วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ทางแพร่งแห่ง “ผังเมืองกรุงเทพฯ” อนุรักษ์สิ่งเก่าหรือพัฒนาสิ่งใหม่

ทางแพร่งแห่ง “ผังเมืองกรุงเทพฯ” อนุรักษ์สิ่งเก่าหรือพัฒนาสิ่งใหม่

 
 
กรุงเทพมหานครกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 234 แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีที่ 4 ของสยามประเทศ กระนั้นมหานครแห่งสยามเมืองยิ้มก็ยังไม่หยุดพัฒนา 
 
ทัศนียภาพในกรุงเทพฯ แม้จะไม่สวยงามเป็นระเบียบหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปเอเชียด้วยกัน คงไม่แปลกเพราะสำนักผังเมืองซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้สวยงาม เป็นระเบียบและน่าอยู่ เริ่มงานด้านผังเมืองกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2496 และมี พ.ร.บ. การผังเมืองใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 แม้จะยังคงใช้จนถึงปัจจุบันแต่ก็เต็มไปด้วยข้อบกพร่องในเรื่องของการบังคับใช้ เนื่องจากรูปแบบการปกครองในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง
 
ความล้าสมัยของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการจัดรูปแบบผังเมืองในบางเรื่อง และทำให้ผู้มีอำนาจหน้าที่พยายามอย่างหนักที่จะผลักดันให้มี พ.ร.บ. การผังเมืองฉบับใหม่ขึ้นมา กระทั่งล่าสุด สนช. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการผังเมืองในวาระแรกแล้ว 
 
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การผังเมือง มีดังนี้ 1. กำหนดกรอบนโยบายแห่งชาติด้านการผังเมืองและการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีคณะกรรมการนโยบายผังเมืองและการใช้พื้นที่แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านการผังเมือง โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ โอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ และบุคลากร ฯลฯ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดไปไว้กับสำนักงานคณะกรรมการผังเมืองฯ
 
2. จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการผังเมืองฯ สังกัดสำนักนายกฯ โดยการถ่ายโอนบุคลากรส่วนงานผังเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดนโยบายผังเมืองทุกระดับให้สอดคล้องกัน
 
3. กำหนดรายละเอียดในการจัดทำผังภาค ประเทศ และระดับต่างๆ อย่างชัดเจน
 
4. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำผังเมือง
 
5. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายผังเมืองอย่างเข้มงวด
 
6. คุ้มครองประชาชนผู้ที่แจ้งข้อมูลการไม่ปฏิบัติตามผังเมือง
 
หาก ครม. เห็นชอบกับร่างหลักการ พ.ร.บ. การผังเมืองฉบับใหม่ คงเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะมี พ.ร.บ. การผังเมืองที่มีความทันสมัย ซึ่งจะหนุนนำการทำงานของภาครัฐอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้ว่าการเติบโตของรูปแบบเมืองจะเกือบเต็มที่แล้วก็ตาม
 
หลายต่อหลายครั้งที่มีผู้ตั้งคำถามถึงการจัดวางผังเมืองของกรุงเทพฯ ว่าเมืองหลวงแห่งนี้ ที่แน่นขนัดไปด้วยอาคารสูง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านรวงต่างๆ ยังจะสามารถสร้างพื้นที่สาธารณประโยชน์หรือพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะเพิ่มได้บ้างหรือไม่  
 
นักผังเมืองอย่าง สุนทรี เสริมสุขสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง ให้คำตอบได้น่าสนใจไม่น้อยว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากในสภาวะปัจจุบัน เพราะประเทศไทยมี พ.ร.บ. การผังเมืองใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2518 ซึ่งรูปแบบของเมืองเติบโตไปมาก ที่ดินเปล่าของรัฐมีไม่มากพอที่จะสร้างพื้นที่ให้เป็นปอดของกรุงเทพฯ เพิ่ม ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ในขณะนี้คือการสร้างพื้นที่สีเขียวบริเวณเกาะกลางถนน สวนแนวตั้ง พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน หรือเงื่อนไขทางสังคมเพื่อบีบให้ภาคเอกชนสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับโครงการธุรกิจขนาดใหญ่ 
 
การจัดระเบียบผังเมืองง่ายเหมือนการต่อตัวต่อเลโก้คงดี หากอาคารบ้านเรือนถูกจัดวางอย่างไม่เข้าตา หรือไม่ถูกที่ถูกทาง
 
หลายประเทศที่มีผังเมืองที่ดีอาจเป็นเพราะเคยผ่านการ Set Zero มาก่อน เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้จะมีความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากผู้คนในประเทศ ผู้มีอำนาจ นักธุรกิจผู้ประกอบการที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก จะคิดต่างและยินดีแบ่งพื้นที่สำหรับประโยชน์ส่วนรวมเพียงเศษเสี้ยวของประโยชน์ส่วนตัว อาจมีความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สาธารณประโยชน์เพิ่มขึ้น
 
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันกรุงเทพฯ มีการก่อสร้างอยู่แทบจะทุกหัวมุมถนน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมการขยายช่องทางการเดินรถ หรือระบบขนส่งมวลชนระบบราง อาคารสำหรับธุรกิจและที่พักอาศัย ทั้งแบบแนวราบ และแนวตั้ง หากมองในมุมของภาพรวมทางเศรษฐกิจ การก่อสร้างพื้นฐานดังกล่าว เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
และเพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสังคมและการท่องเที่ยว สำนักผังเมืองจึงต้องพาตัวเองเข้ามามีบทบาทต่อโครงการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของชุมชนต่างๆ ทั้งเพื่อยกระดับมาตรฐานของชุมชน ส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ พัฒนาระบบการเดินเท้าเชื่อมโยงโครงข่ายการสัญจรระบบ รถ-เรือ-ราง 
 
รวมไปถึงบางชุมชนที่ต้องการการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เพื่อส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน 
 
จะเห็นได้ว่า 2-3 ปีให้หลัง สำนักผังเมืองดูจะมีบทบาทต่อสังคมที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งจากโครงการปรับปรุงทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับปรุงพื้นที่ค้าขายให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการทำงานให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ปี 2556 
 
ดังนั้นในปีนี้ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย อาจจะทำให้เราเห็นโครงการที่ผังเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำกะดีจีน-คลองสาน ที่ร่วมมือกับ UDDC และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง ที่กำลังเริ่มต้น
 
แม้หน้าที่ของผังเมืองจะมีทั้งการพัฒนา และการปรับปรุงฟื้นฟู ทั้งเพื่อคงสภาพแวดล้อมที่ดี และเพื่อการอนุรักษ์ หากแต่ในมุมมองของสุนทรีที่เปิดเผยให้ได้คิดต่อว่า “เราจะอนุรักษ์สิ่งเก่า หรือจะพัฒนาสิ่งใหม่คงต้องดูเอกลักษณ์ของสิ่งนั้นๆ เพราะหากต้องได้รับการดูแลเพื่อการฟื้นฟู เราจะต้องดูแลรักษาด้วยความเข้าใจที่แท้จริง” 
 
หากเป้าหมายของการนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาสิ่งใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เรายังคงไม่ลืมที่จะอนุรักษ์รากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของชนในชาติเอาไว้ได้อย่างดีแล้ว คงไม่ยากเย็นเกินไปที่เราจะได้เห็นสังคมไทยที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา เติบโตควบคู่ไปกับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม
 
แนวความคิดของนักผังเมืองรุ่นใหม่อาจช่วยสร้างความหวังของเมืองที่เป็นระเบียบในฝันได้บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการคิดนอกกรอบไปจากความเป็นระบบราชการไทย จะทำให้ทางแพร่งแห่งนี้สามารถเดินไปด้วยกันได้หรือไม่ คงต้องรอดู