วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Life > คำแนะนำสั้นๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว (1)

คำแนะนำสั้นๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาว (1)

 
บทความสั้นกระชับเกี่ยวกับปัญหาและการดูแลสุขภาพที่นำเสนอนี้ คัดเลือกจากหนังสือ A Short Guide to a Long Life เขียนโดยนายแพทย์ David B. Agus, MD ผู้เขียน The End of Illness ซึ่งเป็นหนังสือเพื่อสุขภาพเล่มแรกของเขา และติดอันดับหนึ่งหนังสือขายดีที่สุดของ  New York Times
 
David B. Agus เป็นแพทย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งระดับแถวหน้าคนหนึ่งของโลก เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และวิศวกรรมประจำ University of Southern California (USC) และเป็นผู้อำนวยการ Westside Cancer Center และ Center for Applied Molecular Medicine ของ USC รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ของสำนักข่าว CBS News
 
เราประเดิมบทความแรกด้วยเรื่อง … 
 
ประโยชน์อเนกอนันต์ของยาลดไขมันกลุ่ม statin 
ปัจจุบันโรคหัวใจยังได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตหมายเลขหนึ่งที่คร่าชีวิตคนอเมริกันได้มากที่สุด โดยมีโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดสมองตามมาติดๆ 
 
นับจากปี 1950 อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 60 ได้ก็จริง แต่สืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวมถึงการใช้ยากลุ่ม statin การมีความรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอาหาร การออกกำลังกาย และความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่
 
ดังนั้น ถ้าเราไม่คิดหามาตรการป้องกันให้ดี จะมีคนจำนวนมากเสียชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือไม่ก็โรคมะเร็งอยู่ดี 
 
เป็นเวลานานมาแล้วที่เราคิดว่า ยากลุ่ม statin มีสรรพคุณในการรักษาโรคโคเลสเตอรอลสูง (ไขมันในเลือดสูง) เพียงอย่างเดียว ด้วยการเข้าไปยับยั้งให้ร่างกายลดการผลิตโคเลสเตอรอล ซึ่งส่งผลให้สามารถลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจด้วย
 
ต่อมามีการค้นพบว่า ยากลุ่ม statin ส่งผลดีต่อร่างกายโดยรวมด้วย เพราะมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมโดยรวมในร่างกายด้วยการช่วยลดภาวะอักเสบ ซึ่งแม้จะเป็นกระบวนการทางชีววิทยา แต่ก็สามารถพัฒนาไปในทางที่เลวร้ายจนอยู่เหนือการควบคุม และเป็นสาเหตุของความผิดปกติและความเจ็บป่วยทุกชนิด
 
อธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนได้ว่า ยากลุ่ม statin เป็นยาที่เข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตโคเลสเตอรอล จึงเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้อย่างแพร่หลายที่สุดตัวหนึ่ง โดยใช้กับคนไข้ผู้ไม่สามารถควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ด้วยการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ Lipitor และ Crestor 
 
ยากลุ่ม statin เป็นยาที่ผลิตได้ด้วยการสังเคราะห์ หรือสกัดจากอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์จากข้าวหมักเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มยีสต์รา (red yeast rice) และเห็ดนางรม (oyster mushroom)
 
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ยากลุ่ม statin ไม่เพียงลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เพราะเมื่อร่างกายมีตัววัดภาวะการอักเสบ (inflammation markers) ในระดับสูง นั่นหมายความว่า ร่างกายกำลังเผชิญกับสิ่งกระตุ้นที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น เชื้อโรค เซลล์ที่ถูกทำลาย หรือสิ่งกระตุ้น (สารระคาย) จึงเกิดภาวะอักเสบขึ้นในร่างกาย ซึ่งเป็นกระบวนการป้องกันตนเองตามธรรมชาติ เป็นการตอบสนองของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์ต่างๆ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บนั้น
 
ปัจจุบันนักวิจัยค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างภาวะการอักเสบเฉพาะอย่างกับโรคร้ายแรงที่ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยของร่างกาย เช่น อัลไซเมอร์ มะเร็ง ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เบาหวาน และการเร่งกระบวนการชราภาพ พูดง่ายๆ คือ การดำเนินของโรคเรื้อรังทุกชนิดล้วนสัมพันธ์กับภาวะการอักเสบเรื้อรังทั้งสิ้น
 
ปี 2008 มีการเปิดเผยเป็นครั้งแรกโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เกี่ยวกับผลการศึกษาที่บ่งชี้ถึงคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ในการช่วยลดภาวะอักเสบของ ยากลุ่ม statin โดยยืนยันว่าคนไข้ที่กินยากลุ่มนี้ สามารถลดความเสี่ยงจากอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดง ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเป็นครั้งแรกได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ชายสุขภาพแข็งแรงอายุมากกว่า 50 ปี และผู้หญิงสุขภาพแข็งแรงอายุมากกว่า 60 ปี โดยมีข้อแม้คือ พวกเขาต้องไม่เป็นโรคโคเลสเตอรอลสูง แต่มีตัววัดภาวะการอักเสบอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย และร่างกายกำลังตกอยู่ในอันตรายจากภาวะอักเสบที่แพร่กระจายไปทั่ว
 
ปัจจุบัน เราทราบกันดีว่า เหตุผลแท้จริงที่เป็นสาเหตุซ่อนเร้นเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจไม่ใช่ปัญหาโคเลสเตอรอลเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากภาวะการอักเสบเรื้อรังก็ได้ เรายังรู้ด้วยว่ายากลุ่ม statin อาจมีสรรพคุณมากกว่าการป้องกันโรคหัวใจ เพราะนับจากปี 2008 มีผลการศึกษาจำนวนมากที่ทำกับประชากรกลุ่มควบคุมขนาดใหญ่ระบุว่า ยากลุ่ม statin สามารถลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วย โรคอะไรก็ได้ ที่รวมทั้งโรคมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ (เช่น วารสาร New England Journal of Medicine ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 ระบุว่า คนไข้ 300,000 คนที่กินยากลุ่ม statin สามารถลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้) 
 
แต่จะสรุปว่ายากลุ่ม statin เหมาะกับทุกคนก็คงไม่ได้ นอกจากคำแนะนำว่า ถ้าคุณมีอายุมากกว่า 40 ปี คงไม่เสียหายอะไรถ้าจะปรึกษาแพทย์ และถามว่าคุณควรกินยากลุ่ม statin ไหม