วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Life > “พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” บอกเล่าเรื่องราวของคนกลางคืน

“พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” บอกเล่าเรื่องราวของคนกลางคืน

ภาพยนตร์อินเดียอย่าง “Gangubai Kathiawadi” หรือ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่ฉายทาง Netflix สร้างกระแสความนิยมและเรียกเสียงชื่นชมจากผู้ชมอย่างล้นหลามทั้งในตัวเนื้อเรื่องที่พูดถึงเรื่องราวและการต่อสู้เพื่อสิทธิของหญิงขายบริการในอินเดีย โทนภาพที่สวยงาม และตัวละครในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คังคุไบ” ตัวละครหลักที่หลายๆ คนชื่นชอบ ออกมาคัฟเวอร์เป็นคังคุไบกันมากมาย จนกลายเป็น “คังคุไบฟีเวอร์” อยู่ในขณะนี้

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ภาพยนต์ดังกล่าวก็ทำให้อีกหลายๆ คน เริ่มหันกลับมาสนใจเรื่องราวของคนกลางคืนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

วันนี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” พิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่กลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาของ “พัฒน์พงศ์” ย่านที่ถูกขนานนามว่าเป็นโลกกลางคืนแห่งกรุงเทพมหานคร

จากซอยพัฒน์พงศ์ 2 เดินเข้าไปไม่ไกลนัก เราจะพบป้ายสีสดใสที่เชื้อเชิญให้เราขึ้นไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” ที่ฝังตัวอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร แวดล้อมด้วยผับบาร์มากมาย

“พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” หรือ Patpong Museum ก่อตั้งโดย ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ศิลปินชาวออสเตรียที่ใช้เวลาอยู่ในย่านพัฒน์พงศ์มานานจนเก็บเกี่ยวเรื่องราวและสะสมร่องรอยของประวัติศาสตร์ความเป็นพัฒน์พงศ์จนถ่ายทอดออกมาผ่านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ตัวพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่จัดแสดงทั้งหมด 6 ส่วน ทั้งในส่วนของข้อมูล โมเดลจำลอง บาร์จำลองยุค 1970 และของเก่าสะสมที่นำมาจัดแสดงมากกว่า 100 ชิ้น

โดยห้องแรกเป็นการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยซุ้มประตูทรงโค้งแบบจีนที่มาในโทนสีแดง พร้อมบอกเล่าที่มาของย่านพัฒน์พงศ์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากชาวจีนไหหลำนาม “นายตุ้น แซ่ผู่” ผู้ที่ล่องเรือจากจีนมาตั้งรกรากในเมืองไทย ระยะแรกนายตุ้นหาเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายข้าวเปลือกและโรงไม้ ก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปูน โดยการทำสัมปทานเหมืองดินขาวเพื่อส่งให้กับปูนซีเมนต์ไทย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “หลวงพัฒน์พงศ์พานิช” จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2470

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2489 หลวงพัฒน์พงศ์พานิชได้ซื้อที่ดินที่เป็นไร่กล้วยขนาดใหญ่บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ในราคา 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งมีบ้านไม้สักหลังใหญ่อยู่ตรงกลาง มีถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ขนาบข้าง และที่ดินบริเวณนี้เองที่ต่อมากลายเป็นสถานที่ที่ชาวโลกรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ “พัฒน์พงศ์” ศูนย์กลางแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน อีกทั้งยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อ CIA ที่น้อยคนนักจะรู้จัก โดยมีทายาทคนสำคัญอย่าง “อุดม พัฒน์พงศ์พานิช” เป็นผู้มีบทบาทหลัก

อุดมถูกส่งไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา และที่นี่เองที่เขาได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ที่เกี่ยวโยงกับ CIA เพื่อต่อต้านการรุกรานจากกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่ออุดมเดินทางกลับมาเมืองไทยเป็นช่วงที่สงครามจบลงแล้ว เขาจึงมุ่งพัฒนาที่ดินย่านพัฒน์พงศ์เพื่อสานต่อความต้องการของผู้เป็นพ่อ

จากไร่กล้วยธรรมดา อุดมได้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจนกลายมาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจที่คับคั่งไปด้วยชาวต่างชาติ โดยการเชิญชวนกลุ่มเพื่อนมาทำธุรกิจบนถนนเส้นนี้ ทั้งบริษัทไอบีเอ็ม, สายการบินแอร์ฟรานซ์, สายการบิน Pan Am รวมถึงการเข้ามาของ CIA ในช่วงสงครามเย็น ที่มาตั้งสำนักงานแบบลับๆ ในตึกหนึ่งของพัฒน์พงศ์

สิ่งที่ตามมาหลังจากการเข้ามาของธุรกิจต่างๆ และ CIA คือธุรกิจบันเทิง แสงสี ผับบาร์ และการค้าบริการ ทั้งสำหรับคนมาทำธุรกิจและทหารจีไอของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเวียดนาม จนกลายเป็นภาพของพัฒน์พงศ์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

โดยพิพิธภัณฑ์ได้พาเราไปสัมผัสกับบรรยากาศในยุคนั้นผ่านวิดีโอ โมเดลจำลองของพัฒน์พงศ์ที่ตั้งอยู่กลางห้อง และที่ขาดไม่ได้คือเกร็ดความรู้จากผู้นำชมที่นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังช่วยสร้างอรรถรสในการเดินชมได้เป็นอย่างดี

ความพิเศษคือ เราจะได้รู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากโมเดลจำลองนั้น เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่นสาขาแรกที่ตั้งอยู่ที่พัฒน์พงศ์ ร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าแก่อย่าง ‘ภัตตาคารมิสุ’ ซึ่งบางแห่งไม่มีให้เห็นอยู่แล้วในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เราจะได้เห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เคยมาเยือนพัฒน์พงศ์ในอดีต ผ่านภาพเงาบนผนังที่ต้องเอาแท็บเล็ตขึ้นมาสแกนเพื่อดูว่าใครเป็นใคร ซึ่งต้องขอบอกเลยว่ามีทั้งนักร้อง นักเขียน ศิลปิน นักแสดง ชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดวิด โบวี (David Bowie) นักร้อง นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ อีกหนึ่งตำนานของวงการ และเป็นอีกผู้หนึ่งที่ตกหลุมรักพัฒน์พงศ์

รวมถึง แอนโทนี โพเชอปนี (Anthony Poshepny หรือที่รู้จักในชื่อ “โทนี่ โพ” (Tony Poe) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทางทหารของ CIA ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม ที่มักจะตัดหูฝ่ายตรงข้ามส่งให้กับผู้บัญชาการแทนการรายงาน และเป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้ชีวิตวนเวียนในย่านนี้เช่นกัน

โซนถัดไปเป็นการจำลอง “บาร์อะโกโก้” ในยุคแรกเริ่ม มีทั้งบาร์เมนูเครื่องดื่มและภาพวิดีโอผู้หญิงขนาดเท่าคนจริงที่เต้นอยู่ด้านหนึ่งของบาร์ เพื่อเสริมบรรยากาศให้ดูสมจริง จนเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในบาร์จริงๆ

นอกจากสถานบันเทิงและผับบาร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธว่าเกิดขึ้นควบคู่กับแสงสีในย่านพัฒน์พงศ์นั่นก็คือ “การค้าบริการ” ซึ่งพิพิธภัณฑ์ถ่ายทอดสู่ผู้ชมโดยการจัดแสดงภาพถ่ายของผู้ค้าบริการทั้งในอดีตและปัจจุบัน โชว์ต่างๆ ที่หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง มีภาพถ่ายของเซ็กซ์ทอยแบบต่างๆ รวมถึงการนำเสนอด้านมืดของพัฒน์พงศ์

และสุดท้ายกับโซนแกลเลอรีแสดงงานศิลปะร่วมสมัย ที่จะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ และยังมีของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ที่มีให้เลือกซื้อกลับบ้านอีกด้วย

ถ้ามีโอกาสอยากเชิญชวนผู้อ่านให้ลองไปสัมผัสเรื่องราวของพัฒน์พงศ์ผ่านพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์แห่งนี้ดูสักครั้ง และเชื่อแน่ว่าหลังจากเข้าชมแล้ว ภาพที่เราเคยมองพัฒน์พงศ์จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน.

ใส่ความเห็น