วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > New&Trend > ชี้ยางไทยยังมีอนาคตแต่ต้องเพิ่มการใช้งานในประเทศ แนะทางรอดปลูกพืชเศรษฐกิจ-ทำเกษตรผสมผสาน

ชี้ยางไทยยังมีอนาคตแต่ต้องเพิ่มการใช้งานในประเทศ แนะทางรอดปลูกพืชเศรษฐกิจ-ทำเกษตรผสมผสาน

นักวิจัยระบุยางพาราไทยยังมีอนาคตแต่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและควบคุมได้ พร้อมกระตุ้นการใช้งานในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 จากปัจจุบันใช้เพียงร้อยละ 14 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต เช่น ถุงมือยาง ล้อเครื่องบิน ถนน แนะทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

รศ. ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการ การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานยางพาราไทยกับมาลเซีย เพื่อแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดีและสนองต่อความต้องการของตลาดโลก ปี 2560 ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวระหว่างงานแถลงข่าว “วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย: อุปสรรคและทางรอด” ณ สภาหอการค้าไทย ว่ายางพาราไทยยังมีอนาคตแต่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและควบคุมได้ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวเกษตรกรเอง รวมถึงเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 หรือ 1.2 ล้านตันต่อปี

ในปี 2559 ผลผลิตยางไทยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและราคายางที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกษตรกรบางส่วนเลิกกรีดยางและเจ้าของสวนยางใหม่ชะลอการเปิดกรีด ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตยางพาราไทยกับอาเซียน พบว่าไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารา 20.6 ล้านไร่ กรีดยางได้ 19.2 ล้านไร่ ผลผลิต 4.5 ล้านตัน จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกยาง 1.4 ล้านครัวเรือน ในการจัดอันดับมูลค่าสินค้าส่งออกที่สำคัญปี 2560 พบว่าผลิตภัณฑ์ยางและยางพาราอยู่ในอันดับ 4 และอันดับ 10 ของประเทศ มีมูลค่าส่งออกสินค้า 346,885 ล้านบาท และ 204,838 ล้านบาทตามลำดับ โดยมีการใช้งานในประเทศเพียงร้อยละ 14 ส่งออกร้อยละ 86 ทั้งนี้ แหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก คือ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย

เมื่อเทียบศักยภาพห่วงโซ่การผลิตยางพาราไทยกับมาเลเซียพบว่า มีความแตกต่างกันทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในระดับต้นน้ำ ไทยขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรไทยมากกว่ามาเลเซีย ผลผลิตต่อไร่ไทยใกล้เคียงกับมาเลเซีย การพัฒนาพันธุ์ยางพาราไทยตามหลังมาเลเซีย และการดูแลเกษตรกรรายย่อยมาเลเซียแตกต่างจากไทย ในระดับกลางน้ำพบว่าน้ำยางข้นไทยผลิตมากและส่งออกอันดับหนึ่ง ไทยผลิตยางแผ่นรมควันลดลงแต่ยังคงผลิตมากกว่ามาเลเซีย ส่วนยางแท่งไทยนั้นมีมาตรฐานใกล้เคียงมาเลเซีย และในระดับปลายน้ำพบว่าไทยสามารถเป็นศูนย์กลางผลิตยางรถยนต์อาเซียนได้ และควรผลักดันอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยให้เข้มแข็งเหมือนมาเลเซีย ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ หมอนยางพารารายย่อยยังไม่ได้มาตรฐาน การทำถนนยางไทยมีองค์ความรู้แต่ไม่คืบหน้า หากเพิ่มความต้องการใช้ยางในการทำถนนลาดยางและถนนลูกรังขึ้นอีก 1.6 แสนตัน เกษตรกรจะมีเงินสะพัดถึง 1.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอื่นๆ เช่น การเป็นศูนย์กลางผลิตล้อเครื่องบิน แผ่นรองรางรถไฟความเร็วสูงและหมอนรางรถไฟ และศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

สำหรับโอกาสและทางรอดของอุตสาหกรรมยางพาราของไทย ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอีก 5 ปีข้างหน้า รศ. ดร.อัทธ์ระบุว่าควรพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ 14 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับโครงสร้างหน่วยงานยางพาราของประเทศให้ทำงานเป็นเอกภาพ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ในแต่ละด้านชัดเจน 2. เกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นเอกภาพ ตั้งเป็นกลุ่มตัวแทนของเกษตรกรยางพาราของประเทศ 1 สถาบัน แล้วมีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ เป็นคณะกรรมการเพื่อเสนอปัญหาของเกษตรกรยางพาราไปในทิศทางเดียวกัน 3. พัฒนา Big Data ยางพารา เพื่อให้มีฐานข้อมูลยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศทันสมัยที่สุด 4. จัดตั้งศูนย์เตือนภัยยางแห่งชาติ มีแบบจำลองทางด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจและธุรกิจที่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในตลาดโลกที่มีผลกระทบต่อยางพาราของไทย 5. การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยางพารา เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำยางและผลิตภัณฑ์ยางไปขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ 2 จุด คือ ท่าเรือสงขลาและท่าเรือแหลมฉบัง 6. ตั้งศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของโลก 7. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนามาตรฐานยางพาราในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

8. ตั้งกองทุนสนับสนุนเครดิตแก่กลุ่มสหกรณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อตลาดต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน 9. ส่งเสริมการผลิตยางแผ่นรมควันคุณภาพสูง 10. จัดตั้งศูนย์กลางการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ 11. ตั้งศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยแต่ละจังหวัด หรือ OROP 12. ตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ และห้องทดลองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละภูมิภาค 13. ตั้งผู้แทนการค้ายางพาราของไทย เพื่อช่วยเหลือทางด้านการตลาดในกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อนำสินค้าของเกษตรกรและสหกรณ์ไปแสดงและจำหน่าย 14. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการเพิ่มรายได้เกษตรกรยางพารา ให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการผสมผสานระหว่างยางพารากับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ขมิ้นชัน กล้วยหอมทอง ผักเหลียง มังคุดคัด ส้มโอทับทิมสยาม โดยลดพื้นที่ปลูกยางลงร้อยละ 30 รวมถึงปรับแก้กฎหมายเรื่องการซื้อขายไม้ ให้ไทยเป็นศูนย์การในการซื้อขายไม้เศรษฐกิจอย่างเสรี เป็นต้น

“ในปี 2562 สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เกิดการชะตัวของคำสั่งซื้อยางพารา ราคาน้ำมันก็จะถูกลง นอกจากนี้จีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปยังผลิตยางสังเคราะห์ให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงยางธรรมชาติมากที่สุด แก้ปัญหายางอ่อนและไม่ทนน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทย รวมถึงต้องระมัดระวังการบริหารจัดการสต๊อกยางเก่า หากปล่อยให้สต๊อกเพิ่มขึ้นจะยิ่งซ้ำเติมให้ราคายางตกต่ำลงอีก และการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศต้องมีอุตสาหกรรมรองรับที่ชัดเจน” รศ. ดร.อัทธ์กล่าวสรุป

ใส่ความเห็น