วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
Home > Cover Story > กรณ์ ณรงค์เดช “ธรรมนูญของครอบครัว ต้องชัดเจนยิ่งขึ้น”

กรณ์ ณรงค์เดช “ธรรมนูญของครอบครัว ต้องชัดเจนยิ่งขึ้น”

“บทเรียนจากคดีความกับการทำธุรกิจในอนาคต อันดับแรก คือ เรื่องธรรมนูญของครอบครัว ต้องชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นลายลักษณ์อักษร อะไรที่สมัยก่อนเคยอยู่ด้วยความไว้ใจต้องปรับให้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งหมด เพื่อความเข้าใจตรงกันทุกฝ่าย”

กรณ์ ณรงค์เดช ทายาทครอบครัวณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด(มหาชน) เปิดใจกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงคดีความในกลุ่มตระกูลที่ดูเหมือนจะจบ แต่ยังไม่จบ และฝังรอยร้าวลึกอยู่

เมื่อฝ่ายหนึ่ง คือ เกษม ผู้เป็นพ่อและลูกชาย 2 คน “กฤษณ์-กรณ์” กับอีกฝ่าย คือ ณพ ลูกชายคนรองของนายเกษม ประเด็นคดีซื้อและโอนหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 ปี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายกฤษณ์และกรณ์ พร้อมทนายความ เปิดแถลงข่าวกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณพและคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ยายของนายณพ กับพวก ข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อปี 2564 โดยนายณพอ้างว่า นายเกษมเป็นตัวแทนให้คุณหญิงกอแก้วซื้อหุ้นวินด์ฯ และโอนหุ้นให้บริษัทโกลเด้น มิวสิค ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จนกระทั่งครอบครัวประกาศตัดนายณพออกจากตระกูล เมื่อปี 2561

ครอบครัวณรงค์เดชระบุว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษา ระบุเอกสาร 5 ฉบับเป็นลายเซ็นปลอม ประกอบด้วย

1. สัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ฯ ที่นายเกษมทำกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด

2. หนังสือแต่งตั้งตัวแทนที่นายเกษมรับเป็นตัวแทนของคุณหญิงกอแก้ว ซื้อหุ้นวินด์ฯ

3. ตราสารการโอนหุ้น ที่นายเกษมโอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นมิวสิคให้คุณหญิงกอแก้ว

4. ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษมขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

5. คำประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นทรัสต์ ที่นายเกษมประกาศว่า หุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคเป็นของคุณหญิงกอแก้ว และผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นจากหุ้นต้องตกเป็นของคุณหญิงกอแก้ว

อย่างไรก็ตาม ศาลให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากนายเกษมไม่สามารถยืนยันจำเลยคนใดทำเอกสารปลอม แต่ถือได้ว่านายเกษมไม่เคยเป็นนอมินีของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์ฯ ตามที่นายณพและคุณหญิงกอแก้วระบุ รวมทั้งการโอนหุ้นไม่มีผลทางกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ

ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณหญิงกอแก้วและนายณพ พร้อมที่ปรึกษากฎหมาย แถลงข่าวตอบโต้ว่า ครอบครัวณรงค์เดชไม่มีส่วนร่วมลงทุนหุ้นวินด์ฯ โดยศาลชี้ชัดเส้นทางการเงินและเงินลงทุนมาจากคุณหญิงกอแก้ว พร้อมสรุปคำพิพากษาทั้ง 5 คดี ได้แก่ คดีที่ศาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กรณีนายเกษมเป็นโจทก์ ฟ้องโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด นายณพ และคุณหญิงกอแก้ว ละเมิดและขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อปี 2561 ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ถอนฟ้อง

คดีที่ 2 ที่ศาลอาญา รัชดา เรื่องเอกสารปลอม โดยนายเกษมเป็นโจทก์ ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุลายมือชื่อไม่เห็นชัดเจนว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เงินช่วยเหลือจากครอบครัวเป็นเงินกู้ยืม ซึ่งนายณพรับผิดชอบภาระหนี้และบริหารจัดการคนเดียว จึงไม่ใช่การร่วมลงทุน

คดีที่ 3 คดีเรียกทรัพย์คืน (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) โดยนายเกษมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 14 คน และจำเลยร่วมอีก 31 คน เมื่อปี 2562 ให้เรียกคืนหุ้นวินด์ฯ ซึ่งโจทก์ขอถอนฟ้อง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินปันผลของบริษัท วินด์ฯ เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คดีที่ 4 คดีผิดสัญญา เรียกทรัพย์คืน (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมฟ้องนายณพ บริษัท วินด์ฯ บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด และคุณหญิงกอแก้ว เมื่อปี 2565 เรื่องสัญญาเพิกถอนนิติกรรม เรียกทรัพย์คืน โดยคำพิพากษาให้ยกฟ้องและไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นคืนแก่โจทก์ทั้งสอง

คดีที่ 5 คดีปลอมลายเซ็น (ศาลอาญากรุงเทพใต้) คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายณพกับพวกรวม 3 คน เมื่อปี 2564 คำพิพากษาให้ยกฟ้อง เพราะแม้เป็นเอกสารปลอม แต่ไม่สามารถยืนยันผู้ปลอมแปลง

แน่นอนว่า คดีนี้เป็นประสบการณ์หนึ่งในเส้นทางธุรกิจ ซึ่ง ณ เวลานี้ กลุ่มเคพีเอ็นมี 2 พี่น้องเป็นผู้กุมบังเหียนหลัก และ “กรณ์” ต้องการพิสูจน์ฝีมือบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะ “ไรมอนแลนด์” ซึ่งถือเป็นเรือธงใหญ่ในพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ หลังบริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด (KPNL) เข้ามาถือหุ้นในไรมอน แลนด์ เมื่อปี 2561 และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2563 มี “กฤษณ์” พี่ชายคนโตนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการ และปี 2564  “กรณ์” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างเต็มตัว ถือเป็นผู้บริหารสัญชาติไทยรายแรกในประวัติศาสตร์ของไรมอน แลนด์ นับจากดำเนินธุรกิจในไทยมา 33 ปี

ปีแรกในฐานะซีอีโอ กรณ์ประกาศ Mission เร่งสร้าง DNA ใหม่ของไรมอนแลนด์ให้ชัดเจน ตั้งแต่การรีแบรนด์ใหม่ ขยายฐานลูกค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลากหลายมากขึ้น เริ่มปลุกปั้นอภิมหาโครงการในระดับลักชัวรีและอัลตราลักชัวรี ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียม ดิ เอสเทลล์ (The Estelle) พร้อมพงษ์  โครงการ เทตต์ สาทร ทเวลฟ์ โครงการ OCC (One City Centre) อาคารสำนักงานลักชัวรี Grade A+ ที่สูงที่สุดในไทย ใจกลางเพลินจิต และในไตรมาส 1 ปี 2567 เตรียมเปิดขายโปรเจกต์ โรสวูด เรสซิเดนซ์เซส กมลา จังหวัดภูเก็ต (Rosewood Residences Kamala) ซึ่งอยู่ในช่วงปรับแบบขั้นสุดท้าย เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สะท้อน DNA ใหม่อย่างสมบูรณ์ที่สุด

นักธุรกิจหนุ่มย้ำว่า ตลาดลักชัวรีและอัลตราลักชัวรี มีดีมานด์สูงมาก ลูกค้าระดับเทียร์บน ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจ โรคติดต่อ และสงคราม คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ซื้อด้วยเงินสดของตัวเอง ไม่ต้องผ่อนหรือกู้แบงก์ ตั้งแต่สถานการณ์โควิดจะเห็นเทรนด์ตลาดบนผลกระทบน้อยมาก และหากมองย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีโปรดักส์ในตลาด ขนาดห้องค่อนข้างเล็กหมด แต่ผลจากโควิดเกิดเทรนด์ใหม่ ลูกค้าต้องการห้องขนาดใหญ่มาก ตั้งแต่ 200 ตร.ม. ขึ้นไป ซึ่งมีในตลาดน้อยมาก ไม่เพียงพอ แต่ดีมานด์ตรงนี้มีอีกมาก

“อีกอย่างหนึ่ง กำลังซื้อของต่างชาติ พม่า เวียดนาม กัมพูชา ตอบรับดีมาก รวมถึงลูกค้าจีนและยุโรป เพราะจุดเด่นของประเทศไทย คือ Strategic Location อยู่ในจุดศูนย์กลางการเดินทาง ไม่ว่าจะมาจากยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย และจุดสำคัญด้าน Infrastructure เฮลท์แคร์ การศึกษา ทำให้ชาวต่างชาติสามารถมองประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง สะดวกสบายมาก วัฒนธรรมไทยเปิดรับทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายมากๆ”

คุณกรณ์ยังกระซิบทิ้งท้ายกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงแผนธุรกิจในปี 2567 ตั้งเป้าเปิดตัวหลายโครงการแน่นอน แต่ขออุบรอการแถลงอย่างเป็นทางการ แต่หนึ่งในโครงการใหม่จะมีโปรเจกต์แนวราบเข้ามาเสริมด้วย  ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ศึกษาตลาดแนวราบมาตลอดและพร้อมพัฒนาให้เป็นหนึ่งในพอร์ตของโครงการหลักด้วย.