วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “เซ็นทรัลออนไลน์” แตกเพื่อโต ปรับทัพชิงเม็ดเงินแสนล้าน

“เซ็นทรัลออนไลน์” แตกเพื่อโต ปรับทัพชิงเม็ดเงินแสนล้าน

กลุ่มเซ็นทรัลต้องปรับทัพธุรกิจออนไลน์อีกครั้ง หลังจากยักษ์ใหญ่ต่างชาติแห่เข้ามาบุกตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าเม็ดเงินมากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น “อีเลฟเว่นสตรีท” จากเกาหลี อาลีบาบา ยักษ์ออนไลน์แดนมังกร หรือ “ลาซาด้า” ซึ่งประกาศตัวเป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์ค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา Priceza.com รายงานยอดผู้เข้าใช้งาน Shopping Search Engine ในไทย พบว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 มีผู้สนใจเข้ามาค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาผ่าน Priceza.com เพิ่มขึ้นถึง 145% เทียบกับปี 2559 หรือมีผู้เข้ามาใช้งานค้นหาสินค้าเพื่อเปรียบเทียบราคาถึงเดือนละกว่า 9 ล้านราย

ที่สำคัญ ยอดการค้นหากว่า 9 ล้านครั้งต่อเดือนพบว่า ร้านค้าออนไลน์ที่มีการค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ Lazada.co.th, 11STREET.co.th, thainitashop.com, Cmart.co.th และ Central.co.th ซึ่งหากกลุ่มอาลีบาบาของแจ๊คหม่าเปิดศึกงัดกลยุทธ์บุกตลาดไทยอย่างเต็มที่ ด้านหนึ่งเม็ดเงินในสมรภูมิออนไลน์จะเติบโตมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่า ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกและพยายามจัดทัพออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นอีกหนึ่งอนาคตใหม่ของเครือ ซึ่งในทางกลับกัน หากไม่ปรับตัวไล่ให้ทันกระแส นั่นย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาสและรายได้จำนวนมหาศาล ซึ่งที่สุดอาจตกอยู่ในกลุ่มทุนต่างชาติทั้งหมด

แหล่งข่าวจากบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ในเร็วๆ นี้ ซีโอแอลจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ เพื่อแยกบริษัท เซ็นทรัลออนไลน์กรุ๊ป ออกจากซีโอแอล เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งความจริงแล้ว บริษัทเซ็นทรัลออนไลน์กรุ๊ป แยกการบริหารงานและอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด นานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ชื่อบริษัทยังอยู่ภายใต้ซีโอแอลตามโครงสร้างการถือหุ้นเท่านั้น การแยกบริษัทจึงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนการถือหุ้น ไม่ใช่การยุติธุรกิจออนไลน์อย่างที่เป็นข่าว

ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ว่า ซีโอแอลอาจเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ส่วนบริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ปออนไลน์ จะขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ เนื่องจากต้องต่อสู้ในสงครามออนไลน์ที่มีมูลค่าหลักล้านล้านบาท สามารถสร้างรายได้แสนล้าน และเจอคู่แข่งระดับยักษ์ใหญ่อย่างลาซาด้า หากจะอยู่ภายใต้บริษัทซีโอแอลที่มีทุนจดทะเบียนแค่ 300 กว่าล้านบาท ไม่เพียงพอแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การปรับทัพครั้งนี้ถือเป็นต่อยอดและพลิกเกมของทศ จิราธิวัฒน์ จากเดิมที่กลุ่มเซ็นทรัลนำบริษัท บีทูเอส และบริษัท ออฟฟิซ คลับ (ไทย) ควบรวมกิจการกับบริษัท ออฟฟิศเมท คลับ (ไทย) เมื่อปี 2555 เพื่อดึงความเชี่ยวชาญของออฟฟิศเมทเข้ามาเพิ่มช่องทางและขยายฐานลูกค้า เตรียมธุรกิจพร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผลักดันสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์อย่างเต็มตัว โดยมีวรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมทเป็นผู้พัฒนาระบบต่างๆ

25 มีนาคม 2558 เซ็นทรัลออนไลน์กรุ๊ป เปิดตัวเว็บไซต์โฉมใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับพันธมิตรรายใหญ่ที่ร่วมนำเสนอสินค้าผ่านออนไลน์ จำนวนมากกว่า 100,000 รายการ

ต่อมา บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) ขอมติผู้ถือหุ้นอนุมัติเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท เซ็นทรัล ออนไลน์ กรุ๊ป (COL) เพื่อให้ตรงกับธุรกิจมากยิ่งขึ้น แบรนด์เป็นที่รู้จักและกลุ่มเป้าหมายต่างชาติเข้าใจง่ายขึ้น จนกระทั่งเปลี่ยนชื่ออีกรอบเป็น บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)

ปี 2559 กลุ่มเซ็นทรัลบรรลุดีลซื้อกิจการ “ZALORA” บริษัทชอปปิ้งออนไลน์ ผู้นำด้านการค้าปลีกสินค้าแฟชั่นและความงาม ซึ่งมีจุดแข็งด้านการเป็นศูนย์รวมแฟชั่นแบรนด์ไทย แบรนด์ดังระดับโลกที่อัพเดทเทรนด์ตลอดเวลา สินค้าและไอเทมหลากหลายกว่า 80,000 รายการ ทำให้เซ็นทรัลออนไลน์มีขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้นอีก

“การแตกบริษัทระหว่างซีโอแอลกับเซ็นทรัลออนไลน์จึงเปรียบเสมือนการแตกเพื่อโต เพราะตลาดออนไลน์มีขนาดใหญ่และธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลมีขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน มีรายได้หลัก 2 แสนล้านบาท และล่าสุดเซ็นทรัลออนไลน์สามารถทำยอดขายหลายพันล้านบาทแล้ว ทำให้ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจอีกครั้ง ในอนาคตซีโอแอลอาจกลับมาใช้ชื่อบริษัทออฟฟิศเมท ส่วนเซ็นทรัลออนไลน์ใช้ชื่อบริษัท เซ็นทรัลออนไลน์กรุ๊ป เพื่อความชัดเจน” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกัน ในปี 2560 ทศประกาศนโยบายอย่างชัดเจนภายใต้ Vision “Digital Centrality” ผนวกธุรกิจออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยวางงบลงทุนด้านการพัฒนาและวางระบบด้านออนไลน์ เทคโนโลยี รวมถึงเรื่องโลจิสติกส์ ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท และ ปี 2561 จะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างศักยภาพรองรับรุกตลาดออนไลน์ และการขยายตัวต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเออีซีอย่างเต็มที่ แม้สัดส่วนยอดขายที่มาจากออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% จากยอดขายรวม แต่ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ทศระบุว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจออฟไลน์ขยายสาขามานานกว่า 70 ปีแล้ว ขณะที่ด้านออนไลน์เพิ่งเริ่มต้น ธุรกิจออฟไลน์กับออนไลน์เชื่อมต่อกันอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ ในอดีตเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านค้าปลีก แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงหมดแล้ว ทุกอย่างต้องเปลี่ยนเพราะเทคโนโลยี โดยคาดการณ์ว่า ใน 10 ปีข้างหน้า การเติบโตส่วนใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยจะมาจากช่องทางออนไลน์เหมือนหลายๆ ประเทศ เช่น จีน มีสัดส่วนยอดขายทางออนไลน์คิดเป็น 14% ของยอดขายรวมทั้งหมด ญี่ปุ่น 7% และสหรัฐอเมริกา 9%

นั่นทำให้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลต้องยกเครื่องทีมงานและกลยุทธ์การตลาดครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการผลักดันให้ www.central.co.th แปลงสภาพไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอีก 1 สาขา รองรับกลุ่มนักชอปดิจิตอล ซึ่งสามารถคลิกจับจ่ายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ โดยปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายประมาณ 1 แสนรายการ และตั้งเป้าอีก 5 ปี เพิ่มเป็น 5 แสนรายการ หรือคิดเป็น 3 ล้านทรานแซคชั่น

“สงครามค้าปลีกออฟไลน์กำลังก้าวเข้าสู่สมรภูมิออนไลน์ในยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งเซ็นทรัลไม่ยอมเสียโอกาสกวาดรายได้แสนล้านแน่”

ใส่ความเห็น