วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ก้าวไกล-เพื่อไทย สัญญาข้อแรก รื้อ ลดค่าไฟ

ก้าวไกล-เพื่อไทย สัญญาข้อแรก รื้อ ลดค่าไฟ

ภาพการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องลุ้นผลคดีถือหุ้นสื่อ “ไอทีวี” และเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก (สว.) ซึ่งนั่นอาจเปิดโอกาสให้พรรคลำดับที่ 2 อย่าง “เพื่อไทย” แต่ไม่ว่าโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นอย่างไร ทั้งสองพรรคต่างมีสัญญาข้อแรก เรื่องการพิจารณาลดค่าไฟฟ้าทันทีที่เปิดประชุม ครม. นัดแรก

หากย้อนดูนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ระบุแผนลดค่าไฟฟ้า 5 ขั้น เริ่มบันไดขั้นที่ 1 เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากเอื้อกลุ่มทุนเป็นเอื้อประชาชน โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายพลังงาน (กกพ.) กำหนดนโยบาย ซึ่งสามารถทำได้เลยภายใน 100 วันแรก และเห็นผลในบิลค่าไฟ ลดได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก พร้อมเร่งเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า

ขั้นที่ 2 เปลี่ยนแดดเป็นเงิน ปลดล็อกระบบขายไฟมิเตอร์หมุนกลับจากหลังคาบ้านเรือน (Net Metering) เพื่อให้ทุกบ้านเรือนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างถูกต้อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายได้เอง ซึ่งเชื่อว่า ภายใน 4 ปีจะเห็นการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ

ขั้นที่ 3 เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง ไม่ต้องถูกมัดมือชกซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการรับประกันกำไรให้เจ้าสัวพลังงาน เหมือนในต่างประเทศที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าได้เอง ค่าไฟฟ้าจะถูกลงได้จากการแข่งขันและผู้ใช้ไฟฟ้ายังสามารถกำหนดได้ว่าจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานอะไร บางคนอาจเลือกซื้อจากพลังงานสะอาด 100 % ได้

ขั้นที่ 4 เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง และแก้ไขนโยบายเอื้อกลุ่มทุนพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้เพิ่ม

ขั้นที่ 5 ทำแผน PDP Net Zero ไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิลและปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2580

ด้านพรรคเพื่อไทยกำหนดยุทธศาสตร์พลังงาน 4 ขั้นตอน คือ 1. ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทันที ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม  โดยปรับเปลี่ยนแก้ไขโครงสร้างราคาพลังงาน

  1. เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือนตามทิศทางของโลก
  2. เร่งเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ จะช่วยลดต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อยเท่ากับก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทย ซึ่งอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
  3. ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก โดยลดขั้นตอนขออนุญาต และสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ. รวมทั้งจัดหาแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่คุณภาพดีและราคาถูกให้ประชาชน

ส่วนอีก 6 พรรคการเมืองที่ประกาศร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล ได้แก่ ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม เพื่อไทรวมพลัง และพลังสังคมใหม่ ต่างมีนโยบายหาเสียงช่วงก่อนการเลือกตั้งในทิศทางเดียวกัน คือ การพยายามลดค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า

อย่างพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กำหนดนโยบายปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า รื้อสัญญาทาส ค่าไฟฟ้าต้องไม่เกิน 3.50 บาทต่อหน่วย ปรับโครงสร้างค่านํ้ามันและก๊าซหุงต้ม โดยกําหนดเพดานค่าการกลั่นให้เป็นธรรมกับคนไทย

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา กกพ. ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ต่อเนื่อง โดยรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ภาคประชาชนจ่ายค่าไฟเฉลี่ยหน่วยละ 4.72 บาท ส่วนภาคเอกชนจ่ายค่าไฟเฉลี่ย หน่วยละ 5.33 บาท ส่งผลกระทบวงกว้าง ต้องทยอยขึ้นราคาสินค้าและมีผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้น

ภาคธุรกิจระบุว่า ถูกปรับค่าไฟ 2 งวดติดต่อกัน สูงขึ้นถึง 30% โดยงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 สูงขึ้น 17% เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย และงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 สูงขึ้น 13% รวม 5.33 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การขึ้นค่าไฟรุนแรงถือเป็นต้นทุนหนักและต้องขึ้นราคาสินค้า โดยไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับขึ้น 5-12% แล้วแต่ประเภทของสินค้า

แม้ค่าไฟฟ้างวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ภาคธุรกิจได้รับการปรับลดเท่ากันกับภาคครัวเรือนที่หน่วยละ 4.77 บาท แต่การปรับดังกล่าวต้องการยืดจ่ายหนี้ กฟผ. ไม่ใช่เพื่อช่วยประชาชนหรือภาคเอกชน ถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ

สำหรับการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าระยะสั้นตามมาตรการ 100 วันของพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น สิ่งที่อยากให้ความสำคัญ คือ การแก้ปัญหาไฟฟ้าสำรองเกิน โดยเจรจากับคู่สัญญาเดิมเพื่อลดมาร์จินต่อหน่วยแลกกับระยะสัญญาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี เพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) และเร่งแก้หนี้ กฟผ. ด้วยมาตรการทางการเงิน เช่น การออกพันธบัตร เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง รวมทั้งเร่งตั้ง กรอ. พลังงาน เพื่อร่วมหามาตรการระยะกลางและระยะยาวร่วมกัน หลังหยุดชะงักในช่วงการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าตามมติ กกพ. ล่าสุด ให้ขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยเป็นค่าไฟฟ้า 4.77 บาทต่อหน่วย และกำหนดเป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศ โดยอ้างการใช้ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน 3 กรณี

กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 293.60 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 6.72 บาทต่อหน่วย เพื่อแบ่งจ่ายคืนหนี้ กฟผ. ทั้งหมด จำนวน 150,268 ล้านบาท

กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 105.25 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.84 บาทต่อหน่วย แบ่งจ่ายคืนหนี้ กฟผ. 5 งวด งวดละ 27,337 ล้านบาท หรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2567

กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย แบ่งจ่ายคืนหนี้ กฟผ. 6 งวด งวดละ 22,781 ล้านบาท หรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี หรือในเดือน เม.ย. 2568

กกพ. ระบุว่า ประชาชนเห็นด้วยกับกรณีที่ 3 มากที่สุด ตรงกันกับ กฟผ. และกำหนดเป็นเรตเดียวกันทั่วประเทศ 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งแท้จริงแล้ว ค่าไฟฟ้าของภาคครัวเรือนกลับสูงขึ้นกว่างวดก่อนที่อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1% ส่วนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลดลงจากงวดก่อน 5.33 บาทต่อหน่วย โดยอ้างว่า การลดให้ภาคเอกชนจะชะลอการขึ้นราคาสินค้า

แม้ ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน แบ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า 1-150 หน่วย จะได้รับส่วนลดค่าเอฟที 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และระหว่าง 151-300 หน่วย จะได้รับส่วนลด 67.04 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 บาท ได้ส่วนลด 150 บาท

แต่สภาพอากาศที่ร้อนดุเดือดชนิดพีกไม่หยุดทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกค่าไฟฟ้าพุ่งสูงหลายเท่าตัว โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ.