วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > การเดินทางของไม้โกงกาง เรื่องเล่าจากคนเอาถ่าน “เขายี่สาร”

การเดินทางของไม้โกงกาง เรื่องเล่าจากคนเอาถ่าน “เขายี่สาร”

MGR Feature 

แม้ว่าในยุคนี้หลายครัวเรือนจะเลิกใช้ถ่านในการหุงต้ม ประกอบอาหาร และเปลี่ยนมาใช้เตาแก๊ส ที่ให้ความสะดวกสบายและรวดเร็วกว่า กระนั้น “ถ่าน” ที่แม้จะเหลือบทบาทในครัวเรือนไม่มากนัก หากแต่ก็ยังมีคุณค่า และมีความสำคัญกับธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่าง

ถึงแม้ว่าก๊าซหุงต้มจะอำนวยความสะดวกมากเพียงใด แต่บางบ้านยังนิยมใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงสำหรับประกอบอาหาร เพราะอาหารที่ได้จากการใช้ถ่านเป็นเชื้อไฟนั้น ให้กลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์มากกว่า อาหารที่ปรุงบนเตาแก๊ส

แน่นอนว่าเรื่องราวความเป็นมาของถ่านไม้โกงกาง บ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน กระนั้น ทีมงาน MGR Feature ยังมองว่า “ถ่านไม้โกงกาง” ยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในหลายมิติ ทั้งเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่อุดมไปด้วยศิลปวิทยาการ ดังนั้นการตัดสินใจ ขึ้นรถ ลงเรือ ลุยป่าโกงกางจึงเกิดขึ้น

เราเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ช่วงสายๆ บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ เพียง 2 ชั่วโมงเศษ ก็มาถึง จ.สมุทรสงคราม จังหวัดที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศไทย คือประมาณ 416.7 ตารางกิโลเมตร และยังมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

กระนั้นก็ยังนับว่า สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก เพราะเป็นดินดอนปากแม่น้ำ มีชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทย และเหนืออื่นใด มีภูเขาเพียง 1 ลูก นั่นคือ “เขายี่สาร” พื้นที่ตั้งสำคัญของโรงถ่านไม้โกงกาง เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้

ทันทีที่เราย่างเท้าลงบริเวณหน้าบ้านของกำนันปริญญา ดรุณศรี เจ้าของบ้านที่ยังคงดำเนินธุรกิจโรงถ่านไม้โกงกางที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เสียงใบไม้กระทบกันจากสายลมที่พัดผ่านในช่วงเวลาเพล ทำให้พวกเราตื่นตัวขึ้น หลังจากบิดตัวคลายความเมื่อยขบ

สายลมเดียวกันนั้นได้นำพาเอากลิ่นน้ำส้มควันไม้ที่ลอยอวลอยู่ในอากาศ ทว่าเจือจางลงไปบ้างแล้วปะทะจมูก ช่วยให้เราสดชื่นขึ้นในนาทีแรก บรรยากาศรอบตัวชวนให้รู้สึกว่า “เขายี่สาร” เสมือนสถานที่ที่ห่างไกลเมืองหลวงเสียเต็มกำลัง

“มา มา เข้ามาก่อน” คำทักทายของน้าเล็ก หรือ อาจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ น้าสาวของกำนันปริญญา ดังขึ้นทันทีที่เราเดินชักแถวกันข้ามพ้นประตูบ้าน หลังจากทักทายไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอเป็นพิธีแล้ว น้าเล็กชี้ชวนให้เดินเข้าไปดูโรงถ่าน

เสียงเครื่องจักรกำลังตัดถ่านที่เผาเรียบร้อยแล้วดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ กระทั่งเราสืบเท้าเข้าไปใกล้ต้นตอและที่มาของเสียงมากขึ้น ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ คนงานต่างชาติหญิงกำลังควบคุมเครื่องจักรอยู่อย่างใกล้ชิด เธอรวบผมมวย นุ่งซิ่น สวมเสื้อแขนยาว กำลังเร่งมือวัดขนาดถ่านก่อนจะกดใบเลื่อยลง

ความมุ่งมั่นทำงานทำให้เราไม่เห็นรอยยิ้มของเธอ ขณะที่ดวงตาดำขลับมองมาที่พวกเราซึ่งเป็นคนแปลกหน้า แม้ว่าใบหน้าของเธอจะถูกเขม่าผงถ่านบดบังเสียเกือบมิด ถึงอย่างนั้นฉันยังรู้สึกได้ว่า ภายใต้ผงถ่านที่ฉาบอยู่นั้นต้องมีใบหน้าที่งดงามซุกซ่อนอยู่เป็นแน่

เราเดินตามน้าเล็กผ่านกองไม้โกงกางที่ปอกเปลือกแล้ว เรียงซ้อนสูงท่วมหัว เพื่อรอเวลานำเข้าเตา แสงแดดที่สาดส่องมากระทบกับผิวหน้าไม้ที่ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ ปรากฏความงามเสมือนมีนักวาดภาพบรรจงแต่งแต้มสีสันให้รู้สึกชวนมอง น้าเล็กนำทางเราไปยังพื้นที่ด้านหลังโรงถ่าน ซึ่งติดกับคลองขุดยี่สาร และเปิดฉากเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโรงถ่านแห่งนี้

“ที่นี่เป็นโรงถ่านแห่งแรกของเขายี่สาร เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 การทำถ่านของที่นี่ บรรพบุรุษรับถ่ายทอดวิทยาการมาจากทางภาคใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง” น้าเล็กบรรยาย โดยฉากหลังเป็นคลองขนาดใหญ่ มีเสียงเรืออีป๊าบของชาวบ้านที่ยังใช้สัญจรดังเป็นครั้งคราว และเสียงเลื่อยที่กำลังตัดถ่านดังใกล้ๆ ประดุจดนตรีประกอบชั้นดี

น้าเล็กอธิบายขั้นตอนอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า “เริ่มจากการตัดไม้ ถ่ายไม้สู่โรงถ่าน ปอกเปลือกไม้ และนำไม้เข้าสู่กระบวนการเผาหรืออบ เป็นเวลา 15 วัน หลังจากถ่านสุก รอถ่านเย็นอีก15 วัน จึงขนถ่านออกจากเตา ขั้นตอนสุดท้ายคือตัดถ่านเป็นท่อนๆ เพื่อบรรจุและส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์”

แม้จุดเริ่มต้นการทำถ่านของชาวบ้านเขายี่สาร จะได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวบ้านจังหวัดตรัง แต่ปัจจุบันอาชีพเผาถ่านของคนตรังหลงเหลือเพียงเรื่องเล่าที่ถูกรวบรวมเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์เตาถ่านเท่านั้น เหตุเพราะการตัดไม้โกงกางเพื่อนำมาเผาถ่านในยุคนั้นยังไม่มีการปลูกทดแทน แบบหมุนเวียน จึงทำให้ระบบนิเวศเสียหาย รัฐบาลยุคนั้นจึงยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนในปี 2539

เรื่องราวในอดีตของอาชีพเผาถ่านของคนจังหวัดตรัง คงไม่มีทางเกิดซ้ำรอยบนพื้นที่เขายี่สารและชาวบ้านที่ยึดการเผาถ่านเป็นอาชีพ ซึ่งน้าเล็กอธิบายว่า “ไม้โกงกางของเราปลูกบนพื้นที่ป่าชายเลนที่มีโฉนดที่ดิน และกว่าเราจะตัดไม้โกงกางมาเผาถ่าน ต้องรอให้ไม้มีขนาดพอเหมาะ แปลงไหนที่ไม้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ถึงจะตัดได้ จากนั้นเราจะปลูกทดแทนในแปลงเดิม วนเวียนไปแบบนี้ ฉะนั้นป่าโกงกางจะยังมีอยู่ตลอด”

ขณะที่ฉันปล่อยให้จินตนาการทำงาน นึกภาพตามคำบอกเล่าของน้าเล็กถึงลักษณะของป่าโกงกาง ขั้นตอนการตัดไม้ รวมไปถึงการปลูกโกงกางทดแทน น้าเล็กเดินไปหยิบฝักโกงกางมาให้พวกเราดู พร้อมอธิบายเพื่อสร้างความกระจ่าง หลังจากที่เราสงสัยว่าเจ้าต้นโกงกางนี่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีไหน

“นี่ฝักโกงกาง” น้าเล็กยื่นฝักโกงกางซึ่งเป็นแท่งยาวประมาณ 1 ฟุต สีเขียวผิวขรุขระเล็กน้อย “แต่ฝักนี้ไม่ได้คุณภาพหรอก เลยคัดทิ้ง เราปลูกโกงกางทดแทน โดยใช้จำนวนฝัก 4 พันฝักต่อพื้นที่ 1 ไร่ ลองจินตนาการดู ถ้า 4 พันฝักนี่โตขึ้นทั้งหมด แล้วต้นโกงกาง 1 ต้น ตัดเป็นไม้สำหรับเผาถ่านได้ 6 ท่อน จะได้ไม้โกงกางกี่ท่อน”

พื้นที่ป่าโกงกาง หรือป่าปลูกของโรงเผาถ่านกำนันปริญญามีจำนวนกว่า 1 พันไร่ ซึ่งทำให้มีไม้โกงกางเผาถ่านได้ตลอดทั้งปี

แม้ว่าปัจจุบันก๊าซหุงต้มจะเข้ามาทดแทนถ่านไม้ กระนั้นถ่านไม้ที่เผาไหม้แล้วหมดไป ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ตลาดในไทยมีสัดส่วนความต้องการน้อยลง ซึ่งโรงเผาถ่านของกำนันปริญญาเน้นการส่งออกไปยังต่างประเทศถึง 95% ตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ตะวันออกกลาง รัสเซีย

การเผาถ่านของคนยี่สารนับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ โดยเฉพาะเทคนิคการเผาถ่าน น้าเล็กบอกว่า “พอเรานำไม้เข้าเตาเผาแล้ว ใช้เวลาเผาหรืออบนาน ประมาณ 15 วัน การจะดูว่าถ่านถูกเผาได้ที่หรือยังนั้นต้องอาศัยการสังเกตจากควันไฟที่ลอยออกมา ถ้าควันไฟใสขึ้น แสดงว่าถ่านนั้นใกล้จะสุกดีแล้ว หลังจากนั้นต้องรอให้ถ่านเย็นตัวลงอีกประมาณ 15 วัน”

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะทำให้ใช้เวลาในการเผาถ่านไม่เท่ากันในแต่ละรอบ ทั้งไม้สด ไม้แห้ง หรือแม้แต่คนงานที่คอยใส่ไฟ ต้องหมั่นตรวจเช็กให้ไฟยังมีความร้อนสม่ำเสมอ

ขณะที่คนงานกำลังเดินเข้าไปตรวจดูไฟภายในโรงเผาถ่าน ที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ แต่ทว่าแข็งแรง ผนังประกอบขึ้นจากกระเบื้องเมทัลชีท และตับจาก หลังคามุงจากติดลูกหมุนระบายความร้อนหลายลูก ภายในโรงเผาถ่านมีเตาเผารูปโดมทั้งหมด 9 เตา

แสงแดดที่ทอดตัวเป็นลำจากช่องหลังคา กระทบกับควันไฟที่ลอยคละคลุ้งอยู่ในภายใน ทำให้ภาพที่เห็นตรงหน้าสวยแปลกตาสำหรับเราไม่น้อย ทว่าด้วยความไม่คุ้นชินกับความร้อนระอุที่ปะทุอยู่ภายในเตา ประกอบกับควันไฟที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่นั้น ทั้งร้อน ฉุน และแสบตา ทำให้เราไม่สามารถยืนระยะอยู่ภายในโรงเผาถ่านได้นาน เฉกเช่นคนงานที่มากไปด้วยประสบการณ์ทำได้

“เราเผาหรืออบด้วยความร้อนสูงถึงประมาณ 600-800 องศาเซลเซียส การเผาถ่านจะได้น้ำส้มควันไม้ด้วย เกษตรกรมักจะใช้เป็นสารกำจัดแมลง ป้องกันศัตรูพืช” น้าเล็กขยายความ

การเดินทางของไม้โกงกางยังไม่จบ ติดตามอ่านตอนจบได้ในสัปดาห์หน้า

คนงานกำลังเทน้ำส้มควันไม้ ผลพลอยได้จากการเผาถ่าน

 

คนงานกำลังจัดเรียงไม้โกงกาง เพื่อรอเวลาที่จะนำไม้เข้าเตาเผา

 

ใส่ความเห็น