วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > เฟบริส พาร์คเคอร์วอง ผู้บริหารคิดบวกของ ELLE

เฟบริส พาร์คเคอร์วอง ผู้บริหารคิดบวกของ ELLE

 
คงจะมีสื่อสิ่งพิมพ์เพียงไม่กี่ฉบับบนโลกที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญต่อวงการแฟชั่นทั่วโลกรวมถึงในไทยอีกทั้งยังได้รับการยอมรับในมาตรฐานจนได้รับความไว้วางใจและดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 70
 
ELLE นับเป็นนิตยสารสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองแฟชั่นที่หลายคนสนใจและให้การยอมรับจนได้รับการตีพิมพ์ไปหลายประเทศ และเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ELLE ทำให้ เฟบริส พาร์คเคอร์วอง CEO ของ ELLE เดินทางมาประเทศไทยเพื่อจัดงานในครั้งนี้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ของไทยอย่างบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
 
ภายในงานแถลงข่าวครบรอบ 70 ปี แฟชั่นโชว์และงานนิทรรศการ “เซเวนตี้ส์ เยียร์ส ออฟ สไตล์” (70 Years of Style) ที่มีการจัดแสดงชุดเดรสที่ออกแบบมาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบ 70 ปี ของแบรนด์ ELLE โดยนำเสนอจุดเด่นของแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่ยุคโฟร์ตี้ส์ (40’s) จนถึงยุคมิลเลนเนียม (00’s) ทำให้ผู้จัดการ 360  ํ ได้มีโอกาสพบกับ เฟบริส อาบัวเซอร์ พาร์คเคอร์วอง CEO บริษัท แอล อินเตอร์เนชั่นแนล (ELLE International) ที่ควบตำแหน่งประธานบริหารและ CEO บริษัท ลาการ์แดร์ แอคทีฟ เอ็นเตอร์ไพรส์ (Lagardere Active Enterprises) ด้วย
 
แน่นอนว่าการบริหารจัดการนิตยสารสักหนึ่งเล่มนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากนัก หากบริษัท แอล อินเตอร์เนชั่นแนล มีเพียงสายงานเดียวในบริษัทให้ต้องดูแล แต่ในความเป็นจริงยังมีธุรกิจอีกหลากหลายประเภทที่ถือกำเนิดมาจาก ELLE ทั้งรายการโทรทัศน์ หนังสือ สื่อออนไลน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจไลเซนส์ ภายใต้แบรนด์ ELLE 
 
“ผมมองว่าตัวเองโชคดี ELLE เสมือนของขวัญจากพระเจ้าที่ถูกส่งมาให้” เฟบริสมองว่า ELLE เป็นนิตยสารที่มีเรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และไม่ใช่เพียงแค่ที่ประเทศฝรั่งเศสที่เดียว แต่ยังเกิดขึ้นในอีก 80 ประเทศทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้นิตยสารมีเรื่องราวมานำเสนอได้ตลอด โดยเนื้อหาของนิตยสารจะแบ่งเป็น Categories สำหรับผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก และไลฟ์สไตล์ การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ส่งผลให้แบรนด์อย่าง ELLE ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ 70 ปีที่ผ่านมามีสิ่งใหม่ๆ ป้อนเข้ามาตลอด
 
อย่างไรก็ตาม การดูแลแบรนด์ที่มีอายุยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ และยังคงรักษามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้อ่านและผู้บริโภคสินค้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย 
 
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะสังคมและเศรษฐกิจในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานั้นชัดเจนมาก ผู้คนเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้อ่านและผู้บริโภคย่อมเข้าถึงแบรนด์และมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์นั้นๆ ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
 
ในฐานะของผู้บริหารแบรนด์เฟบริสอธิบายว่า “ความง่ายในการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ว่า แบรนด์นี้เหมาะกับใคร เข้ากับไลฟ์สไตล์แบบไหน เมื่อโลกเปลี่ยนไม่ได้แปลว่าไม่ดี แต่เราต้องใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ทำให้แบรนด์เข้าถึงและใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้มากขึ้น” 
 
ทั้งนี้การที่นิตยสาร ELLE มี Performance ที่ดีจนทั่วโลกให้การยอมรับ รวมไปถึงสินค้าแบรนด์ ELLE ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ทุกๆ อย่างผนวกเข้ากันส่งผลให้การอัพเกรดแบรนด์ทำได้ง่ายขึ้น
 
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่หลายประเทศกำลังประสบวิกฤตนั้น ทิศทางและการก้าวเข้าสู่ปีที่ 71 และปีต่อๆ ไปของ ELLE ผู้บริหารอย่างเฟบริส กลับไม่กังวลมากนัก เพราะในทัศนะของผู้บริหารรายนี้ไม่ได้ตั้งใจวาง Position ให้ ELLE เป็นเพียงนิตยสารแฟชั่นเท่านั้น หากหน้าที่หลักของนิตยสารจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล ที่เปรียบเสมือนเพื่อนผู้หวังดี แนะนำให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่อาจจะต้องเจอในแต่ละช่วงเวลา
 
“เมื่อหน้าที่หลักของนิตยสารสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ส่วนอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ในแบรนด์ ELLE ไม่ว่าจะหน้าร้าน การตลาด หรือสินค้า ต่างจะทำหน้าที่หลักของตัวเองได้ดีเช่นกัน”
 
เฟบริสมองว่า นิตยสารจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เมื่อนิตยสาร ELLE เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่มีทั้งสินค้ากลุ่มผู้หญิง กลุ่มสินค้าผู้ชาย สินค้าเด็ก Accessory ของตกแต่งบ้าน เรียกได้ว่าทำให้แบรนด์เข้ามามีบทบาทในทุกๆ มิติชีวิตของผู้คนได้ทุกวัย
 
แน่นอนว่าการสร้างแบรนด์ให้แตกแขนงไปยังสินค้าต่างๆ นั้นไม่ใช่ตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน หากแต่ ELLE นับเป็นสินค้าระดับพรีเมียม ที่ต้องแย่งชิงพื้นที่กับบรรดาสินค้าแบรนด์เนมทั่วโลกเช่นกัน ซึ่ง Position ของ ELLE ในแต่ละประเทศนั้นอาจไม่ได้อยู่ในระดับหรือระนาบเดียวกันทั้งหมด
 
โดยเฉพาะในไทย ELLE จะถูกจัดไว้ในระดับเดียวกับ Flynow H&M ซึ่งดูเหมือนจะมีอัตราการเติบโตไม่สู้ดีนัก เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากแต่เฟบริสกลับมองไปที่การร่วมมือกับ ICC International ที่ยังคงเป็นไปได้ดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 25 ปี และเชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสเติบโตได้หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
ความคาดหวังในเชิงบวกของทั้งนักธุรกิจไทยและต่างชาติ แม้จะยังดำรงอยู่ แต่ข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยนั้น มักอ่อนไหวและผันผวนตามสถานการณ์การเมืองที่ขาดเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พร้อมจะสั่นคลอนความมั่นใจของทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคไปพร้อมกัน
 
ในขณะที่จีนนั้น ELLE ถูกจัดให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าในไทยเมื่อเทียบกันแล้ว นั่นเพราะว่ารสนิยมของชาวจีนที่ให้ค่าต่อมูลค่าสินค้าที่มีราคาสูง กระนั้นด้วยเหตุนี้เองทำให้ยอดขายของ ELLE ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น จีนจะอยู่อันดับ 3 ในขณะที่ไทยอยู่อันดับ 5 
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่นักธุรกิจหลายคนกังวลคือเรื่องการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่ง ELLE ที่มีโรงงานผลิตสินค้าอยู่ในประเทศจีนแม้จะเคยประสบกับปัญหา แต่ด้วยการจัดการที่รวดเร็วและทันท่วงที ทำให้เฟบริสไม่กังวลเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากมีทนายความและทีมกฎหมายที่ดี ทำให้ปัญหานั้นถูกจำกัดและแก้ไขได้เร็ว อีกทั้งยังมองในอีกแง่มุมว่า การถูกละเมิดลิขสิทธิ์แม้จะเป็นศัตรูกับแบรนด์ แต่อีกด้านก็เป็นตัวบ่งบอกให้รู้ว่าแบรนด์นั้นแข็งแรงแค่ไหน
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแข็งแรงที่เกิดจากดีไซน์ ที่มาจากดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลก และยังมีแบรนด์ของตัวเองอย่าง “ทามารา แทชแมน” ซึ่งจะเป็นผู้ให้คีย์หลักกับผลิตภัณฑ์และส่งต่อไปยังพาร์ตเนอร์ประเทศต่างๆ ซึ่งเมื่อดีไซเนอร์ของไทยจะปรับให้เข้ากับความนิยมและไลฟ์สไตล์ของคนไทย ทั้งนี้ ELLE ต้องการให้สินค้าแบรนด์ ELLE นั้นมีดีเอ็นเอฝรั่งเศส 
 
เฟบริส ระบุว่า ELLE ไม่ปิดกั้นไอเดียหากจะมีดีไซเนอร์จากประเทศอื่นเสนอไอเดียเข้ามาหรืออาจจะออกมาในรูปแบบของการทำดีไซน์และสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกัน กระนั้นดูจะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับดีไซเนอร์จากไทยที่จะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดกับดีไซเนอร์หลักของ ELLE International เมื่อมีการจัดสัมมนาหรือประชุม
 
การเปิดกว้างทางความคิดของเฟบริสในเรื่องการทำงานน่าจะเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ได้รับจาก Walt Disney 14 ปี รวมถึงการทำงานที่ลากาแดร์ และ ELLE แม้ทั้งสองบริษัทจะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมของการบริหารธุรกิจอยู่ที่ต้องสร้างรายได้ ภาพลักษณ์ที่ดี และทำให้บริษัทเติบโตก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นโมเดลที่ใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เป็นผู้สร้างการ์ตูน หรือบริษัทแฟชั่นก็ตาม
 
“ผมสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้เมื่อ ELLE นั้นยังไม่ได้ถูกดีไซน์มา แต่ในขณะที่วอลต์ดิสนีย์นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถูกกรอบของคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนกำหนดเอาไว้ ซึ่งทำให้การทำงานกับ ELLE สนุกกว่า” 
 
อย่างไรก็ตาม หมุดหมายของนักบริหารอย่างเฟบริสก็คือต้องพยายามรักษา Value ของแบรนด์นั้นๆ เอาไว้ เพราะแบรนด์คือสินทรัพย์ของบริษัท ถ้ารักษา Value เอาไว้ได้จะทำให้สามารถยกระดับแบรนด์ เพิ่มยอดขาย และรายได้ ที่จะหนุนให้บริษัทมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น
 
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการอยู่ที่ ELLE International นับเป็นบริษัทที่ผลิตสื่อรายหนึ่ง แต่กลับสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์สื่อที่เข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สื่อดิจิตอลทำให้ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ 
 
แต่เฟบริสกลับให้ทัศนะที่น่าสนใจ ว่าคนทำสื่อจะต้องสร้างคอนเทนต์ที่ดี สร้างความเกื้อหนุนกันและกันระหว่างกระดาษและดิจิตอล คอนเทนต์ที่แข็งแรงจะทำให้แบรนด์สามารถไปต่อได้ 
 
ในห้วงเวลาที่วงการสื่อเต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้ผลิตสินค้าต่างงัดกลยุทธ์กันขึ้นมาต่อสู้บนสังเวียนการตลาด แต่น่าแปลกที่ผู้บริหารระดับ CEO คนนี้กลับไม่เคยมองว่าปัญหาจะเป็นอุปสรรค หากทำทุกสิ่งอย่างมีเหตุผล รู้จักใช้ปัญญาในทางที่ถูก และมองว่าตนเองนั้นมีงานที่ดี ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน พาร์ตเนอร์ที่ดี ทำให้สนุกกับงานได้ทุกวัน มีความสุขที่ได้ทำทุกวันให้ดีขึ้น 
 
พร้อมกับทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ทุกชีวิตไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร อย่าเพียงแต่คิดบวก แต่ต้องทำในเชิงบวก ใช้ชีวิตเชิงบวก และแบ่งปันพลังด้านบวกให้คนรอบข้าง เพราะยิ่งให้จะยิ่งได้รับ”
 
นอกจากนิตยสาร ELLE ที่จะมีอิทธิพลต่อผู้อ่าน รวมไปถึงแบรนด์สินค้าที่หลายคนนิยมชมชอบ แนวความคิดของผู้บริหารอย่าง เฟบริส พาร์คเคอร์วอง ก็อาจจะสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับใครอีกหลายคนที่ได้รู้จัก หรืออาจจะมีอิทธิพลมากพอที่จะเปลี่ยนความคิดในการทำงานให้คนรุ่นใหม่ได้ดีทีเดียว