วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ขันลงหินบ้านบุ หัตถกรรมที่กำลังเลือนหาย

ขันลงหินบ้านบุ หัตถกรรมที่กำลังเลือนหาย

เสียงตีโลหะดังแว่วออกมาเป็นจังหวะจากอาคารไม้หลังหนึ่งที่ฝังตัวอยู่ใน “ชุมชนบ้านบุ” ชุมชนเล็กๆ ริมคลองบางกอกน้อย ยิ่งเดินเข้าไปใกล้ เสียงที่เข้ามากระทบโสตประสาทยิ่งแจ่มชัดและหนักหน่วงมากขึ้น พร้อมกับไอร้อนระอุที่ลอยมากระทบกับผิวกาย

ภาพของคุณลุงคุณป้าที่อายุเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 ปี กำลังขะมักเขม้นกับชิ้นงานที่อยู่ตรงหน้า เพื่อรังสรรค์ “ขันลงหิน” งานหัตถกรรมที่งดงาม มีคุณค่า แต่นับวันจะหาผู้สานต่อได้ยากยิ่ง คือต้นกำเนิดของเสียงและความร้อนที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ

การทำขันลงหินหรือขันบุคืออาชีพเก่าแก่ที่ทำกันในครัวเรือนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คำว่า “บุ” คือการตีให้เข้ารูป ใช้กับงานโลหะ ซึ่งขันลงหินนี้นิยมนำมาใส่ข้าวสวยสำหรับใส่บาตรเพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม หรือใส่น้ำดื่มเพราะจะทำให้น้ำเย็นชื่นใจ จนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก จึงมีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ พร้อมพกพาองค์ความรู้ในวิชาช่างบุลงหินติดตัวมาด้วย จนกลายมาเป็น “ชุมชนบ้านบุ” อย่างในปัจจุบัน อีกหนึ่งชุมชนที่มีงานหัตถกรรมอันเป็นมรดกสืบทอดกันมาในชุมชนมายาวนานมากกว่า 200 ปี

ขันลงหินของชาวบ้านบุใช้กรรมวิธีผลิตแบบโราณ โดยใช้ทองสัมฤทธิ์ อันเป็นโลหะที่เกิดจากการหลอมทองแดง ดีบุก และเศษสัมฤทธิ์เข้าด้วยกันในเตาถ่านไม้ซากซึ่งให้ความร้อนสูง ก่อนที่จะเทโลหะผสมที่ได้ลงบน “ดินงัน” นำก้อนทองที่ได้มาเผาแล้วตีซ้ำจนได้รูปร่างเป็นภาชนะตามความต้องการ หรือที่เรียกว่าการบุนั่นเอง แต่งรูปทรงอีกครั้งบนไม้กลาง ย้ำเนื้อโลหะให้แน่นด้วยการ “ลาย” บนกะล่อน กลึงผิวด้านนอกซึ่งมีเขม่าจับจากการเผาบนแกน “ภมร” ตะไบขอบภาชนะ และต่อด้วยการขัดโดยการใช้หินในการขัดจนขึ้นเงา อันเป็นที่มาของคำว่า “ลงหิน” นั่นเอง

ขั้นตอนการทำขันลงหินของชาวบ้านบุนั้น แบ่งตามการทำงานของช่างได้เป็น 6 ขั้นตอน คือ 1. ช่างตี งานช่างที่รวมช่างหลอม ช่างแผ่ และช่างตีไว้ในขั้นตอนเดียวกัน ที่สำคัญต้องผสมโลหะให้ได้เนื้อทองที่เหนียวเหมาะกับงานบุ คนตีจะมี 1-2 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงาน เวลาตีช่างจะใช้คีมคีบแผ่นทองไว้ก่อนใช้ค้อนตีค่อยๆ รีดไล่กันไป จนกระทั่งทองเกือบจะเย็นโดยสังเกตจากผิวทองจะเป็นสีดำ ก็นำไปเผาไฟใหม่และตีแผ่ออกไปเรื่อยๆ จนได้ขนาดที่ต้องการ แล้วจึงขึ้นขอบแต่งรูปภาชนะอีกครั้งด้วยค้อนแต่ง นำภาชนะที่ได้เผาไฟจนสุกแดงแล้วนำไปจุ่มน้ำ เพื่อให้ทองเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้โลหะมีความแข็งและทนทานต่อการสึกกร่อน

2. ช่างลาย คอยเก็บรอยค้อนทำให้เนื้อภาชนะเรียบเสมอกัน โดยการทาดินหม้อที่ภาชนะเพื่อให้มีความลื่น ก่อนนำไปครอบลงบนกะล่อน (แท่งเหล็กหัวมนกลม ใช้เป็นตัวรองรับภาชนะ) ภายนอกใช้ค้อนหัวกลมค่อยๆ ตีเก็บรอยค้อนจนขึ้นเป็นลาย

3. ช่างกลึง เป็นขั้นตอนการกลึงผิวภาชนะให้เรียบเนียนเสมอกัน จนได้ภาชนะที่มีสีทองสุกผิวเรียบ 4. ช่างกรอ ตกแต่งขอบปากภาชนะให้กลมมน 5. ช่างเจีย ตกแต่งรอยตำหนิต่างๆ เพิ่มความประณีตให้กับชิ้นงาน และ 6.ช่างขัด ช่างโบราณใช้หินเนื้อละเอียดขัดภาชนะให้ขึ้นเงา แต่ปัจจุบันใช้เครื่องปั่นติดลูกทรายและลูกผ้าขัดเป็นขั้นตอนสุดท้าย จนได้ภาชนะที่งดงาม พื้นผิวเรียบเสมอกัน

ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ในการผลิตต้องอาศัยฝีมือจากช่างหลากหลายสาขามาประกอบเข้าด้วยกัน ผ่านความรู้ ความชำนาญ แม่นยำ และประณีตที่ได้สั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน

สำหรับขันลงหินของชาวบ้านบุนั้นมีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงาม มีผิวสีสุกใสเป็นเงางาม ไม่หมองง่าย มีผิวเย็น เมื่อใส่น้ำเย็นจะเย็นจัด และเมื่อลองเคาะดูจะมีเสียงดังกังวาน ทนทาน ดังนั้นนอกจากผลิตเป็นภาชนะต่างๆ แล้วยังนิยมทำเป็นเครื่องดนตรีอย่าง ฉิ่ง ฉาบ และฆ้องอีกด้วย

แต่เดิมชาวบ้านบุเป็นช่างทำขันลงหินกันเกือบทุกบ้าน เพราะมีผู้นิยมใช้ขันลงหินและเครื่องทองลงหินของชาวบ้านบุจำนวนมาก ส่งผลให้ช่างไม่สามารถผลิตได้ทันเพราะขั้นตอนการผลิตต้องอาศัยความประณีตสูง และทำด้วยมือทุกขั้นตอน จึงเกิดการผลิตที่ลอกเลียนแบบขึ้น โดยใช้ทองเหลืองมาหล่อปั๊มด้วยเครื่องจักรที่สามารถผลิตได้เร็ว จำนวนมาก และมีราคาถูกกว่ามาก อีกทั้งยังมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาตลาดอีกด้วย

ประกอบกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านบุได้อพยพหนีสงคราม และเมื่อย้ายกลับมาบางบ้านก็เปลี่ยนอาชีพ จากที่เคยทำขันบุลงหินก็หันไปทำอาชีพอื่น เพราะการผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้การผลิตขันบุลงหินของชาวบ้านบุจึงซบเซาลง

จากที่ทำขันลงหินกันเกือบทุกบ้าน ปัจจุบันชุมชนบ้านบุเหลือการทำขันลงหินอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ซึ่งยังคงไว้ซึ่งขั้นตอนการผลิตแบบโบราณที่สืบทอดกันมา และเป็นที่ต้องการของตลาด มีการพัฒนา ออกแบบ และผลิตภาชนะรูปแบบใหม่ๆ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในไทยและส่งออกไปต่างประเทศได้

แต่ช่างฝีมือรุ่นปัจจุบันนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นและต่างมีอายุเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 ปี และแทบจะเรียกได้ว่าเป็นช่างรุ่นสุดท้ายก็ว่าได้ เนื่องจากไม่มีช่างรุ่นใหม่มาสืบทอด เพราะงานบุถือเป็นงานหนัก ต้องทำงานภายใต้ความร้อน การฝึกช่างขึ้นมาสักคนต้องใช้ระยะเวลานานและอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก ทางโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา เคยทำโครงการเพื่อเผยแพร่วิชาช่างทำขันลงหินให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่ดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ คนรุ่นใหม่ที่มาเรียนมักไม่สามารถอดทนฝึกจนสำเร็จเป็นช่างได้

แต่ทางโรงงานยังยืนยันที่จะผลิตเครื่องทองลงหินต่อไปจนกว่าจะหมดช่าง และถ้าเป็นเช่นนี้ ความงดงาม ประณีตของเครื่องทองลงหิน และวิชาช่างที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณคงจะหมดไปในระยะเวลาอันสั้น เสียงตีบุโลหะอันเป็นสัญลักษณ์ก็คงจะเลือนหายไปจากชุมชนบ้านบุด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น