วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > โลตัสเร่งเป้าออนไลน์โต 30% ยันส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำเฉือนคู่แข่ง

โลตัสเร่งเป้าออนไลน์โต 30% ยันส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำเฉือนคู่แข่ง

โลตัส” ประกาศเดินหน้ารุกช่องทางออนไลน์ หลังเปิดตัว Lotuss SMART App ยกเครื่องออนไลน์ขนานใหญ่เมื่อปี 2565 มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 10 ล้านคน กวาดยอดขายเพิ่มขึ้นชนิดก้าวกระโดด และที่สำคัญตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ออนไลน์จะเติบโตถึง 30% ภายในสิ้นปี 2567

หากดูตัวเลขผลการดำเนินงานของบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริหารธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” และค้าปลีก “โลตัส” ช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวม 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และกำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งบริษัทระบุว่า มาจากการเติบโตของยอดขายภายในสาขาเดิม โดยเฉพาะการขายออนไลน์และการขายนอกร้านพร้อมการส่งสินค้าถึงลูกค้า หรือ Omni Channel เนื่องจากบริการดีลิเวอรีของโลตัสสามารถทำเวลาได้เร็วขึ้น ทำให้จัดส่งออเดอร์เพิ่มมากขึ้น

ซีพี แอ็กซ์ตร้า ระบุว่า สถิติการจัดส่งดีลิเวอรีของโลตัส โก เฟรช ซึ่งเป็นสาขาขนาดเล็ก เฉลี่ยใช้เวลาจัดส่งสินค้าจากสาขาถึงมือลูกค้าภายในเวลา 30 นาที จากปกติภายใน 1 ชั่วโมง

ส่วนสาขาขนาดใหญ่ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต ใช้เวลาส่งสินค้าเฉลี่ย 1 ชั่วโมงครึ่ง จากปกติภายใน 3 ชั่วโมง ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งมีออเดอร์หนาแน่น ต้องใช้เวลานานกว่านั้น ส่งผลให้ยอดขายเติบโตสูง และสัดส่วนยอดขาย Omni channel เติบโตอยู่ที่ 16.3% จากเป้าหมายทั้งปี 15% ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ขยับเพิ่มเป้าหมายเป็น 17% ภายในปี 2567

ขณะเดียวกัน หากรวมยอดขายสินค้าผ่านบริการดีลิเวอรี Makro Pro ของค้าส่ง “แม็คโคร” มีอัตราเติบโตถึง 77% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลตัส กล่าวว่า โลตัสยกระดับ “โลตัส สมาร์ท แอป” เพื่อให้รู้จักและรู้ใจลูกค้ามากขึ้น ผนวกกับเทรนด์การช้อปปิ้งออนไลน์ที่นิยมมากขึ้น ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน โลตัส สมาร์ท แอป เติบโตก้าวกระโดด สามารถสร้างยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า 1 ล้านออเดอร์ ภายใน 1 เดือน ยอดขายต่อบิลเฉลี่ย 200-300 บาท

ทั้งนี้ บริษัทใช้จุดขายภายใต้แนวคิด “โจทย์ด่วน-โจทย์หนัก ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ” ถือเป็นร้านค้าปลีกรายแรกของไทยที่ปรับการบริการจัดส่งสินค้าจากทั้งสาขาเล็กและสาขาใหญ่ทั่วประเทศ มีสินค้ากว่า 30,000 รายการ ครอบคลุมสินค้าอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเสริมความงาม และสินค้าสำหรับแม่และเด็ก โดยโจทย์ด่วน คือ ส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมงจากสาขาโลตัสโกเฟรช ซึ่งมีเครือข่ายสาขามากกว่า ระยะทางใกล้กว่า และภายใน 3 ชั่วโมง กรณีสั่งซื้อจากสาขาใหญ่

ถ้าเป็น “โจทย์หนัก” กรณีสินค้าชิ้นใหญ่ จะจัดส่งภายในวันถัดไป แบบส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำเช่นกัน โดยลูกค้าสามารถเลือกเวลาการรับสินค้าได้เองทุกครั้ง นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ให้ลูกค้าสามารถช้อปผ่าน “โลตัส สมาร์ท แอป” พร้อมจัดส่งฟรีในวันถัดไปได้

นอกจากนั้น เพิ่มแคมเปญส่วนลดสินค้าในแต่ละวันตลอดสัปดาห์ เช่น วันจันทร์ รับคูปองส่วนลดผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม วันอังคาร รับโลตัสคอยน์เพิ่ม 5 เท่า พร้อมคูปองส่วนลดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสด วันศุกร์รับคูปองส่วนลดผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก ผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง รวมทั้งจัดรีวอร์ดโปรแกรม “มายโลตัส” ที่ทรานส์ฟอร์มจากบัตรสะสมคะแนนสู่ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม Personalized Lifestyle Platform บนฐานข้อมูลลูกค้ามายโลตัสกว่า 17 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านยูสเคสกว่า 10 ล้านยูสเคสต่อสัปดาห์ ที่จะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของลูกค้าจากจุดให้บริการของโลตัสกว่า 10,000 จุดทั่วประเทศ ควบคู่กับการทำงานร่วมกับพันธมิตรกว่า 10,000 แบรนด์ ทั้งในเครือและนอกเครือ

นายธรินทร์กล่าวว่า โลตัสได้ปรับสิทธิพิเศษให้ลูกค้าสะสมโลตัสคอยน์ง่ายขึ้น เมื่อซื้อสินค้า 50 บาทขึ้นไป รับโลตัสคอยน์ 0.5% และสามารถสะสมแลกเป็นส่วนลดแทนเงินสด 1 โลตัสคอยน์ มีมูลค่า 1 บาท ใช้ซื้อสินค้าได้ทั้งหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกโลตัสคอยน์หลายพันล้านคอยน์จากลูกค้าในแอปพลิเคชันกว่า 10 ล้านคน นอกจากนั้น เพิ่มสิทธิพิเศษ EAT-PLAY-STAY-HEALTH เช่น หาหมอออนไลน์กับหมอดีแอป รับสิทธิพิเศษส่วนลด 5-35% ค่ารักษาพยาบาลและโปรแกรมตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล 70 แห่งทั่วประเทศ

ในแง่เครือข่ายสาขา โลตัสวางนโยบายกระจายจุดจัดส่งรองรับช่องทางออนไลน์และบริการดีลิเวอรีครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศผ่านสาขาต่างๆ โดยจำนวนสาขาทั้งหมดของโลตัส ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ 2,454 แห่ง ประกอบด้วยสาขาไฮเปอร์มาร์เกต 226 แห่ง ซูเปอร์มาร์เกต 178 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เกต 2,050 แห่ง

ด้านแม็คโครมีสาขา 5 รูปแบบ รวม 163 แห่ง แบ่งเป็นแม็คโครคลาสสิก 80 สาขา ฟู้ดเซอร์วิส 45 สาขา อีโคพลัส 25 สาขา ฟู้ดช็อปขนาดเล็ก 10 สาขา และสาขารูปแบบใหม่ Hybrid Wholesale ซึ่งนำจุดแข็งของค้าส่งแม็คโครมาผนวกรวมกับโลตัส มอลล์ ศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ มีศูนย์อาหาร ร้านค้า โรงเรียนกวดวิชา เพื่อสร้างโมเดลมากกว่าค้าส่ง ขยายฐานลูกค้ากว้างมากขึ้น โดยเพิ่งเปิดตัวได้ 3 แห่ง ได้แก่ สาขาสมุทรปราการ นครสวรรค์ และมหาชัย

ตามแผนเบื้องต้นในปี 2567 บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) จะขยายสาขาแม็คโครในประเทศไทยอีก 6-8 แห่ง ส่วนโลตัสจะเปิดสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 แห่ง โลตัสซูเปอร์มาร์เก็ต 6-8 แห่ง และโลตัสโกเฟรชอีกประมาณ 100 สาขา

แน่นอนว่า ความพยายามปรับกลยุทธ์ทุกรูปแบบของโลตัสและแม็คโครเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ซึ่งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ค้าปลีกทุกค่ายต่างหันมาแข่งขันในสมรภูมิออนไลน์และบริการดีลิเวอรี เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าคุ้นชินกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นปกติและรู้สึกง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดมากกว่าการเดินทางไปจับจ่ายที่ห้างร้าน นอกจากต้องการใช้ชีวิตนอกบ้านตามไลฟ์สไตล์ส่วนตัว เช่น กินอาหาร หรือใช้บริการต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามค้าปลีกแข่งขันช่วงชิงกำลังซื้อและฐานลูกค้าอย่างดุเดือด ซึ่งส่วนหนึ่งเร่งเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นเติบโต ทั้งกรณีรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และมาตรการอัดฉีดต่างๆ โดยเฉพาะโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ปี 2566-2568 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนทรงตัวระดับสูง โดยการเติบโตของธุรกิจแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ถ้าแยกธุรกิจค้าปลีกแต่ละกลุ่มพบว่า ห้างสรรพสินค้าจะมียอดขายเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม Omni Channel การใช้เทคโนโลยี 5G และ AR เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค ผนวกกับการขยายการลงทุนสู่ประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาด จึงช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ต่อเนื่อง

กลุ่มดิสเคานต์สโตร์ ไฮเปอร์มาร์เกต และซูเปอร์เซ็นเตอร์ คาดยอดขายเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ผลจากผู้ประกอบการขยายสาขารูปแบบหลากหลายเหมาะสมกับพื้นที่และกระจายไปในแหล่งชุมชนทั่วประเทศ ทำให้เข้าถึงลูกค้าครอบคลุมมากขึ้น มีการพัฒนาช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อเนื่องและจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าร้านค้าประเภทอื่น แต่ธุรกิจจะเผชิญการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับที่วางขายในร้านค้าปลีกรูปแบบอื่นๆ

กลุ่มซูเปอร์มาร์เกต ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง 6.0-7.0% ต่อปี และเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกประเภทอื่น เนื่องจากมีกลยุทธ์การตลาดสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง มีจุดแข็งด้านคุณภาพของสินค้า และมีกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การปรับรูปแบบร้านค้าเป็นไลฟ์สไตล์พรีเมียมซูเปอร์มาร์เกต เน้นสินค้านำเข้าราคาแพง การขยายสาขาในจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง และการพัฒนารูปแบบการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค

ซูเปอร์มาร์เกตยังมีความได้เปรียบจากขนาดและมีการขยายสาขาในแหล่งชุมชนใหญ่ จึงมีผลประกอบการดีต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ท คาดว่ายอดขายเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี ผลจากการมีสาขาจำนวนมากกระจายไปในทุกพื้นที่ มีการเพิ่มสินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทานและเพิ่มบริการการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการเปิดสาขาของคู่แข่งในพื้นที่เดียวกันและคู่แข่งทางอ้อม โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เกตที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก.