วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “คนจับปลา” จากชาวประมง ส่งตรงถึงผู้บริโภค คนอยู่ได้ ทะเลอยู่รอด

“คนจับปลา” จากชาวประมง ส่งตรงถึงผู้บริโภค คนอยู่ได้ ทะเลอยู่รอด

อาหารทะเลเป็นที่โปรดปรานของใครหลายๆ คน แต่เคยสงสัยไหมว่า ปลาหนึ่งตัวที่อยู่บนโต๊ะอาหารนั้น มีที่มาอย่างไร ถูกจับมาจากที่ไหน โดยวิธีการอะไร และมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลายและสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ที่เป็นทั้งแหล่งอาหารให้กับคนในประเทศและสามารถส่งออกสร้างรายได้มหาศาล แต่ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่กำลังถูกทำลาย ความอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง การทำประมงเกินขนาดที่เน้นปริมาณและขาดความรับผิดชอบคือหนึ่งในตัวการที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อนที่สมควรได้เติบโตกลับถูกจับทั้งที่ยังไม่โตเต็มวัย ทำให้ทะเลไทยเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และกำลังกลายเป็นวิกฤตอาหารทะเลที่ถูกซ่อนเอาไว้ จนผู้บริโภคไม่ทันได้ตระหนัก

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้เปิดเผยถึงสถิติการจับสัตว์น้ำทะเลที่น่าสนใจไว้ว่า “ปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลโดยรวมกว่า 1,500,000 ตัน มาจากการประมงพาณิชย์ 1,249,203 ตัน และจากประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน 161,462.36 ตัน จากปริมาณสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลที่จับได้โดยการประมงพาณิชย์ พบว่ามีเพียง 50% เท่านั้นที่สามารถนำมาบริโภคได้ แต่อีก 50% กลับไม่ได้คุณภาพ เป็นสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ในที่สุด นั่นทำให้อาหารทะเลมีราคาแพง ในขณะที่ผลผลิตจากการประมงพื้นบ้านเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณภาพถึง 90% แม้ผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่ามากแต่กลับมีคุณภาพมากกว่า”

ซึ่งนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยมองว่า เราอาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าประมงพาณิชย์คือตัวการสำคัญในการทำลายความสมบูรณ์ของทะเล แต่การทำประมงโดยใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างและเกินขนาด อันเป็นการทำประมงที่ขาดความรับผิดชอบต่างหากคือตัวการแห่งความเสื่อมโทรมของท้องทะเลไทย

คำถามต่อมาคือ เครื่องมือทำลายล้างเหล่านั้นมีอะไรบ้าง?

เครื่องมือประมงที่ถือเป็นตัวทำลายล้าง ประกอบไปด้วย “อวนลาก” มีลักษณะคล้ายถุง และใช้เรือลากอวนให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า โดยลากตั้งแต่พื้นทะเลไปจนถึงผิวน้ำ ซึ่ง 2 ใน 3 ของสัตว์น้ำที่จับได้ล้วนไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย ยังไม่โตเต็มวัย ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ พื้นทะเลเสียหายเหมือนถูกรถไถกวาดหน้าดิน บ้างก็ใช้เรือลากคู่ กลายเป็นเรืออวนลากคู่ ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศทางทะเลมากที่สุด

“อวนรุน” คล้ายกับอวนลาก แต่ต่างกันที่จะดันไปข้างหน้า โดยใช้อวนประกบกับคันรุน มักพบในน้ำตื้น ซึ่งทำลายหน้าดินใกล้บริเวณชายฝั่งทะเล นิยมใช้เพื่อจับกุ้ง เคย ปลากะตัก หมึก แต่เนื่องจากปากอวนที่เปิดสูงทำให้จับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมายมาด้วย

“อวนล้อม” เรือจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อปลาในเวลากลางคืน โดยใช้ร่วมกับอวนตาถี่ ทำให้ปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่ปลาเป้าหมายและสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับติดขึ้นไปด้วย

และโดยส่วนมากมักใช้อวนตาถี่หรืออวนตามุ้งที่มีขนาดเล็กมากๆ มาใช้ในการทำประมง เพื่อให้ได้สัตว์น้ำในปริมาณมาก ซึ่งแน่นอนว่าสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยย่อมหลุดลอดไปได้ยาก โดยเฉพาะลูกปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปลาทู ปลาอินทรี ทำให้ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง เป็นการประมงขนาดเล็ก ใช้เครื่องมือแบบพื้นบ้านที่แยกตามประเภทของสัตว์น้ำที่ต้องการจับ เช่น อวนปลา อวนกุ้ง อวนปลาหมึก เน้นการเลือกจับตามประเภท ตามฤดูกาล แม้จะจับได้ในปริมาณน้อย แต่มีคุณภาพ และไม่ตักตวงจากธรรมชาติจนเกินความจำเป็น ซึ่งวิโชคศักดิ์ในฐานะที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลมายาวนาน มองว่า ภูมิปัญญาของการประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ ตลอดจนการปลุกจิตสำนึกและปรับปรุงเครื่องมือในการทำประมงจะเป็นทางรอดให้กับทะเลไทย

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน อ่าวคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบกับวิกฤตทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนักอันเกิดจากการใช้อวนตาถี่และการทำประมงเกินขนาด กวาดจับสัตว์น้ำน้อยใหญ่แทบทุกชนิด จนทำให้ไม่มีปลาและสัตว์น้ำอื่นให้จับ ชาวประมงต้องออกเรือไปหาปลาต่างพื้นที่จนทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งในปี 2551 ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชาวประมงบ้านคั่นกระไดจึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลหน้าบ้านให้กลับคืนมา พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่การทำประมงพื้นบ้านไปพร้อมๆ กัน

เริ่มจากการเลิกใช้อวนตาถี่ สร้าง “ซั้งกอ” และ “ธนาคารปู” เพื่อเป็นบ้านให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน ห้ามใช้เครื่องมือทำประมงทำลายล้าง ควบคู่กับการวางมาตรการสำหรับคนนอกพื้นที่ที่จะเข้ามาจับปลาในเขตของตน ซึ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวคั่นกระไดประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน สัตว์น้ำกลับคืนสู่อ่าวคั่นกระไดอีกครั้ง ทำให้ชาวบ้านตระหนักความสำคัญของการอนุรักษ์มากขึ้น

ชาวประมงบ้านคั่นกระไดจึงกลายเป็นภาพสะท้อนของชุมชนประมงพื้นบ้านอีกหลายๆ แห่ง ที่รวมตัวกันขึ้นเป็นสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้างแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการทำประมงอย่างยั่งยืนเพื่อดูแลรักษาทะเล และผลิตอาหารทะเลที่สด สะอาด ปลอดสารเคมีให้กับผู้บริโภค

ไม่เพียงเท่านั้นสมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยได้สร้างช่องทางจำหน่ายสัตว์น้ำโดยชาวประมงพื้นบ้านเอง เพื่อให้ชาวประมงสามารถขายสัตว์น้ำได้ในราคาที่เป็นธรรมไม่ผ่านระบบแพปลาหรือพ่อค้าคนกลางที่ค้าขายแบบผูกขาดอันส่งผลให้อาหารทะเลมีราคาสูง และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารทะเลที่สะอาดปลอดภัย อันเป็นที่มาของ “ร้านคนจับปลา” ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูป และอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นโดยเครือข่ายประมงพื้นบ้าน โดยก่อตั้งครั้งแรกที่ประจวบคีรีขันธ์ในปี 2557 ก่อนขยายต่อไปยังนครศรีธรรมราช สตูล และตรัง

ฉลาก “คนจับปลา” หรือ Fisherfolk ที่ประทับอยู่บนแพ็กเกจอาหารทะเลของร้านคนจับปลา แม้จะเป็นชื่อง่ายๆ แต่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและความเป็นมาที่น่าสนใจ และทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เข้าใจชาวประมงและสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลได้มากขึ้น

“ร้านคนจับปลา” เป็นกิจการของชาวประมงในนามสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ร่วมหุ้นกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย ดำเนินการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนและกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) โดยยึดหลัก GREEN-CLEAN-FAIR เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน เริ่มจาก GREEN คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม CLEAN เน้นสะอาด ปลอดภัย ไร้สารเคมี และ FAIR สร้างความเป็นธรรมตลอดเส้นทาง เป็นธุรกิจอาหารทะเลปลอดภัยที่ดำเนินควบคู่ไปกับความยั่งยืนของระบบนิเวศและเป็นธรรมต่อชาวประมง โดยร้านคนจับปลาจะรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นเครือข่ายในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 20%

เงื่อนไขสำคัญของกิจการร้านคนจับปลาคือ ผลกำไรที่ได้จากการดำเนินการต้องคืนกลับไปสู่การอนุรักษ์ท้องทะเลอันเป็นแหล่งหากินของชาวประมงต่อไป โดยผลกำไรต้องแบ่ง 30% เป็นค่าบริหารจัดการ 30% ปันคืนให้กับชุมชน อีก 40% เข้าสู่งานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล เช่น การทำซั้งกอและธนาคารปู เป็นต้น ดังนั้นผู้บริโภคที่อุดหนุนสินค้าจึงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาท้องทะเลไปกับสมาชิกชาวประมงในเครือข่ายด้วยเช่นกัน

อาหารทะเลแบรนด์คนจับปลานั้นอยู่ภายใต้มาตรฐาน “BLUE BRAND CERTIFIED” หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและสมาคมรักษ์ทะเลไทย เพื่อการันตีความสด สะอาด และปลอดภัย

การที่จะได้รับมาตรฐาน BLUE BRAND CERTIFIED นั้น อาหารทะเลดังกล่าวต้องเป็นสัตว์น้ำทะเลที่จับได้จากท้องถิ่นโดยชุมชนประมงที่ไม่ใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ยั่งยืนและไม่รับผิดชอบ เช่น อวนลาก อวนตาถี่ อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้า, จับสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะสม, ไม่ใช้สารเคมีและสารกันเสียทั้งในอาหารทะเลสดและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม, สินค้าต้องสามารถสืบย้อนหาแหล่งที่มาได้, เชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นกับงานอนุรักษ์ในท้องถิ่นและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของชุมชน, สะอาดและมีแนวทางจัดการของเสียที่ชัดเจน, มีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ามาตรฐาน BLUE BRAND CERTIFIED ไม่เพียงเป็นตราสัญลักษณ์ที่การันตีอาหารทะเลที่สด สะอาด ปลอดภัย สำหรับผู้บริโภคเท่านั้น หากยังเป็นการรับประกันถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล และนั่นหมายถึงความมั่นคงทางอาหารต่อคนรุ่นหลังอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ของร้านคนจับปลามีหลายชนิดทั้งอาหารแช่แข็งอย่าง กุ้งแชบ๊วย ปลาทู ปลาหลังเขียว จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ปูม้า กั้ง ปลากุเลาจากนครศรีธรรมราช, กุ้งแชบ๊วยจากตรัง, ปลาอินทรีของสตูล นอกจากนี้ ยังมีสินค้าแปรรูปอย่างกะปิ ปลาอินทรีเค็ม ปลาหลังเขียวหวาน-เค็ม ปลากุเลาเค็ม กุ้งแห้ง และหมึกแดดเดียว เป็นต้น

ในอดีตผู้บริโภคในเมืองอาจได้รับรู้เรื่องราวของชาวประมงผ่านข่าวการเรียกร้อง หรือการประท้วงต่างๆ โดยอาจจะไม่เข้าใจความเป็นมามากนัก ร้านคนจับปลาจึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการสื่อสารด้วยวิธีแบบใหม่ โดยใช้ปลาเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวของประมงพื้นบ้าน และความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อไป เพราะผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตลาด

ปัจจุบันร้านคนจับปลามีช่องทางการจำหน่ายผ่านทาง Facebook Page และทาง Line รวมถึงวางจำหน่ายที่ร้านเลมอนฟาร์ม ซึ่งถือว่าช่องทางจำหน่ายยังมีไม่มากนัก เพราะฉะนั้นนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารเรื่องราวของชาวประมงให้ผู้บริโภคได้รับรู้แล้ว การขยายช่องทางการจำหน่ายจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของร้านคนจับปลา

ที่ผ่านมาคนจับปลายังคงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างตลาดให้กับชาวประมงพื้นบ้าน และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาให้ความสนใจอาหารปลอดสารมากขึ้น ทั้งผ่านการตลาดออนไลน์และการออกร้านตามงานต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวประมงได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งร้านคนจับปลาเชื่อว่ามันไม่เพียงเป็นการสร้างตลาดเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนจับปลาและคนกินปลาอีกด้วย ชาวประมงเองเขาจะนึกถึงคนกินมากขึ้น เหมือนกำลังทำอาหารให้ญาติพี่น้องของตนได้กิน และสำหรับผู้บริโภคเองก็จะรู้ที่มาของปลา หรืออาหารทะเลที่ซื้อมามากขึ้น รู้ว่าใครเป็นคนจับ จับมาอย่างไร รู้ว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้นจะไปถึงใครบ้าง

และที่สำคัญ เงินที่จ่ายออกไปนั้นไม่ใช่เพียงการซื้ออาหารทะเล แต่มันคือการลงทุนเพื่อสุขภาพของตัวเราเอง ที่สามารถดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ท้องทะเล และการอุดหนุนเกื้อกูลชาวประมงพื้นบ้านไปพร้อมๆ กัน

ใส่ความเห็น