วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > New&Trend > เคทีซีจัด “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ปี 3 แบบออนไลน์ ส่งต่อวิถีเกษตรพอเพียงเลี้ยงชีพได้ สู่น้องบกพร่องทางการได้ยิน

เคทีซีจัด “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ปี 3 แบบออนไลน์ ส่งต่อวิถีเกษตรพอเพียงเลี้ยงชีพได้ สู่น้องบกพร่องทางการได้ยิน

เคทีซีผนึกโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ และโสตศึกษา นนทบุรี สานต่อโครงการ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ปี 3 เตรียมเยาวชนไทยที่บกพร่องทางการได้ยิน พัฒนาศักยภาพเพื่อการพึ่งพาตนเอง ใช้แนวคิดการแบ่งปันความรู้แบบไตรภาคี สร้างเครือข่ายองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น โดยปรับแผนการเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ด้วยหลักสูตรการสอนที่สอดคล้องกับ 5 กลุ่มอาชีพ ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความยั่งยืนในสังคมระยะยาว

นางสุดปรารถนา ดำรงชัยธรรม ผู้อำนวยการ – ทรัพยากรบุคคล “เคทีซี” กล่าวว่า “เนื่องจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในวงกว้างรุนแรงมากขึ้น เคทีซีจึงได้ปรับแผนการเรียนการสอนของโครงการ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ปี 3 ในรูปแบบออนไลน์ และบันทึกวีดิโอผ่านช่องทางของโรงเรียน โดยใช้หลักสูตรและสานต่อแนวคิดการแบ่งปันความรู้จากรุ่นสู่รุ่น (Train the Trainer) โดยวิทยากรภาษามือจากคุณครูและนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเคยเป็นผู้รับในปีทื่ 2 จะเป็นผู้ร่วมส่งต่อความรู้ในปีที่ 3 ให้กับเพื่อนๆ โรงเรียนโสตศึกษา นนทุบรี ซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาพิเศษ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 49 คน”

“ความสำเร็จของโครงการฯ สองครั้งที่ผ่านมา มีนักเรียนและครูที่เข้าร่วมในโครงการรวม 156 คน จากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ และโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ โดยเคทีซีเน้นให้ความสำคัญกับการแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้คนในสังคมพัฒนาอาชีพสร้างรายได้เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม”

“โครงการ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ด้วยเชื่อมั่นว่าการบกพร่องทางกายของเยาวชนมิใช่อุปสรรคในการเรียนรู้ หากได้รับโอกาสในการพัฒนาที่เหมาะสม จึงได้นำการเรียนรู้เพาะเห็ด ออร์แกนิค ตามวิถีเกษตรพอเพียง และความรู้ทางการเงิน เข้ามาเป็นหลักสูตรการสอน โดยเน้นการลงมือปฏิบัติและพัฒนาความรู้ไปสร้างอาชีพ ตลอดจนสามารถส่งต่อเครือข่ายองค์ความรู้ให้กับสังคมต่อไป”

 

นายสมชาย บ้านไร่ ผู้อำนวยการ โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า “โครงการเรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ปี 3 นี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการเพาะเห็ด และการทำผลิตภัณฑ์จากเห็ดเต็มรูปแบบ ทั้งการเพาะ การดูแล การแปรรูป การออกแบบผลิตภัณฑ์และการจำหน่าย ซึ่งถือว่านักเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการจะสามารถนำความรู้พื้นฐานนี้ไปต่อยอดพัฒนาการเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ และประกอบอาชีพต่อไป ขอขอบคุณเคทีซี โรงเรียนโสตทุ่งมหาเมฆ และฟาร์มเห็ดโพธิ์ทอง ที่ให้โอกาสและสนับสนุนนักเรียนได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทางโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรีจะพยายามเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ ทักษะการประกอบอาชีพอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้”

นางจุฑารัตน์ เรืองเดช รักษาการผู้อำนวยการ โรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ กล่าวว่า “ในปีการศึกษา 2563 โรงเรียนได้รับเกียรติจากเคทีซี และโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ส่งต่อโครงการ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน ปี 2” ซึ่งนอกจากโรงเรียนจะได้รับโรงเพาะเห็ดที่มีมาตรฐาน และก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์ยิ่งก็คือ การส่งมอบความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการจัดการ จากโรงเรียนเศรษฐเสถียรและเคทีซี รวมถึงฟาร์มเห็ดโพธิ์ทองที่เคทีซีจัดให้นักเรียนไปศึกษาดูงาน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ โดยตลอดระยะเวลาที่ร่วมโครงการ นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำโรงเพาะเห็ด การบริหารจัดการโครงการ การดูแล-เก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างสรรค์เป็นเมนูอาหารต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งยังสร้างให้นักเรียนเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ มีภาวะผู้นำ เป็นประโยชน์โดยตรงแก่นักเรียน ในขณะที่คณะครูผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันจัดประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ จนทำให้ “เห็ด” เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนที่สร้างรายได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน และเป็นแนวทางสร้างอาชีพให้แก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี และในปีนี้เป็นความยินดียิ่งของโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ที่จะได้ส่งต่อโครงการที่มีประโยชน์นี้ให้กับเพื่อนต่างโรงเรียนคือ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” ปี 3 จะยั่งยืนส่งต่ออย่างต่อเนื่องไปอีกนานเท่านาน”

นางสาวเนตรนภา ขวัญสุข หนึ่งในทีมวิทยากรนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ สื่อสารผ่านล่ามภาษามือถึงประสบการณ์ตอนที่เข้าร่วมเรียนรู้ในโครงการฯ ครั้งที่ 2 ว่า “ตอนที่คุณครูบอกว่า เคทีซีจะมาสร้างโรงเพาะเห็ดให้โรงเรียนของเรา และคุณครูกับเพื่อนๆ หูหนวกจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรจะมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก เพราะพวกเราไม่เคยเห็น ไม่เคยทำโรงเพาะเห็ดมาก่อน โรงเพาะเห็ดที่สร้างสวยงามมาก ติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบพ่นละอองน้ำพร้อมใช้งาน”

“เมื่อฟาร์มเห็ดโพธิ์ทองมาส่งก้อนเชื้อเห็ดรอบแรก เราตกใจมาก ก้อนเชื้อเห็ดมีจำนวนมากถึง 1,800 ก้อน และเพื่อนๆ จากโรงเรียนเศรษฐเสถียร สอนให้เราเปิดปากถุง เรียงก้อนเชื้อเห็ด รดน้ำ จนวันที่เห็ดทั้งโรงพากันออกดอก เราตื่นเต้นมาก ทำไมมากมายขนาดนี้ เก็บขายครั้งละหลายกิโลกรัม เราขายกิโลกรัมละ 100 บาท โดยขายให้โรงครัวของโรงเรียน ชุมชนรอบโรงเรียน ตลาดสวนพลู และให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้มาบริจาค สัปดาห์ต่อๆ มาเรายังได้เรียนรู้การทำอาหารจากเห็ด สนุกและอร่อยมาก ทำบิ๊กบุ๊ค และพี่ๆ จากเคทีซียังมาสอนการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย คำนวณต้นทุน-กำไร รวมถึงออกแบบโลโก้เห็ดให้พวกเราด้วย ขอบพระคุณครูและเพื่อนๆ จากโรงเรียนเศรษฐเสถียร พี่ๆ จากเคทีซี และครูรัตน์จากฟาร์มเห็ดโพธิ์ทองมากค่ะ ที่นำสิ่งดีๆ มาให้พวกเรา และยินดีมากที่ทราบว่าปี 2564 นี้จะได้มีโอกาสนำความรู้และประสบการณ์ของพวกเรา ไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ และน้องๆ ที่โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดนนทบุรี เราจะทำให้ดีที่สุด ขอบคุณเคทีซีที่ให้โอกาส ให้ความรู้และประสบการณ์ดีๆ แก่พวกเรา”

ใส่ความเห็น