วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “เซ่งชง” ร้านเครื่องหนัง 6 แผ่นดิน ในมือทายาทรุ่น 4 “อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา”

“เซ่งชง” ร้านเครื่องหนัง 6 แผ่นดิน ในมือทายาทรุ่น 4 “อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา”

ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋า หรือเข็มขัด ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีอยู่อย่างมากมายในท้องตลาด และมีหลากหลายแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้เลือกสรร ตั้งแต่แบรนด์เล็กๆ แบบงานคราฟต์ไทยๆ ไปจนถึงแบรนด์ต่างชาติสุดหรู

ท่ามกลางตัวเลือกที่มีอยู่อย่างมากมาย เครื่องหนังจากร้าน “เซ่งชง” ร้านเครื่องหนังร่วมสมัยที่มีอายุกว่า 126 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น และยังเป็นธุรกิจครอบครัวที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน จากร้านตัดรองเท้าหนังยุคแรกๆ ที่คนไทยเพิ่งเริ่มสวมรองเท้า สืบทอดกิจการจนมาถึงปัจจุบัน

“อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา” หรือ คุณกานต์ ทายาทรุ่นที่ 4 ที่เข้ามารับไม้ต่อธุรกิจของครอบครัว ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของ “ร้านเซ่งชง” ร้านตัดรองเท้าหนังร้านแรกของเมืองไทยให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังว่า

“ถ้าพูดถึงประวัติของร้านเซ่งชงคงต้องย้อนกลับไปราวๆ ปี พ.ศ. 2435 ตอนนั้นคุณทวดของผม ‘เซ่งชง แซ่หลิว’ ท่านเป็นชาวจีน ได้เดินทางจากมณฑลกวางตุ้งมายังเมืองไทยเพื่อมาหาชีวิตที่ดีกว่า พร้อมกับนำทักษะด้านการทำเครื่องหนังติดตัวมาด้วย เพราะท่านเป็นคนจีนแคะซึ่งมีความชำนาญด้านงานฝีมือ อย่างการทำรองเท้า การทำหนัง และเสื้อผ้า คุณทวดเลยมาเปิดร้านรองเท้าและเครื่องหนังขึ้นที่พระนคร โดยใช้ชื่อร้านตามชื่อของท่านคือร้านเซ่งชง”

“ร้านเซ่งชง” เปิดกิจการครั้งแรกในปี 2439 เป็นตึกแถวเล็กๆ บริเวณสามยอด ริมถนนเจริญกรุง ถือเป็นร้านรองเท้าและเครื่องหนังยุคแรกๆ ของประเทศไทย เพราะเดิมทีคนไทยในสมัยนั้นยังไม่นิยมใส่รองเท้า แต่เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามา ทำให้คนไทยเริ่มใส่รองเท้ากันมากขึ้น

โดยในยุคแรกที่คนไทยเริ่มใส่รองเท้านั้นจะเป็นรองเท้าที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศหรือร้านเครื่องหนังของชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยซึ่งมีราคาแพง ร้านเซ่งชงจึงริเริ่มทำเครื่องหนังที่ผลิตจากหนังภายในประเทศ และฟอกย้อมเองทุกขั้นตอน ทำให้มีราคาย่อมเยา ช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และถือเป็นร้านตัดรองเท้าหนังร้านแรกๆ ของเมืองไทย ที่สำคัญยังขึ้นชื่อเรื่องสินค้าคุณภาพดี วัสดุมีคุณภาพ ทนทาน มีฝีมือประณีต และเป็นที่นิยมของผู้คนในยุคนั้น

ซึ่งกานต์อธิบายเพิ่มเติมว่า “รองเท้าหนังรุ่นแรกๆ ของร้านเซ่งชงส่วนใหญ่เป็นรองเท้าหัวแหลมผูกเชือก รองเท้าบูต และรองเท้าที่ใช้เป็นเครื่องแบบ เพราะเป็นช่วงที่คนไทยเริ่มใช้รองเท้า”

ร้านเซ่งชงดำเนินกิจการเรื่อยมากระทั่งได้มีโอกาสตัดฉลองพระบาทถวายรัชกาลที่ 6 และจัดทำเครื่องแบบหนังให้กับกองเสือป่า รวมถึงเครื่องประกอบทหารม้าในกองทัพบก ซึ่งเดิมทีอุปกรณ์ขี่ม้าต่างๆ จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศอย่างอิตาลีและเยอรมนี กระทั่งเซ่งชงได้ลองทำและสามารถทำได้ และหลังจากนั้นก็ได้ทำเครื่องหนังถวายราชสำนักและอุปกรณ์ขี่ม้ามาโดยตลอด จนได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑในปี 2462 และได้รับพระราชทานราชทินนามจากรัชกาลที่ 6 เป็น “หลวงประดิษฐบาทุกา” ในปี 2466 และเป็นต้นตระกูล “ประดิษฐบาทุกา” ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

จากบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์สู่ทายาทรุ่นที่ 4 แห่งร้านเครื่องหนัง
จากจุดเริ่มต้นในปี 2439 ปัจจุบันร้านเครื่องหนังเซ่งชงเดินทางมาถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 4 อย่าง “อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา” บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และพี่ชาย “ชยาศิล ประดิษฐบาทุกา” ที่เข้ามารับช่วงกิจการซึ่งมีอายุกว่า 100 ปีต่อจากรุ่นปู่

“คุณปู่ท่านก็พยายามปลูกฝังพวกเรามาตั้งแต่เด็กๆ ให้นับแผ่นหนังบ้าง อะไรบ้าง แต่แรกๆ ก็ยังไม่มีความคิดที่จะเข้ามาสานต่อเท่าไรนัก แต่มันเป็นสิ่งที่เราซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ พอหลังจากเรียนจบก็เลยมาสานต่อ”

ซึ่งกานต์เปิดเผยต่อว่า ร้านเซ่งชงในยุคสมัยของคุณปู่ดำเนินการมาอย่างราบรื่น จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ท่านชราและทำต่อไม่ไหว จึงปล่อยเซ่งชงให้พนักงานและช่างเป็นผู้ดูแล ถือเป็นช่วงสุญญากาศของร้านเกือบ 10 ปี จนกระทั่งกานต์สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลยตัดสินใจเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว และเพิ่มชีวิตชีวาให้กับเซ่งชงอีกครั้ง

แต่แน่นอนว่าจากวิศวกรที่ต้องมาอยู่ในแวดวงเครื่องหนังและยังเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทายาทรุ่นที่ 4 อย่างเขา โดยในช่วงแรกถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ซึ่งกานต์พยายามเรียนรู้จากคนยุคเก่าทั้งจากช่างและพนักงานของร้านที่มากประสบการณ์ รวมถึงเรียนรู้ความต้องการจากลูกค้าที่เหนียวแน่นของร้านให้มากที่สุด ทั้งเรื่องกระบวนการทำงาน เรียนรู้การเลือกหนัง การตัดเย็บ รวมไปถึงการบริหารจัดการร้าน ผ่านการปรับเปลี่ยนและลองผิดลองถูก จนสามารถนำพาร้านเซ่งชงให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง โดยมี “ชยาศิล” ผู้เป็นพี่ชายที่ศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลมาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ และช่วยดูเรื่องโรงงานเป็นหลัก

ปัจจุบันร้านเซ่งชงมีสินค้าเครื่องหนังที่หลากหลายและเป็นหนังแท้ทั้งหมด มีทั้งสินค้าที่ปรับดีไซน์ให้ทันสมัย และมีสินค้าที่ยังคงความคลาสสิกตามแบบฉบับของเซ่งชง ทั้งรองเท้า อุปกรณ์ขี่ม้า อุปกรณ์สำหรับการฝึกสุนัข กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด โดยสินค้าไฮไลต์คือรองเท้า อย่างรองเท้าคัตชูและรองเท้าแตะ รวมถึงเข็มขัดและอุปกรณ์ขี่ม้า

โดยหนังที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นหนังในประเทศทั้งหนังวัว ควาย และแกะ แต่มีบางส่วนที่หาในประเทศไม่ได้จึงจะนำเข้ามาจากอิตาลี เยอรมนี และปากีสถาน ซึ่งหนังแต่ละประเภทจะใช้ในสินค้าที่ต่างกัน หนังแกะจะนิ่มอย่างเดียวแต่ไม่ทน เซ่งชงจะนำมาใช้ในส่วนของซับใน ส่วนอุปกรณ์ขี่ม้าที่ต้องใช้ความหนาของหนังมากๆ บางส่วนต้องหนาเกิน 5 มิลลิเมตร ก็จะใช้หนังวัวและควาย ส่วนหนังวัวส่วนใหญ่ใช้ทำด้านนอกของรองเท้า

กานต์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันร้านเซ่งชงมีช่างอยู่ราวๆ 3-4 คน แต่ก่อนมีจำนวนมากกว่านี้ ซึ่งช่างเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนตอนนี้ช่างที่อายุมากที่สุดคือ 50 ปี โดยช่างจะรับหนังจากโกดังของเซ่งชงและไปตัดเย็บที่บ้าน แต่ถ้าช่างที่มีอายุเยอะมากๆ ทางร้านจะเป็นผู้ตัดหนังให้

ในส่วนของรองเท้าจะรับตัดเฉพาะรองเท้าบูตขี่ม้า เพราะรองเท้าบูตขี่ม้าไม่ใช่แค่ขนาดของเท้า แต่ยังมีเรื่องขนาดของน่องและความสูงอีกด้วย เพราะรองเท้าขี่ม้าที่ดีต้องพอดีกับน่องและคล่องตัว โดยปกติเซ่งชงจะใช้เวลาในการตัดเย็บราวๆ 1 เดือน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่คู่ละประมาณ 4,500 บาท ส่วนรองเท้าคัตชูทั่วไปทางร้านไม่รับสั่งตัด แต่มีสต๊อกตั้งแต่ไซซ์เล็กยันไซซ์ใหญ่พิเศษ

“เราพยายามทำให้ทุกคนที่มาที่นี่แล้วได้ของกลับไปเลย ไม่ต้องเสียเวลารอ เพราะฉะนั้นสินค้าของเราจึงหลากหลายทั้งประเภทและขนาด รองเท้ามีตั้งแต่ไซซ์เล็กอย่างเบอร์ 36 ไปจนถึงไซซ์ใหญ่กว่าที่ร้านอื่นๆ มี เข็มขัดเส้นยาวๆ เราก็มี ส่วนอุปกรณ์ขี่ม้าคนมีเงินส่วนใหญ่เขาก็ใช้ของแบรนด์เนมนำเข้าจากต่างประเทศ เหมือนพวกกระเป๋า แต่ความจริงสินค้าของเราก็มีคุณภาพและใช้ได้ดี”

ความพิเศษของร้านเครื่องหนังที่เก่าแต่เก๋า
แม้จะเดินทางมาอย่างยาวนาน แต่เซ่งชงยังคงเป็นร้านเครื่องหนังที่เก่าแต่เก๋า มีทั้งกลุ่มลูกค้าประจำที่เหนียวแน่น และลูกค้าหน้าใหม่ที่แวะเวียนมาทำความรู้จักอยู่เสมอ แน่นอนว่าคำถามที่ต้องผุดขึ้นมาคือ อะไรคือความพิเศษของเซ่งชง?

“เทคนิคไม่ต่างกันมาก แต่สิ่งที่พิเศษและเป็นเอกลักษณ์ของเซ่งชงคือ เราใช้วัสดุที่มีคุณภาพ ทนทาน และขายในราคาที่สมเหตุสมผล อย่างรองเท้าถ้าเราเลือกวัสดุที่รองลงมามันก็สามารถลดต้นทุนได้ แต่มันทำให้คุณภาพลดลงไปด้วย เราก็จะไม่ทำ ยอมใช้ของที่คุณภาพดี พื้นรองเท้าใช้ยางอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่เราได้มาจากคุณปู่ เพราะคุณปู่สอนให้ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า รับผิดชอบต่องานที่ทำ ถ้างานมีปัญหาต้องจัดการแก้ไขให้ลูกค้า ไม่ทิ้งลูกค้า และเราจะยินดีมากๆ ถ้าเขาใช้ของเรานานๆ เอาของกลับมาให้เราซ่อม ซึ่งถ้าไม่หนักหนามากนักก็จะไม่มีการคิดเงินเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกค้าประทับใจ”

นอกจากความเชื่อมั่นจากลูกค้าแล้ว สิ่งที่สร้างความภูมิใจให้กับร้านเซ่งชงคือการได้มีโอกาสรับใช้ราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 และยังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตัดเย็บเครื่องหนัง อานม้า ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย อีกทั้งยังคงทำเครื่องหนังอุปกรณ์ขี่ม้าให้กับกองทหารม้าอยู่จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันร้านเซ่งชงย้ายจากร้านเดิมริมถนนเจริญกรุง มาอยู่บนถนนนครสวรรค์ เพราะร้านเดิมถูกเวนคืนและกลายเป็นสถานีรถไฟฟ้าสามยอดไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นกลุ่มลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ยังคงแวะเวียนมาเช่นเดิม

“เราจะไม่ขยายสาขาเพิ่มครับ เพราะเป็นความตั้งใจที่จะมีเพียงสาขาเดียว เพื่อดูแลและผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมากที่สุด” ทายาทรุ่นปัจจุบันของร้านเครื่องหนังเซ่งชงกล่าวทิ้งท้าย.