วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > On Globalization > DIWALI: เทศกาลแห่งความสว่าง

DIWALI: เทศกาลแห่งความสว่าง

 
Column: AYUBOWAN
 
หลังจากผ่านพ้นวันออกพรรษาช่วงเวลาหนึ่งเดือนก่อนถึงคืนเพ็ญวันลอยกระทง สำหรับประเทศไทยก็คงเต็มไปด้วยงานบุญงานกุศลในนามของการทอดกฐิน ที่มีระดับชั้นให้เรียกขานตามแต่ลำดับขั้นของเจ้าภาพผู้จัดกฐินว่าเป็นคณะหรือบุคคลที่มีสถานะทางสังคมเช่นไร
 
สำหรับศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท และดำเนินตามรอยทางแห่งพระไตรปิฎก การตั้งกองกฐินหลังวันออกพรรษาก็ถือเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่มีนัยความหมายต่อสังคมศรีลังกาไม่น้อยไปกว่าวันสำคัญทางศาสนาวันอื่นๆ แม้ว่าในวันนี้ ศรีลังกาอาจจะไม่มีขบวนแห่กฐินอย่างยิ่งใหญ่ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์เหมือนเมื่อครั้งอดีตที่รุ่งเรืองของทั้งราชอาณาจักรอนุราธปุระ หรือแม้ในราชอาณาจักรแคนดี้ที่ผ่านเลยไปแล้วก็ตาม
 
กิจกรรมที่ครอบคลุมตลอดทั้งช่วงเวลาหนึ่งเดือน ทำให้แต่ละอารามสงฆ์และชุมชนที่แวดล้อมศรัทธาสามารถเลือกกำหนดวันที่เหมาะสมกันได้เอง ซึ่งหากมองในมิติของความสะดวกก็ต้องถือว่าก้าวหน้าและเป็นการกระจายโอกาสในการทำบุญอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
 
แต่อีกฝั่งฟากของสังคมศรีลังกาที่เป็นพหุสังคมที่หลากหลายและมีประชากรชาวฮินดูร่วมอยู่ด้วย ช่วงเดือนพฤศจิกายนถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ในเทศกาล Diwali หรือ Deepavali ที่ต่อเนื่องยาวนานรวมกว่า 5 วันกันเลยทีเดียว และถือเป็นเทศกาลแห่งความสุข ที่สุกสดใสสว่างไสวที่สุดของชาวฮินดูก็ว่าได้
 
เพราะเทศกาล Diwali หรือ Deepavali ที่ว่านี้เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองชัยชนะของความสว่าง เหนืออนธกาลแห่งความมืดมน ทุกอาคารบ้านเรือนจึงประดับประดาไปด้วยดวงโคม เทียน และตะเกียงน้ำมัน (deepa) เพื่อเป็นตัวแทนแห่งแสงสว่างทางปัญญาเหนืออวิชชาทั้งปวง และยังมีการเฉลิมฉลองด้วยดอกไม้ไฟ ซึ่งทำให้ Diwali หรือ Deepavali เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยแสง สี เสียง อย่างคึกคัก
 
ต้นทางของเทศกาล Diwali หรือ Deepavali สามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคสมัยแห่งอินเดียโบราณ โดยเทศกาลนี้ถือเป็นงานรื่นเริงฉลองการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ในฤดูร้อน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ในเดือน Kartika ตามปฏิทินฮินดู ที่จะอยู่ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน หรือหลังวันเพ็ญออกพรรษา (15 ค่ำเดือน 11) ประมาณ 15 วัน ซึ่งก็คือวันขึ้น 1 ค่ำเดือนสิบสองที่คติฮินดูถือว่าเป็นค่ำคืนที่มืดที่สุดของปี (the darkest new moon night) 
 
ขณะที่บางพื้นถิ่นถือการโคจรของดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่จักรราศีพฤศจิก (Scorpio) เป็นการเริ่มต้นเดือน Kartika ซึ่งถือเป็นเดือนที่แปดตามปฏิทินของชาวฮินดู แต่ก็มีบางส่วนทั้งในแคว้นคุชราต (Gujarat) หรือในเนปาลที่ถือเดือน Kartika และเทศกาล Diwali นี้เป็นประหนึ่งการเริ่มต้นขึ้นปีใหม่ไปด้วย
 
กิจกรรมที่แวดล้อม Diwali จึงอุดมด้วยนัยความหมายอย่างคับคั่ง ทั้งในมิติของการทำความสะอาด ประดับตกแต่งบ้านเรือน การบูชาเหล่าทวยเทพที่มีความหลากหลายในแต่ละท้องถิ่นความเชื่อ แต่จุดร่วมใหญ่อยู่ที่การบูชาพระนางลักษมี (Lakshmi) ซึ่งถือเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง
 
ขณะเดียวกัน การเฉลิมฉลองในเทศกาล Diwali ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มชนชาวฮินดูเท่านั้น หากแต่ชาวซิกข์ (Sikhism) หรือผู้นับถือศาสนาเชน (Jainism) ก็ถือวันนี้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป
 
โดยชาวซิกข์ถือว่าวันนี้เป็นวันแห่งการปลดปล่อย หรือ Day of Liberation (Bandi Chhor Divas) เนื่องในโอกาสที่ Guru Hargobind คุรุคนที่หกแห่งศาสนาซิกข์ ได้รับอิสรภาพจากการคุมขังโดยจักรพรรดิ Mughal ที่เมือง Gwalior และเดินทางถึงวิหารทองคำในแคว้น Armritsar เมื่อปี 1611-1612 และเพื่อรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวซิกข์จึงเฉลิมฉลองด้วยการจุดประทีปและดอกไม้ไฟรอบวิหารทองคำด้วย
 
ส่วนผู้นับถือศาสนาเชน เฉลิมฉลองวันดังกล่าวในฐานะเป็นวันที่มหาวีระ ศาสดาองค์ที่ 24 และองค์สุดท้ายบรรลุโมกษะ (liberation) และเข้าสู่นิพพาน เมื่อ 527 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งนับเป็นการปลดปล่อยอัตตาให้พ้นไปจากการครอบงำของอวิชชา และมีนัยความหมายของการรำลึกถึงแสงสว่างทางปัญญาเช่นกัน
 
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองในวัน Diwali หรือ Deepavali ที่แม้จะอยู่ต่างศาสนาและความเชื่อแต่กลับมีความเหมือนหรือจุดร่วมใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็คือ การปลดปล่อยหรือบรรลุให้พ้นไปจากการถูกครอบงำของความมืดบอดของอวิชชาและสิ่งเลวร้ายทั้งปวง ซึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้ Diwali หรือ Deepavali ย่อมต้องถือเป็นห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความเป็นอิสระเป็นเทศกาลของการจำเริญสติปัญญาที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง
 
ภายใต้ภาพจำลองขนาดย่อมของสังคมศรีลังกา ที่อาจมีจำนวนประชากรนับถือศาสนาฮินดูเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ แต่วันสำคัญทางศาสนานี้ก็ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในวันหยุดประจำปีตามปฏิทินของทางราชการ โดยในปีนี้ ตรงกับวันที่ 10 เดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการให้คุณค่าและเคารพต่อความแตกต่างของความเป็นพหุสังคมที่ดำเนินอยู่ร่วมกัน
 
ขณะเดียวกันกิจกรรมที่แวดล้อมเทศกาล Diwali หรือ Deepavali ก็มีมิติและบทบาททางเศรษฐกิจไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการถือเป็นเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอยครั้งสำคัญของปี โดยห้างร้านจะโหมประโคมประชาสัมพันธ์กิจกรรมพิเศษผ่านทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์อย่างเอิกเกริก เพื่อรองรับกับท่วงทำนองและความเป็นไปของเทศกาลนี้ ที่ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลและหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
 
แต่หากพิจารณาความเป็นไปในอินเดีย เศรษฐศาสตร์ของ Diwali จะยิ่งชัดเจนกว่านั้นมาก เพราะนอกจากช่วงเทศกาลดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลายอดนิยมของการจับจ่ายซื้อสินค้าหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน ของใช้ภายในบ้าน อาหาร เครื่องดื่มและเครื่องนุ่งห่ม ประจำปีแล้ว ทองคำและอัญมณีที่เป็นสิ่งสะท้อนความมั่งคั่งตามคติความเชื่อ และมีมูลค่าการค้ามหาศาลก็ถือเป็นสินค้ายอดนิยมของช่วงเวลานี้ 
 
ไม่นับรวมมูลค่าการซื้อขายดอกไม้ไฟ ในช่วงเทศกาล Diwali ที่นับรวมเฉพาะในระดับค้าปลีกทั่วประเทศอินเดียในแต่ละปี ซึ่งประมาณการว่ามีมูลค่าสูงถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
 
เทศกาลแห่งความสว่างทางปัญญาเหนืออนธกาลแห่งอวิชชาในเทศกาลแห่ง Diwali หรือ Deepavali ประจำปีนี้อาจกำลังเคลื่อนตัวผ่านไปในอีกไม่ช้า หวังเพียงแต่ว่าความสว่างที่บังเกิดขึ้นจะไม่เป็นเพียงความวูบไหวที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะท่ามกลางเสียงอึกทึก ก่อนจะลาลับดับไปประหนึ่งดอกไม้ไฟที่มลายลงอย่างรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ความมืดดำกลับมาปกคลุมอีกครั้ง
 
หากแต่ความสว่างทางปัญญาที่ว่า จะดำเนินต่อเนื่องยาวนานผ่านพ้นห้วงกาลแห่งยุคสมัย ก่อนที่จะกลับมาร่วมเฉลิมฉลองครั้งใหม่ในปีต่อๆ ไป บางทีวลีที่ว่า “Keep Calm and Shine On” อาจเป็นตัวแทนของความพยายามนี้
 
ขอแสงสว่างทางปัญญาสถิตอยู่กับทุกท่านเสมอๆ นะคะ