วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > New&Trend > SMU มหาวิทยาลัยชั้นนำจากสิงคโปร์ รุกขยายฐานในไทย เปิดตัว Overseas Centre Bangkok สถานทูตทางการศึกษาแห่งใหม่

SMU มหาวิทยาลัยชั้นนำจากสิงคโปร์ รุกขยายฐานในไทย เปิดตัว Overseas Centre Bangkok สถานทูตทางการศึกษาแห่งใหม่

มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ รุกขยายเครือข่ายระดับภูมิภาค เปิดตัวศูนย์ SMU Overseas Centre Bangkok ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ สานต่อความร่วมมือและแบ่งปันความรู้ระดับภูมิภาค พร้อมขึ้นแท่นประตูความรู้แห่งเอเชีย

สำหรับมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Singapore Management University: SMU) ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 และถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ได้รับการยอมรับในระดับสากลในด้านการวิจัยระดับโลกและการสอนที่โดดเด่น ภารกิจของ SMU คือการสร้างงานวิจัยระดับแนวหน้าที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก และเพื่อสร้างผู้นำที่มีฐานความรู้ในวงกว้าง สร้างสรรค์ และเป็นผู้ประกอบการสำหรับเศรษฐกิจ และที่สำคัญยังมีชื่อเสียงในด้านการเรียนรู้แบบโต้ตอบ การทำงานร่วมกัน และเน้นโครงงานเป็นหลัก โดยหลักสูตรที่โดดเด่นคือ หลักสูตรด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation), การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) และกลยุทธ์สร้างการเติบโตสำหรับเอเชีย (Strategies for Growth in Asia) ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญในบริบทของโลกปัจจุบันเป็นอย่างมาก

โดย SMU เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีนักศึกษามากกว่า 12,000 คนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี สูงกว่าปริญญาตรีระดับมืออาชีพ และการวิจัยระดับสูงกว่าปริญญาตรี ประกอบด้วยโรงเรียน 8 แห่ง ได้แก่ School of Accountancy, Lee Kong Chian School of Business, School of Economics, School of Computing and Information Systems, Yong Pung How School of Law, School สาขาวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษาเชิงบูรณาการ และวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาวิจัย โดยมีนักศึกษาชาวไทยที่ศึกษาระดับปริญญาตรีที่ SMU ราว 10-15 คน/ปี และปริญญาโทประมาณ 10 คน/ปี

ดังนั้น SMU จึงมีกลยุทธ์สร้างการเติบโตในเอเชียภายใต้วิสัยทัศน์ SMU Vision 2025 ที่มุ่งมั่นต่อยอดและขยายเครือข่ายความรู้ให้เติบโตไปทั่วเอเชีย แบ่งปันความรู้ความเข้าใจเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ ระบบการปกครองและสังคมท้องถิ่นในเอเชีย ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีแผนเปิดตัวศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศขึ้นในเมืองต่างของเอเชีย สำหรับที่แรกเปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และตามมาด้วยประเทศไทยเป็นแห่งที่ 2

ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ในประเทศไทย หรือ Overseas Centre Bangkok (OCB) จะทำหน้าที่ขับเคลื่อน อำนวยความสะดวกและประสานความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในประเทศไทยให้กับมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ ยกระดับความเชี่ยวชาญและบริการของมหาวิทยาลัย ขยายเครือข่ายท้องถิ่น และสร้างโอกาสให้กับความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์และสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ในไทย นอกจากนี้ ศูนย์ OCB จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับภาคส่วนที่สนใจ ทั้งองค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษา เกี่ยวกับโปรแกรมและหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์นำเสนอ

ศาสตราจารย์ลิลี่ คง (Lily Kong) อธิการบดีมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ กล่าวว่า “การเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศแห่งที่สองในเอเชียของ SMU มาจากทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจและความร่วมมืออันแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยและพันธมิตรต่าง ๆ ของเราในไทย ประเทศไทยเป็นตลาดเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้เล่นสำคัญที่กำลังเติบโตและมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของเอเชียโดยรวมทั้งหมด เราเชื่ออย่างยิ่งว่าการตั้งศูนย์การศึกษาต่อของ SMU ในไทยจะช่วยให้เรามีส่วนช่วยขับเคลื่อนแวดวงงานวิจัยและเสริมระดับความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาสำคัญในปัจจุบัน อาทิ ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของเรายังสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนด้วยความรู้ SMU มุ่งมั่นด้านพันธกิจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายแก่สังคมและเศรษฐกิจในเอเชียผ่านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม และมีศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศแห่งใหม่ของเราในประเทศไทยเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราในการอุทิศเพื่อการแบ่งปันความรู้และสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเพื่อสังคมคุณภาพในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยพลวัตนี้”

ประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างมากด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่มูลค่าการตลาดแตะพุ่งสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2565 ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้นและเร่งด่วน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นเรื่องความยั่งยืนและเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกัน SMU ตั้งใจที่จะลดช่องว่างด้านทักษะแรงงานเหล่านี้พร้อมส่งเสริมการพัฒนาด้านความยั่งยืนไปพร้อมกันผ่านความรู้ความเชี่ยวชาญและหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะทางของ SMU ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศแห่งใหม่ของ SMU ในกรุงเทพฯ จะกลายเป็น “ประตูแห่งความรู้” ที่ช่วยผลักดันการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทย พร้อมสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสิงคโปร์ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย

เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว SMU และศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศในกรุงเทพฯ จะทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในไทยในแวดวงการศึกษาและธุรกิจเพื่อการพัฒนาทักษะแรงงานให้กับประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน ศูนย์ OCB จะให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา การศึกษาแบบทดลอง กิจกรรมความรู้เชิงผู้นำธุรกิจ คอร์สเรียนพัฒนาเพื่อการบริหาร หลักสูตรการเรียนการสอนประกาศนียบัตรบัณฑิตและคอร์สการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยศูนย์ OCB จะทำหน้าที่เป็นเหมือน “สถานทูต” ของ SMU ในไทย เพื่อเป็นสื่อกลางและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณค่า ฐานความรู้ วัฒนธรรม และความสนใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียที่ SMU ตั้งใจถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจ

นอกจากการประกาศเปิดตัวศูนย์ OCB ในไทย ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาอภิปรายระหว่างบุคลากรของ SMU กับบรรดาผู้นำองค์กรธุรกิจจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (SMU-Bangkok Bank Industry Leaders Dialogue) ขึ้น เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในยุคดิจิทัลและผลกระทบที่สำคัญต่อธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ได้แก่ รองศาสตราจารย์ เจอโรลด์ โซห์ (Jerrold Soh) รองศาสตราจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ และรองผู้อำนวยการศูนย์กำกับดูแลด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ ร่วมด้วยคุณเหวิง วันยี (Weng Wanyi) ผู้อำนวยการของสำนักงานเพื่อรัฐอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิทัลของสิงคโปร์ (SNDGO)    ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE Corporate Innovation Powerhouse โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ ศาสตราจารย์ซุน ซุน ลิม (Sun Sun Lim) รองประธานฝ่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์

ผู้เชี่ยวชาญได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของ AI ในอนาคต ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในธุรกิจ ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ไปจนถึงการปรับปรุงบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความง่ายในการคิดและการสร้างต้นแบบ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จึงจำเป็นที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนพนักงานของตนเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงวิธีที่องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการนำ AI มาใช้เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ กิจกรรมเสวนาดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของศูนย์ OCB ในการมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการทักษะแรงงานในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย SMU  เลือกสามย่านมิตรทาวน์เป็นที่คั้งของศูนย์ OCB ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดย เซลีน กวอก (Celine Kuok) ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายและมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งในภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประกอบกับภูมิหลังที่กว้างขวางของเธอในการพัฒนาโปรแกรมความเป็นผู้นำและความเฉียบแหลมด้านการบริหารธุรกิจ คุณเซลีนจึงพร้อมผลักดันภารกิจของศูนย์ OCB สู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่นและภูมิภาคโดยรวม

เซลีน กวอก กล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือการจัดเตรียมความรู้และทักษะให้กับบุคคลเพื่อการเติบโตในภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและเชิงกลยุทธ์”

บทบาทหน้าที่ของศูนย์ฯ OCB

ศูนย์ฯ OCB จะทำหน้าที่กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร และในขณะเดียวกันก็แสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ กับสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐบาล โดยบทบาทหลักๆ ของ OCB ประกอบด้วย

ประการแรก ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขยายขอบเขตการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาชาวไทยและสิงคโปร์ โดย OCB จะทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโครงการแลกเปลี่ยนเหล่านี้

ประการที่สอง OCB จะส่งเสริมทักษะความสามารถที่เหมาะกับตลาดในประเทศไทย โดยจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการในการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ SMU สามารถยกระดับทักษะ (Upskilling) และเพิ่มทักษะ (Reskilling) ในประเทศไทยให้สอดคล้องตรงตามเป้าหมาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น

ประการที่สาม OCB จะเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดทางไปสู่การแบ่งปันความรู้ และส่งเสริมความร่วมมือที่ขยายขอบเขตไปสู่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบกิจกรรมสาธารณะและกิจกรรมภายในหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายที่จะนำการวิจัยที่ล้ำสมัยและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมาสนับสนุนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทย โดยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านการศึกษาและอุตสาหกรรมในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้

ที่น่าสนใจคือ SMU มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศไทยผ่านทางสภาที่ปรึกษาความร่วมมือนานาชาติ (International Advisory Council)  ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2561 มีสมาชิกประกอบด้วยองค์กรชั้นนำของไทย เช่น ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลฯ และดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล

อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ความร่วมมืออันยาวนานของ SMU กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2544 จะมีการยกระดับยุทธศาสตร์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นี้ ในฐานะมหาวิทยาลัยพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ โดย SMU และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเริ่มขยายขอบเขตความร่วมมืออย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง โดยเฉพาะในสาขาวิชาสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน และนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่ซึ่งครอบคลุมโปรแกรมนักศึกษาและวิชาการ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งอันเป็นเอกลักษณ์ของ SMU และความมุ่งมั่นร่วมกันในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของทั้งสองประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาและการวิจัยที่มีผลกระทบและรับมือกับความท้าทายทางสังคม

SMU ยังร่วมกับพันธมิตรในไทย ในการดำเนินโครงการการศึกษา พัฒนาวิชาชีพ และการศึกษาที่ต่อเนื่อง รวมถึงภารกิจการศึกษาระดับคณะและภาควิชา การวิจัยร่วมกัน และได้พัฒนาหลักสูตรร่วม SMU-X ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรเชิงประสบการณ์ที่นักศึกษาร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง มีทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนหลายทุนสำหรับนักศึกษา SMU จากประเทศไทย ซึ่งรวมถึงทุนการศึกษาธนาคารกรุงเทพ ทุนการศึกษา Ian R. Taylor Asia และทุนการศึกษา Mochtar Riady อีกด้วย

หลังจากเปิดศูนย์ OCB ที่ไทยแล้ว SMU วางแผนที่จะขยายเครือข่ายระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเปิดตัวศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศแห่งที่สามในเอเชียที่กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสานต่อแผนยุทธศาสตร์ “การขับเคลื่อนการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย – Growth in Asia” ต่อไป