วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > On Globalization > ความสูญเสียของผู้หญิงที่ต้องแลกมากับความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ความสูญเสียของผู้หญิงที่ต้องแลกมากับความสำเร็จในหน้าที่การงาน

Column: Women in Wonderland

ในปัจจุบันผู้หญิงส่วนใหญ่จะออกไปทำงานนอกบ้าน และแน่นอนว่าพวกเธอส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี ได้รับเงินเดือนที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหน้าที่เราเห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้มีความสุข ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้น จริงๆ แล้วพวกเธอจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกกับความสำเร็จในหน้าที่การทำงานที่ได้มา

ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องเงินเดือน ทั้งๆ ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานเหมือนกัน หรือการทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ให้หัวหน้างานยอมรับในความสามารถ และการได้ความไว้วางใจและเชื่อใจจากผู้ที่เป็นลูกน้อง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงมีความกดดันในที่ทำงานสูง รวมถึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นการประสบความสำเร็จในที่ทำงานจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง

ผู้หญิงที่ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้น มักจะต้องเผชิญกับความเศร้า ความเจ็บปวด และการถูกทอดทิ้งจากคนใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นความสูญเสียหรือความเศร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จะต้องแลกมา

เมื่อไม่นานมานี้ที่ประเทศสวีเดนได้ทำการวิจัยเรื่องความแตกต่างทางเพศ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างอาจารย์ Olle Folke จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Uppsala กับอาจารย์ Johanna Rickne จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Stockholm โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้พบว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิง เมื่อได้รับเลือกเข้าไปทำงานในรัฐสภา หลังจากนั้นพวกเธอจะต้องเผชิญกับการหย่าร้าง และนักการเมืองหญิงส่วนใหญ่ก็จะพบเจอสถานการณ์นี้แทบจะทุกคน ซึ่งงานวิจัยได้ทำการศึกษาเฉพาะคู่แต่งงานระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้ชายก็พบว่า นักการเมืองชายที่ได้รับเลือกเข้าไปทำงานในรัฐสภากลับไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การหย่าร้าง

ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้อธิบายเพิ่มว่า นักการเมืองหญิงแทบทุกคนจะต้องเจอกับสถานการณ์หย่าร้าง โดยเฉพาะนักการเมืองหญิงที่ได้รับเลือกให้เข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง อย่างเช่นตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ยิ่งมีอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นกว่าปกติอีก นักการเมืองหญิงที่ชนะการเลือกตั้งกับการหย่าร้างนั้นแทบจะยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิงแทบจะทุกคน ไม่ว่านักการเมืองหญิงคนนั้นจะเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งหรืออาจจะได้รับการเลือกเข้าไปทำงานแบบไม่มีใครคาดคิดก็ตาม นักการเมืองหญิงทั้งสองกลุ่มข้างต้นก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์การหย่าร้างเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ปัญหาเรื่องความรุนแรงทางการเมือง เช่น การเสียดสี การล้อกันทางการเมือง การต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างการหาเสียง และการไม่มีความเป็นส่วนตัว เป็นต้น จึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้สามีของพวกเธอตัดสินใจที่จะหย่าร้างเมื่อพวกเธอชนะการเลือกตั้ง

ในประเทศสวีเดนไม่ใช่เพียงแค่นักการเมืองหญิงที่ชนะการเลือกตั้งเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การหย่าร้าง ผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงก็เช่นกันที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์หย่าร้าง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นจะพบว่า ผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมีอัตราการหย่าร้างสูงกว่าผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งอื่นๆ

อีกหนึ่งการศึกษาที่เหมือนกับการศึกษาที่สวีเดน คืองานวิจัยเรื่องสถานะทางสังคมของนักแสดงในวงการฮอลลีวูดที่ได้รับรางวัลออสการ์ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย John Hopkins กับมหาวิทยาลัย Toronto จากการศึกษาพบว่า นักแสดงหญิงที่ได้รับรางวัลออสการ์มักจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การหย่าร้างหลังจากนั้น ในขณะที่นักแสดงชายที่ได้รับรางวัลออสการ์ยังคงมีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่

จริงอยู่ที่การหย่าร้างอาจจะเป็นทางออกที่ดีสุด ดีกว่าที่จะต้องทนอยู่กับความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุข และต้องอดทนอยู่ในสถานการณ์แย่ๆ แบบนั้น แต่การหย่าร้างก็เป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นของผู้หญิง เพราะไม่มีผู้หญิงคนไหนที่อยากให้ครอบครัวล้มเหลวและจบลงด้วยการหย่าร้าง ดังนั้น การหย่าร้างจึงถือว่าเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นและต้องแลกมาหากว่าผู้หญิงคนนั้นประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานต้องเผชิญกับสถานการณ์การหย่าร้างคือ ผู้ชายมักจะมีปฎิกิริยาและปฎิบัติต่อผู้หญิงเปลี่ยนไปในทางลบ เมื่อผู้หญิงสามารถทำงานและหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้มากกว่าผู้ชาย

Marianne Bertrand และ Emir Kamenica อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Chicago และ Jessica Pan อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย The National University of Singapore ได้ทำการวิจัยร่วมกันในการศึกษาเรื่องเงินเดือนและรายรับของครอบครัวระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

จากการศึกษาเรื่องรายได้พบว่า โดยทั่วไปแล้วผู้ชายควรจะมีรายได้สูงกว่าผู้หญิง เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่างในสังคมที่เอื้ออำนวยให้ผู้ชายมีรายได้มากกว่า แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้ชายมีรายได้สูงกว่าผู้หญิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่มีรายได้สูงกว่าผู้ชาย เพียงแต่ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ออกมาพูดเพื่อให้ผู้ชายส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดี ทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าผู้ชายยังคงมีรายได้สูงกว่าและเป็นคนหารายได้หลักในการจุนเจือครอบครัว

ดังนั้น เมื่อผู้หญิงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ว่าจะทำอาชีพใด นั่นหมายความว่า เงินเดือนของพวกเธอจะสูงขึ้น และหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปในครอบครัว เพราะผู้ชายจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่เป็นคนหารายได้หลักมาจุนเจือครอบครัว และเมื่อพวกเขาไม่ใช่คนหารายได้หลัก ก็ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่หัวหน้าครอบครัวอีกต่อไป ทำให้พวกเขาปฏิบัติต่อภรรยาของตัวเองเปลี่ยนไป และสุดท้ายก็จบลงที่การหย่าร้าง

การที่ผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงเปลี่ยนไปเมื่อพวกเธอมีรายได้ที่สูงกว่า ทำให้ผู้หญิงหลายคนพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการทำงานบ้านให้มากขึ้น ใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น และให้ผู้ชายมีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในบ้าน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เพราะสุดท้ายก็มักจะจบลงด้วยการหย่าร้างอยู่ดี

สถานการณ์ที่แย่ไปพร้อมกันกับการหย่าร้าง คือเมื่อผู้ชายพบเจอกับปัญหาเหล่านี้จากที่บ้าน ทำให้เมื่อไปทำงานจะเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และไม่สนับสนุนความเจริญก้าวหน้าในการทำงานให้กับลูกน้องที่เป็นผู้หญิง เพราะผู้ชายเหล่านี้ไม่ต้องการให้ผู้หญิงมาทำงานเทียบเท่ากับตัวเอง นี่จึงนำไปสู่ปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานในเวลาต่อมา

การศึกษาล่าสุดของอาจารย์จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ Amanda Pallais จากมหาวิทยาลัย Harvard อาจารย์ Thomas Fujiwara จากมหาวิทยาลัย Princeton และอาจารย์ Leonardo Bursztyn จากมหาวิทยาลัย Chicago พบว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้หญิงที่ทำงานเก่ง ฉลาด และต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน ในขณะที่ผู้หญิงกลับต้องการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ชายที่เก่ง และมีความก้าวหน้าในการทำงาน

เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนจากคำตอบของนักศึกษาหญิงที่กำลังจะจบการศึกษาในระดับปริญญาโท เมื่ออาจารย์ทั้ง 3 ท่านถามนักศึกษาหญิงที่เรียนบริหารธุรกิจว่า ถ้าเลือกได้พวกเธออยากทำงานอะไรในอนาคต โดยให้พวกเธอตอบครั้งแรกในห้องที่มีนักศึกษาทุกคนนั่งฟังอยู่ และให้ตอบอีกครั้งเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์ ปรากฏว่านักศึกษาที่มีแฟนหรือแต่งงานแล้วจะตอบคำตอบเดียวกันทั้ง 2 ครั้ง แต่นักศึกษาที่ยังโสดอยู่จะให้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน โดยคำตอบที่ตอบในห้องที่มีนักศึกษาชายนั่งฟังอยู่ นักศึกษาหญิงจะตอบอาชีพที่ทำงานไม่หนัก มีเวลาให้ครอบครัว และมีรายได้ไม่มากในแต่ละเดือน ในขณะที่คำตอบของพวกเธอจะแตกต่างกันเมื่อตอบเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์

จากการตอบคำถามของนักศึกษาหญิงจะเห็นได้ชัดเจนว่า พวกเราทุกคนยังคงยึดติดอยู่กับความคิดที่ว่า ผู้ชายจะต้องเป็นคนหารายได้หลักมาดูแลครอบครัว และเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อไหร่ก็ตามที่ครอบครัวไหนไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อเหล่านี้ ผู้หญิงมักจะต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว และสุดท้ายอาจจะจบลงที่การหย่าร้าง นี่จึงทำให้ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่ต้องสูญเสียครอบครัวที่เป็นกำลังใจสำคัญไป เพียงเพราะพวกเธอสามารถหารายได้ได้สูงกว่าคนที่เป็นสามี

การหย่าร้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ต้องยุติความสัมพันธ์ แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าหากสามารถยอมรับตัวตนของกันและกันได้ และไม่ยึดติดความคิดที่ว่าผู้ชายจะต้องเป็นเสาหลักของครอบครัวและมีรายได้มากกว่า เหมือนกับอีกหลายๆ คู่ ที่ผู้หญิงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และสามีของพวกเธอก็เข้าใจ ซึ่งทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ต้องพบเจอกับการหย่าร้าง เมื่อพวกเธอประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/business-woman-1240300

ใส่ความเห็น