วันอังคาร, กันยายน 10, 2024
Home > Cover Story > แอปเถื่อนระบาดไม่หยุด ผวาปีแห่งการแก้หนี้ หรือก่อหนี้

แอปเถื่อนระบาดไม่หยุด ผวาปีแห่งการแก้หนี้ หรือก่อหนี้

แม้โควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ลดความรุนแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบจากขบวนการแอปเงินกู้เถื่อน ที่พัฒนาจากแผ่นปิดโฆษณาตามสะพานลอยสู่ช่องทางออนไลน์ อาศัยจังหวะที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนขาดรายได้ ถูกเลิกจ้าง วางแผนส่งไลน์ ส่งเอสเอ็มเอส ไปจนถึงติดต่อผ่านมือถือ ใช้สารพัดเรื่องราวหลอกลวง มีชาวบ้านตกเป็นเหยื่อหลายหมื่นราย วงเงินเสียหายหลายพันล้าน และแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นด้วย

หากสำรวจข้อมูลหลายๆ กรณี พฤติการณ์ของแอปเงินกู้เถื่อนจะหลอกลวงด้วยเนื้อหาคล้ายกัน เช่น หลอกว่า ได้สิทธิ์กู้เงินเงื่อนไขพิเศษ 10,000 บาท แต่ผู้กู้ต้องโอนมาก่อน 2,000 บาท แต่เมื่อโอนไปให้แล้วกลับถูกปิดบัญชีและหลอกเอาเงินไป หรือขอกู้ 4,000 บาท ผู้กู้จะถูกหักเงิน 1,200 บาท และได้รับเงินจริงแค่ 1,800 บาท หรือได้สิทธิ์ชิงเงินรางวัลพิเศษ แต่ต้องโอนเงินเปิดระบบจำนวนหนึ่งก่อน

หลายรายโดนหลอกลวงหลักหมื่น หลักแสน แต่มีบางรายอ่วมหนี้จากแอปเงินกู้ถึง 1 ล้านบาท และจากการรวบรวมข้อมูลจากผู้เสียหายปัจจุบันมีมากกว่า 30 แอปที่กำลังแพร่ระบาด แม้ที่ผ่านมามีการจับกุมเจ้าของแอปเงินกู้ แต่โทษแค่ยึดทรัพย์และภาคทัณฑ์ ทำให้กลุ่มแอปเงินกู้ขยายขบวนการ เปลี่ยนชื่อหลอกลวงเพิ่มอีก ซึ่งนายทุนแอปเงินกู้ส่วนใหญ่ มีทั้งชาวจีน มาเลเซีย และเมียนมา

ล่าสุด แอปเหล่านี้พลิกกลยุทธ์ใช้วิธีการโทรติดต่อกลุ่มเป้าหมายผ่านโทรศัพท์ หรือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ด้วยเนื้อหาหลอกลวงต่างๆ เช่น ขู่ว่ามีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ หรือค้ำประกันซื้อรถยนต์ให้บุคคลอื่นและต้องชำระเงินทั้งหมดแทนลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ หรืออ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า มีชื่อตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด เมื่อเหยื่อปฏิเสธจะหลอกเอาเงินค่าดำเนินการแก้ไข ซึ่งหลายรายตกลงยอมจ่ายหลักล้านหวังล้างข้อกล่าวหา

แน่นอนว่า ขบวนการเถื่อนอาศัยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว สินค้าราคาแพงและค่าครองชีพสูงเป็นโอกาสขยายการหลอกลวง ซึ่งส่งผลให้ยอดหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ประเมินจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 อยู่ที่ระดับ 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในช่วง 89.5%-90.5% ต่อจีดีพีภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และคาดหวังว่าจะทยอยปรับลดลงช่วงครึ่งปีหลัง หลังการแพร่ระบาดของโอมิครอนเบาบางลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

ทว่า สิ่งที่น่ากังวล คือสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อสะท้อนจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจากการสำรวจผู้บริโภคของ EIC มีถึง 26.1% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามกู้ยืมในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านขบวนการนอกระบบ และแนวโน้มสูงขึ้นอีก จากยอดหนี้นอกระบบเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท พุ่งพรวดสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 78%

นั่นถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศผลักดันให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ครอบคลุม 8 กลุ่มหนี้ ได้แก่

1. การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ ปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืนจากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายเวลาผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี การเริ่มชำระหนี้ให้ผูกกับการมีงานทำ นำเงินชำระตัดเงินต้นก่อนแล้วจึงนำมาตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เหลือ 2% ต่อปี

2. กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

3. แก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ใหม่ โดยอัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระ 1 งวด และคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด คิดอัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม กำหนดค่างวดที่ถึงกำหนดชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้

4. การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ ได้แก่ ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือไม่เกิน 5% ลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้เป็นธรรมมากขึ้น หลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อป้องกันการกู้ยืมนอกระบบ

5. ทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ ได้แก่ การลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance จาก 36% เหลือ 33% สนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยลดภาระดอกเบี้ยและจัดค่างวดในระยะยาว

6. แก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็น platform กลางแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มักมีเจ้าหนี้หลายราย จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์

7. แก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ 8. จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (Thai Business Mediation Center: TBMC) ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

ทั้ง 8 แนวทางถือเป็นภารกิจใหญ่ของรัฐบาล ไม่ใช่แค่ผลสะท้อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมเปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงกลางเดือนหน้า แต่ยังหมายถึงการผลักดันเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน เพื่อเป็น “ปีแห่งการแก้หนี้” อย่างแท้จริง.

ใส่ความเห็น