วันเสาร์, กันยายน 14, 2024
Home > Cover Story > สุภัค หมื่นนิกร กว่าจะเป็น Siam Steak สูตรสยามเบอร์เกอร์

สุภัค หมื่นนิกร กว่าจะเป็น Siam Steak สูตรสยามเบอร์เกอร์

“คุณแม่ผมสร้างแฮมเบอร์เกอร์ไทยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว เวลานั้นคนไทยไม่รู้จักแฮมเบอร์เกอร์เลย เพราะเป็นเมนูอยู่ในโรงแรมห้าดาวมาตลอด อินเตอร์แบรนด์เพิ่งเข้ามาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว แต่ห้าสิบปีที่แล้วคุณแม่ผมวางแฮมเบอร์เกอร์ในซูเปอร์มาร์เกต ปรากฏว่าขายไม่ได้ เพราะคนไทยไม่รู้จัก!!”

สุภัค หมื่นนิกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์ฟาร์ม จำกัด ผู้บริหารกิจการ “สยามสะเต๊ค” (Siam Steak) กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ย้อนเส้นทางการบุกเบิกตลาดครั้งแรกของ แจ่มจันทร์ หมื่นนิกร ก่อนปลุกปั้นแบรนด์ฟาสต์ฟูดสายพันธุ์ไทยและยืนหยัดฝ่าทุกมรสุมจนมาถึงปัจจุบัน

จริงๆ แล้วเดิมแจ่มจันทร์เป็นนักแปลภาษาให้คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย หรือจัสแมกไทย (JUSMAGTHAI) ซึ่งเข้ามาตั้งฐานทัพในช่วงสงครามเวียดนาม และสังเกตเห็นว่า ทหารอเมริกันนิยมรับประทานเบอร์เกอร์เป็นอาหารหลักเกือบทุกมื้อ ขณะที่เบอร์เกอร์เป็นเมนูหารับประทานยากมากในประเทศไทย ยังไม่มีเชนร้านเบอร์เกอร์อินเตอร์แบรนด์เข้ามาบุกตลาด

เธอจึงเห็นช่องทางการตลาด เกิดไอเดียอยากทำธุรกิจเบอร์เกอร์ อยากให้คนไทยรู้จักและลิ้มลองความอร่อยของเบอร์เกอร์รสชาติแบบไทยๆ

แจ่มจันทร์ตัดสินใจขอเรียนวิชากับเชฟฝรั่งในโรงอาหารของจัสแมกไทย เพื่อปรุงสูตรเบอร์เกอร์ของตนเอง ใช้เวลา 1 ปีเต็ม พัฒนาเนื้อแพตตีใส่ในขนมปังเบอร์เกอร์ ตั้งชื่อว่า Siam Steak ทดลองวางขายตามซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ แต่ขายแทบไม่ได้

“หลังจากวันนั้น คุณแม่ผมปิดห้องนั่งคิดอยู่ 3 วัน เกิดไอเดียว่า ต้องใช้กลยุทธ์ First trial โดยติดต่อห้างเซ็นทรัลชิดลม เปิดงานอีเวนต์และจุดทดลองชิม”

กระทั่งวันหนึ่ง ลูกชายของ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้มาซื้อเนื้อแพตตีเบอร์เกอร์ของ Siam Steak ในห้างแห่งหนึ่งไปรับประทานและชื่นชอบความอร่อยจนมอบป้ายการันตี “เชลล์ชวนชิม” ได้โฆษณาลงในคอลัมน์เชลล์ชวนชิมของนิตยสารฟ้าเมืองไทย ทำให้ชื่อเสียงของ Siam Steak เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ  ห้างต่างๆ ทั้งไทยไดมารู เพลินจิตอาเขต ห้างดังๆ ในยุคสมัยนั้น ประมาณยี่สิบห้างรุมติดต่อออกงานอีเวนต์มากมาย

ขณะเดียวกัน สุภัคเติบโตและเห็นการทำธุรกิจของผู้เป็นแม่ตั้งแต่เรียนชั้นประถม 3 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ซึ่งแจ่มจันทร์ตัดสินใจเลือกโรงเรียนแห่งนี้เปิดร้านสยามสเต๊คในโรงเรียนสาขาแรก

“ผมเรียนอัสสัมชัญตั้งแต่ ป.1 ประมาณ 9 ขวบ คุณแม่จบครู ด้วยความเป็นครู อยากให้ลูกๆ หลานๆ มีอาหารดีๆ กิน จึงติดต่อโรงเรียน อยากเอาอาหารเข้ามาขาย กลายเป็นร้านสาขาแรกของสยามสเต๊ค และเริ่มกระจายต่อๆ กัน คุณพ่อจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไปเปิดขายที่จุฬาฯ  คุณลุงเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไปขายต่อที่ธรรมศาสตร์ พอคุณพ่อทำงานที่ กฟผ. สะพานพระราม 6 ก็ไปขายที่นั่น เริ่มขยายทั้งในห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา โรงเรียน เรื่อยมา”

แน่นอนว่า แจ่มจันทร์ใช้เวลาหลายปีสร้างแบรนด์ “สยามสะเต๊ค” ชูซิกเนเจอร์เมนู “สยามเบอร์เกอร์” ที่แตกต่างจากเบอร์เกอร์ทั่วไป พัฒนาเมนูใหม่ๆ รสชาติและคุณภาพ จนกระทั่งสุภัคเข้ามาช่วยวางระบบดำเนินงานต่างๆ ก่อนตัดสินใจเปิดขายแฟรนไชส์ช่วงปี 2561 หลังมีเสียงเรียกร้องมากมาย ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่อยากสร้างกิจการร้านอาหารของตัวเองและกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงวางแผนขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันสยามสะเต๊คเปิดสาขารวมทั่วประเทศ  80 แห่ง แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 60 แห่ง และสาขาแฟรนไชส์ 20 แห่ง ซึ่งตามแผนในปีหน้าบริษัทจะเร่งขยายสาขาทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะมีโรงเรียนเปิดใหม่จำนวนมาก ทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล จำนวนรวมๆ หลักแสนโรง แต่สยามสะเต๊คเพิ่งเข้าไปเพียง 50-60 แห่ง ยังมีช่องว่างอีกมาก

นอกจากนั้น รุกขยายทำเลอื่นๆ ทั้งปั๊มน้ำมัน คอมมูนิตี้มอลล์ ตลาดนัดระดับบน แม้อินเตอร์แบรนด์เริ่มเจาะทำเลปั๊มน้ำมันและทำเลใกล้สถาบันการศึกษาเช่นกัน

“เรากล้าแข่งกับอินเตอร์แบรนด์ เปิดประกบได้ แต่อยากเจาะทำเลรองลงมาที่มีโอกาสมากกว่า เพราะสินค้าเรามีเอกลักษณ์ สินค้าสไตล์ฝรั่ง แต่รสชาติไทย อย่างเมนูสยามเบอร์เกอร์ที่มีชีส ไข่ สับปะรด ต้องบอกว่า 50 ปียังไม่มีอินเตอร์แบรนด์ไหนในโลกเอาสินค้าตัวนี้ไปเป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง หรือข้าวผัดอเมริกัน เมนูหาไม่ได้ในอินเตอร์แบรนด์ รวมถึงกลุ่มแพนเค้กเบอร์เกอร์”

ที่สำคัญ สุภัคมั่นใจในจุดแข็งหลายข้อ ตั้งแต่ชื่อ Siam Steak มีเสน่ห์ในตัว “Siam” มีความคลาสสิกในตัว ความเป็นสตอรี่ ความเป็นวัฒนธรรม บวกกับ Steak สื่อความร่วมสมัย

ข้อสอง การที่แจ่มจันทร์มีพื้นฐานความเป็นครู อยากนำเสนอของดีๆ ให้นักเรียน ภายใต้ปรัชญาสำคัญ คือ คุณภาพดี รสชาติอร่อย และสะอาด

ข้อสาม โรงงานของสยามสะเต๊คใช้เครื่องจักรนำเข้าจากยุโรป ซึ่งแพงกว่าเครื่องจักรของจีนหรือไต้หวัน หลายเท่าตัว มีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตสินค้าจำนวนมาก แต่รสชาติที่มีความละเอียดแบบ Hand made ถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ตอกย้ำวัฒนธรรมการทำอาหารของแม่ให้ลูกรับประทาน

เมื่อถามถึงการเข้าสู่ธุรกิจอาหารของครอบครัว ส่วนตัวยังอยากทำธุรกิจอื่นหรือไม่ สุภัคกล่าวว่า  มีอีกอาชีพที่ชอบถึงขั้นรักมาก คือ การสอนหนังสือ ซึ่งปัจจุบันร่วมมือกับ Thai Franchise Center และเปิดสถาบัน Food Franchise Institute จัดอบรมธุรกิจร้านอาหารและแฟรนไชส์ในประเด็นศึกษามากมาย

“ตลาดแฟรนไชส์เติบโตได้มหาศาลและขยายไปต่างประเทศได้ แต่ปัญหาบ้านเรา คือ แฟรนไชซอเอาเปรียบแฟรนไชซี และแฟรนไชซอไม่เข้มแข็ง  มีปัญหาสัญญาแฟรนไชส์ไม่เป็นธรรม ไม่มีทีมสนับสนุนจริงจัง การลงทุนหลักหมื่นหลักแสน หลักต่ำกว่า 5 แสนบาท มีปัญหาเยอะมาก แต่ธุรกิจที่ลงทุนเกิน 5 แสนบาท ส่วนใหญ่แบรนด์มีความรู้ มีประสบการณ์ แต่ต้องบอกว่า คนไทยรู้จักแฟรนไชส์น้อยมาก โอกาสจะพัฒนาและใช้แฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์จริงๆ ค่อนข้างน้อย แต่มีโอกาสสำหรับคนรู้จริงและพัฒนาได้ครบสูตรจริงๆ”

ดังนั้น ธุรกิจแฟรนไชส์จึงมีกิจการตายตลอดเวลา โดยเฉพาะกิจการลงทุนต่ำกว่า 5 แสนบาท และจะเกิดใหม่มากเหมือนแมงเม่า มีคนเข้าคนออกทดแทนกันไป ยกเว้นผู้ลงทุนมีความรู้จริงย่อมมีโอกาสรอดก่อน

“ส่วนตัวผมเป็นคนคิดเสมอว่า เมื่อใดมีอุปสรรคจะเห็นโอกาส อย่างช่วงโควิดที่ร้านอาหารปิดตัวจำนวนมาก ผมขายแฟรนไชส์ได้ในช่วงโควิด แต่ผมเชื่อ ไม่ได้จบแค่โควิด ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อนเกิดโรควัวบ้ายังเป็นกลุ่มเล็ก ต่อมาเกิดโรคหวัดหมูขยายใหญ่ขึ้น และเกิดไข้หวัดนก ผลกระทบใหญ่กว่าโรคหมู จนเกิดโควิด-19 ซึ่งใหญ่กว่าทุกกรณี แต่โรคภัยไข้เจ็บมีการพัฒนาพร้อมๆ กับยาและวัคซีน ถ้าเชื้อโรคปรับตัวแข็งขึ้น อาจเกิดโควิด-20 โควิด-22 แน่ เพียงแต่จะเกิดเมื่อไหร่”

“สำคัญที่สุด เราต้องนั่งนิ่งๆ มองทุกอย่าง ทั้งบวกและลบ จะเห็นโอกาสและมันคือโอกาสของผมอีกมากมายด้วย” สุภัคย้ำกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ในท้ายที่สุด.