังมีอยู่อีก 10 รัฐด้วยกัน ที่ในเวลานี้รัฐบาลของแต่ละรัฐกำลังพิจารณาว่าจะให้กฎหมายนี้ผ่านหรือไม่ ได้แก่รัฐฟลอริดา โคโลราโด อินดีแอนา นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก นอร์ทแคโรไลนา มิสซูรี เทกซัส วิสคอนซิน และเวอร์จิเนีย ทั้งรัฐอิลลินอยส์และเพนซิลเวเนียผ่านกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีการเลือกเพศทารก ทั้งสองรัฐนี้ประกาศใช้กฎหมายนี้มาเกือบ 30 ปีแล้ว 
 
ทั้งรัฐอิลลินอยส์และเพนซิลเวเนียต่างก็มีความเห็นเหมือนกันว่า การสนับสนุนให้คนทำแท้งได้ถ้าพวกเขาไม่ได้ทารกที่มีเพศตามที่ต้องการ จะเป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ซึ่งจะทำให้บ้านที่มีทั้งลูกชายและลูกสาว ลูกสาวจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันในครอบครัว อย่างเช่นลูกชายอาจจะได้เรียนหนังสือสูงกว่าลูกสาว และนี่ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เท่าเทียมในสังคมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงได้
 
ขณะเดียวกันรัฐบาลกลางของประเทศอเมริกาเองก็ได้หยิบยกประเด็นต่อต้านการเลือกเพศและเชื้อชาติของเด็กทารกในการทำแท้งขึ้นมาคุยกันอีกครั้ง ร่างกฎหมายฉบับนี้คือ Prenatal Nondiscrimination Act of 2016 หรือเรียกย่อๆ ว่า PRENDA ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎรในปี 2555 และตกไปในที่สุด 
 
ในเดือนเมษายน 2559 ร่างฉบับนี้ได้ถูกนำมาพูดกันอีกครั้งและถ้าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน หมอที่ทำแท้งให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพียงเพราะต้องการเลือกเพศหรือเชื้อชาติของทารกในครรภ์จะต้องถูกดำเนินคดีและจำคุกสูงสุด 5 ปี
 
ในร่างกฎหมายของอเมริกามีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ทำแท้งให้และคนที่ต้องการทำแท้งเพราะเพศของทารกในครรภ์ไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง แต่กฎหมายของอเมริกายังคงอนุญาตให้คนเป็นพ่อแม่สามารถเลือกเพศของลูกได้ในการทำกิ๊ฟและเด็กหลอดแก้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ในมดลูกและมีการเจริญเติบโตแล้ว คนเป็นพ่อแม่จะไม่สามารถทำแท้งได้ถ้าหากเพศของทารกในครรภ์ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
 
ที่ประเทศอินเดีย รัฐบาลอินเดียรู้ว่าคนอินเดียส่วนใหญ่ต้องการที่จะมีลูกชายมากกว่าลูกสาว และหลายคนที่รู้ว่าได้ลูกสาวก็ตัดสินใจทำแท้งแทน รัฐบาลจึงได้ผ่านกฎหมายไม่อนุญาตให้หมอเปิดเผยกับคนไข้ว่าพวกเขาได้ลูกสาวหรือลูกชายจากการทำอัลตราซาวด์ ในขณะที่มีอีกหลายประเทศด้วยกันที่ไม่อนุญาตให้คนเป็นพ่อแม่เลือกเพศของลูกตัวเองได้ในการทำกิ๊ฟและเด็กหลอดแก้ว
 
อีกเรื่องที่หลายคนมองข้ามไปคือ ทำแท้งเพราะทารกในครรภ์มีเชื้อชาติที่พวกเขาไม่ต้องการ ในประเทศที่ไม่มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่อย่างจีนกับอินเดียอาจจะไม่ค่อยพบเห็นปัญหานี้ แต่ในอเมริกาที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่ จะพบว่าในกลุ่มคนหมู่น้อยในอเมริกาอย่างคนแอฟริกันนั้นจะมีสัดส่วนของคนที่ทำแท้งจำนวนมากเมื่อเทียบกับคนอเมริกัน 
 
นักวิชาการและองค์กรสิทธิมนุษยชนในอเมริกาเชื่อว่า มีคนกลุ่มน้อยในอเมริกาจำนวนมากที่ตัดสินใจทำแท้งเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากเชื้อชาติของคนที่เป็นพ่อเด็ก หรืออาจจะกังวลว่าเด็กที่คลอดออกมาจะมีเชื้อชาติและสีผิวในแบบที่ตัวเองไม่ต้องการและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม 
 
ในประเทศอเมริกาจำนวนผู้หญิงแอฟริกันอเมริกันที่ทำแท้งนั้นสูงกว่าคนอเมริกันถึง 5 เท่า แม้จะมีบางคนแย้งในเรื่องนี้ว่า สาเหตุที่ทำให้คนแอฟริกันมีสัดส่วนการทำแท้งสูงกว่าคนชาติอื่นๆ ก็เป็นเพราะพวกเธอไม่สามารถหาซื้อยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยได้ เพราะรายได้ของพวกเธอนั้นน้อยมาก แต่หลายคนก็มองว่าการซื้อถุงยางอนามัยและยาคุมยังถูกกว่าการทำแท้ง ดังนั้นเหตุผลเรื่องถุงยางอนามัยและยาคุมจึงดูไม่สมเหตุสมผลกับจำนวนคนที่ทำแท้ง (หลายรัฐในประเทศอเมริกานั้นการทำแท้งถือเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่คนที่ต้องการทำแท้งจะต้องจ่ายเงินเอง และรัฐบาลกลางก็ไม่อนุญาตให้แต่ละรัฐนำเงินที่ได้จากรัฐบาลกลางมาช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คนที่ต้องการทำแท้งจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง)
 
ความกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเกี่ยวกับการตัดสินใจทำแท้งเพียงเพราะทารกในครรภ์นั้นเป็นเพศที่ตัวเองไม่ต้องการหรืออาจมีเชื้อชาติหรือสีผิวที่คนเป็นแม่ไม่ต้องการ ทำให้รัฐบาลกลางของอเมริกาตัดสินใจที่จะให้ร่างกฎหมาย PRENDA ห้ามไม่ให้มีการทำแท้งในทั้งสองกรณีนี้ 
 
ในประเทศอเมริกานั้นมีเพียงรัฐแอริโซนารัฐเดียวเท่านั้นที่ห้ามไม่ให้ทำแท้งเพราะสีผิวและเชื้อชาติของทารก ดังนั้นแอริโซนาจึงเป็นรัฐเดียวในอเมริกาที่ห้ามทำแท้งในกรณีการเลือกเพศ เลือกสีผิวและเชื้อชาติของทารก
 
การที่สัดส่วนของคนที่ทำแท้งดูไม่สมเหตุสมผลอย่างกรณีของคนแอฟริกันที่มีอัตราการทำแท้งสูง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเลือกเชื้อชาติและสีผิวของทารก หรือกรณีของคนเอเชียที่มีการทำแท้งสูงเช่นกันเพราะต้องการเลือกเพศของทารกในครรภ์ ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการศึกษามากกว่านี้ เพื่อหาทางป้องกันที่แน่ชัด และแน่นอนว่าถ้าร่างกฎหมาย PRENDA ของอเมริกาผ่านขึ้นมาก็น่าจะช่วยให้จำนวนคนทำแท้งในอเมริกานั้นลดลงได้
 
 
 
Photo Credit: http://www.freeimages.com/photo/life-7-to-12-weeks-1316897