วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > สภาเกษตรกร แก้ไม่ตก เหยื่อประชานิยม

สภาเกษตรกร แก้ไม่ตก เหยื่อประชานิยม

มีการตั้งคำถามว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ คำตอบของการรักษาผลประโยชน์และสร้างเครือข่ายความแข็งแกร่งให้อาชีพเกษตรกรใช่หรือไม่ แต่ดูเหมือนไม่มีใครยืนยันเช่นนั้นได้

องค์กรนี้จัดตั้งเมื่อปี 2555 ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น เป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนแรก มีการยกร่างกฎหมายเพื่อให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพ คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิตและการตลาด ให้ผลิตผลทางการเกษตร ได้รับผลตอบแทนสูงสุด และมีสภาให้เกษตรกรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างเครือข่ายความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร เสนอแนวนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี

ตามโครงสร้างองค์กร สภาเกษตรกรฯ มีประธาน รองประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรเกษตร 16 คน และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ โดยสร้างเครือข่ายทั่วประเทศผ่านผู้แทนอำเภอ ผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน และเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาเกษตรกรยังหนีไม่พ้นปัญหารายได้ตกต่ำ มิหนำซ้ำกลายเป็นเหยื่อทางการเมือง ที่เห็นชัดที่สุดและเสียหายมากที่สุด คือ โครงการจำนำข้าว ที่ทิ้งผลกระทบยาวนานนับสิบปี

หากย้อนมหากาพย์โครงการจำนำข้าวเริ่มต้นเมื่อปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศนโยบายช่วยเหลือชาวนา ผุดโครงการรับจำนำข้าว “รับจำนำข้าวทุกเม็ด” โดยรับซื้อข้าวจากชาวนาในระดับราคาที่กำหนด ถือเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกรว่า ราคาข้าวไม่มีตกและแม้ตกจะไม่กระทบรายได้ของชาวนา เพราะรัฐบาลประกันราคาข้าวไว้ให้แล้ว ซึ่งราคาข้าวที่รัฐบาลรับซื้อในขณะนั้นสูงถึง 15,000-20,000 บาทต่อตัน และสูงกว่าราคาข้าวในตลาดขณะนั้นถึง 50%

ราคาข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดหลายเท่าตัว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลเรื่องความโปร่งใสในการรับจำนำ เพราะเป็นการรับจำนำแบบไม่มีโควตาและทุกเมล็ด ส่งผลให้โรงสี ชาวนา ต่างเร่งปลูกข้าวเพื่อเก็บเกี่ยวให้ทันรอบการรับจำนำ ส่วนคุณภาพข้าวอาจเท่าเดิมหรือลดลง ชาวนาเร่งปลูกเร่งขาย โรงสีเร่งรับซื้อ เก็บข้าวเข้าสต๊อกจนแน่นประเทศ

มีข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2554-2557 รัฐบาลรับจำนำข้าวไปทั้งหมด 5 ครั้ง รวมปริมาณข้าว 54.35 ล้านตัน มูลค่าทั้งหมด 8.57 แสนล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด 9.85 แสนล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินที่นำมาใช้รับซื้อข้าวเป็นเงินนอกงบประมาณที่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ โดยรัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา  เฉพาะปี 2554 ที่เปิดรับจำนำข้าวครั้งแรก มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนโครงการกว่า 3.26 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวถึง 59.78 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม แม้การรับซื้อข้าวในราคาสูง ชาวนาทั่วประเทศได้รับผลประโยชน์ส่วนเกินไปทั้งหมดถึง 5.6 แสนล้านบาท แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกเป็นของชาวนารายกลางและรายใหญ่ ซึ่งอาศัยในเขตชลประทานของภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง

ที่สำคัญ รัฐต้องแบกรับต้นทุนการซื้อข้าวสูงมหาศาล โดยในเดือน เม.ย. 2557 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการขาดทุนการคลังสูงถึง 5.39 แสนล้านบาท หรือเกือบ 53% ของค่าใช้จ่าย ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ระบายข้าวในสต๊อก ที่ในปี 2558 คิดเป็นจำนวนถึง 18 ล้านตัน และการระบายข้าวของรัฐบาลทั้ง 6 โครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2551/52 ถึง 2556/57 ระบายออกไปทั้งสิ้น 44 ครั้ง ประมาณ 13.8 ล้านตัน จาก 13.9 ล้านตัน มูลค่าที่ระบายได้แล้วทั้งสิ้น 105,000 ล้านบาท และยังคงเหลือ 15,000 ตันที่ต้องระบายต่อไป ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้จัดประมูล 42 ครั้ง และองค์การคลังสินค้าเปิดประมูล 2 ครั้ง และมีข้าวในส่วนขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 2551-2557 รวม 8.5 ล้านตัน โดยระบายข้าวได้คิดเป็นเงิน 74,187 ล้านบาท

TDRI เคยประเมินว่า รัฐบาลชุดถัดมาต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อระบายข้าวในระยะเวลา 5-10 ปี อาจขาดทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท และมีสิทธิ์ที่ตัวเลขขาดทุนจะสูงขึ้นอีก เพราะข้าวที่เก็บไว้ส่วนมากไม่มีคุณภาพพอให้คนรับประทาน โดยจาก 18 ล้านตันมีข้าวผ่านมาตรฐานเพียง 2.36 ล้านตัน และยังเกิดปัญหาค้างจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนา

ในช่วงนั้น นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ชาวนาเดือดร้อนเป็นปัญหาเรื่องการค้างจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งต้องย้อนถึงวิธีคิดที่ไม่ซับซ้อนของรัฐบาลที่คิดเพียงหลักการว่า หากเกษตรกรรายใดต้องการขายข้าว รัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อในราคาสูงกว่าท้องตลาด ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก เพราะการซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงเกินจริง ส่งผลให้รัฐบาลในฐานะพ่อค้า ไม่สามารถขายข้าวได้

ผลที่ตามมา คือ ชาวนาขยายพื้นที่เพาะปลูกและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามขยายพื้นที่การเพาะปลูกเช่นกัน ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพิจารณาตามกลไกราคา เมื่อประเทศไทยขายข้าวในราคาสูง ทั่วโลกต้องปรับสูงขึ้นตาม รัฐบาลต้องใช้งบประมาณบริหารจัดการโครงการสูงมากขึ้นด้วย

ไม่ใช่แค่ปัญหาราคาข้าว ยังมีพืชเกษตรอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม ยางพารา ผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งนายประพัฒน์กล่าวว่า ทางออกและการแก้ปัญหา คือ ปฏิรูปภาคการเกษตรให้พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่แก้ไขผ่านนโยบายประชานิยม ให้เกษตรกรพึ่งตนเองไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกรัฐบาลต่างแย่งชิงมวลชนผ่านนโยบายต่างๆ และสร้างผลกระทบมากมาย

กรณีโครงการจำนำข้าว หากรัฐบาลนำเงินที่เสียไปมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวทั้งประเทศ อาจใช้งบประมาณไม่ถึง 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น โจทย์ข้อใหญ่ คือ อาชีพการเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งลมฟ้าอากาศ ผลผลิต ราคาตลาด และนโยบายรัฐบาล

คำตอบจึงอยู่ที่การเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพานโยบายประชานิยมจนกลายเป็นเหยื่อทางการเมืองไม่มีสิ้นสุด.