วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ยานยนต์ไฟฟ้า : โอกาสและความท้าทาย ภายใต้บริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ยานยนต์ไฟฟ้า : โอกาสและความท้าทาย ภายใต้บริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากหลากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคระบาด สภาวะเศรษฐกิจ สงคราม ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของยานยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น นั่นทำให้ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง แม้โลกจะเผชิญกับวิกฤตของโควิด-19 และสภาวะสงครามที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบในการผลิต

รายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก (รวมถึงรถยนต์ PHEV และรถยนต์ BEV) ในปี 2021 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2020 มาอยู่ที่ 6.6 ล้านคัน โดยร้อยละ 53 ของยอดขายทั่วโลก (ประมาณ 3.4 ล้านคัน) อยู่ที่จีน ตามมาด้วยตลาดยุโรป (ร้อยละ 33) และตลาดสหรัฐฯ (ร้อยละ 11)

ทั้งนี้ ในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากร้อยละ 0.9 ในปี 2016 โดยปัจจุบันคาดว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งานทั่วโลกราว 16 ล้านคัน ในขณะที่เมืองไทยความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จากรายงานของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2562-2564 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV (Hybrid Electric Vehicle), BEV (Battery Electric Vehicle), และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จดทะเบียนในประเทศรวมทั้งสิ้น 95,034 คัน เฉพาะปี 2564 มีจำนวนยอดจดทะเบียนทั้ง HEV, BEV, PHEV ทั้งสิ้น 40,710 คัน เติบโต 43% จากปี 2563 ในขณะที่ตัวเลขยอดจองรถยนต์นั่งไฟฟ้า หรือ xEV ในงานมอเตอร์โชว์ 23 มีนาคม– 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจอง 3,100 คัน หรือคิดเป็น 10% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน

กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยว่า ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในไทยสูงขึ้นมาก ทั้งจากปัจจัยด้านความยั่งยืน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนที่อาจไม่คิดจะซื้อมาก่อน แต่พอน้ำมันปรับตัวสูง ผู้บริโภคไม่น้อยก็หันมาสนใจยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ารถเชื้อเพลิงน้ำมัน นอกจากนี้ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งลดภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้า และมีเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการในตลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เฉพาะตัวเลขการจดทะเบียนของยานยนต์ไฟฟ้า 3 เดือนแรกของปี 2565 โตกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คาดว่าดีมานด์ที่แท้จริงจะสูงกว่ายอดจดทะเบียนอีกมาก โดยประมาณการว่าสิ้นปีจะมียอดจำหน่ายหลักหมื่นคัน

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ได้แก่ ราคาในปัจจุบันที่จับต้องได้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และตัวผลิตภัณฑ์ของยานยนต์ไฟฟ้าเองก็ตอบโจทย์และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ทั้งภาพลักษณ์ที่ทันสมัย สวยงาม และนวัตกรรมด้านความปลอดภัย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภคในตลาด

 

แม้ความต้องการพุ่ง แต่อุปสรรคและความท้าทายก็เพียบ
ถึงแม้สถิติยอดขายและความต้องการของตลาดจะอยู่ในกราฟขาขึ้น แต่ทว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ยังคงเป็นอุปสรรคและความท้าทายทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังการผลิตที่ไม่สามารถดันได้ตามความต้องการของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนชิปจากแหล่งผลิต ราคาวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 40-500 เปอร์เซ็นต์ จนผู้ผลิตบางรายเริ่มมองหาสินแร่ตัวอื่นๆ ที่จะนำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ทดแทนตัวเดิมที่ราคาพุ่งสูง

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การขนส่ง โรคระบาด สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศถือเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในการทำชิปเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หัวใจสำคัญในอุตสาหกรรม ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่การผลิตที่ไม่ทันต่อความต้องการ การส่งมอบที่ล่าช้า และการประกาศหยุดรับจองจากค่ายผู้ผลิตในที่สุด อันเป็นอุปสรรคที่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังเผชิญ

คาดยานยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสปรับราคาขึ้นทั่วโลก
ห่วงโซ่การผลิตที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีโอกาสปรับราคาขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรถยนต์สันดาปภายในที่ทยอยปรับราคาขึ้นไปก่อนหน้านี้ และยังคาดว่าราคาขายต่อของยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ไฟฟ้ามือสองจะมีราคาสูงตามขึ้นด้วยเช่นกัน

ซึ่งในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราได้เริ่มเห็นค่ายรถทยอยปรับราคาของยานยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นระยะ อย่างล่าสุด ORA Good Cat GT ยานยนต์ไฟฟ้าจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน ก็มีราคาจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นก่อนหน้า จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในกลุ่มผู้บริโภค

ทางเกรท วอลล์ มอเตอร์ เองก็ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า ราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงนั้น มาจากภาวะขาดแคลนชิปที่ดำเนินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงต้นทุนการผลิตจากทุกๆ ภาคส่วนของ supply chain สูงขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยบริษัทฯ ยังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นราคาของรถยนต์รุ่นอื่นๆ โดยจะประเมินสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ เป็นระยะ

ปัจจัยบวกช่วยหนุนอุตสาหกรรม นโยบายภาครัฐยังสำคัญ
แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีโอกาสและปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยหลักๆ คือ นโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น การขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) และศูนย์บริการซ่อมบำรุงให้ครอบคลุม

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือแพ็กเกจอีวี ตามประกาศกรมสรรพสามิต โดยการลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิตและการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีระยะเวลาการดำเนินมาตรการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญมองว่าภาครัฐควรมีมาตรการในการสนับสนุนที่หลากหลายรูปแบบและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว และอีกนัยหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตเกิดความสนใจเข้ามาเล่นในตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งนั่นย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรง

ถ้าพูดถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว กรณีตัวอย่างที่ควรหยิบยกมาพูดถึงคือความสำเร็จของประเทศจีนตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สามารถรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์สันดาปภายในมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก โดยพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านนั้นสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากความพยายามอย่างจริงจังของภาครัฐที่มีมาตรการกระตุ้นในหลากหลายรูปแบบ

ทั้งการออกนโยบายการผลักดันเชิงรุกเพื่อลดการใช้รถยนต์สันดาป (Push Strategy) เช่น การกำหนดวันคู่วันคี่สำหรับรถที่วิ่งในเมือง การตรวจสอบการปล่อยไอเสีย ควบคู่ไปกับนโยบายจูงใจให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น (Pull Strategy) เช่น การลดหย่อนภาษี การให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยสามารถวิ่งได้ทั้งวันคู่และวันคี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุมและเพียงพอต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าแก่ประชาชนอีกด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี และไทยสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้

นอกจากนโยบายจากภาครัฐแล้ว การเร่งขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ศูนย์บริการและซ่อมบำรุงให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ก็เป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตต่อไปได้ เพราะสถานีชาร์จรถไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับยานยนต์ไฟฟ้า

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ณ เดือนมีนาคม 2565 ประเทศไทยมีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 944 สถานีทั่วประเทศ แบ่งเป็น 473 สถานี ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี, ภาคกลาง 152 สถานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 95 สถานี, ภาคเหนือ 109 สถานี และภาคใต้ 115 สถานี ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

แต่ถ้าในอนาคตมีการขยายสถานีชาร์จและศูนย์ซ่อมบำรุงที่มากพอ กระจายตัวได้ดี และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้พร้อมยิ่งขึ้น ผนวกกับนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนและต่อเนื่อง ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเติบโตขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน.

ใส่ความเห็น